บันทึกกฤษฎีกา เรื่อง การขยายบริการสาธารณสุขไปยังผู้ประกันสังคม ตามม.10
ความเห็นฉบับเต็ม
เรื่องเสร็จที่ ๒๒๔/๒๕๕๕
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง การขยายบริการสาธารณสุขไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕¥
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ สปสช. ๐๓/๗๕๙ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ด้วยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการประกันสังคม
ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ได้ประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมทำข้อตกลงขยายบริการสาธารณสุข
ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕
ในการประชุมร่วมของคณะกรรมการทั้งสองคณะ มีประเด็นหารือข้อกฎหมาย
อันเนื่องมาจากมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ บัญญัติว่า �เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานประกันสังคมส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามจำนวนที่คณะกรรมการ (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน� คณะกรรมการทั้งสองคณะจึงมีมติให้ขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อยุติ
ด้านกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนก่อน แล้วจึงพิจารณาทำข้อตกลงในรายละเอียดกันต่อไป โดยมีประเด็นหารือ ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง หากต้องขยายบริการสาธารณสุขไปยังผู้ประกันตนตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ เงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข
ที่ต้องส่งให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินสมทบจากผู้ประกันตน
รวมอยู่ด้วย (คือ มีที่มาจาก ๓ ฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล) จะเป็นการขัดหรือแย้งกับมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ในเรื่องความเสมอภาค ซึ่งกำหนดว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันหรือไม่ อย่างไร
ฝ่ายหนึ่ง มีความเห็นว่า เนื่องจากผู้ประกันตนเป็นประชาชนชาวไทยมีฐานะเป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขตามมาตรา ๕ แห่งกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยเช่นกัน แต่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสองทาง คือจ่ายภาษี ซึ่งเงินภาษีส่วนหนึ่งนำมาใช้จ่าย
เพื่อดูแลประชาชนทั่วไปที่ใช้สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยังต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอีก หากต้องส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีสิทธิรับบริการสาธารณสุขเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ในขณะที่บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ประกันตน กลับได้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
แต่อย่างใด
อีกฝ่ายหนึ่ง มีความเห็นว่า โดยหลักการทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขตามมาตรา ๕ แต่มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า �ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของ
ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
การขยายบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน� ดังนั้น ผู้ประกันตนจึงมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขภายใต้บทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และในกรณีจะมีการขยายบริการสาธารณสุขไปยังผู้ประกันตน คณะกรรมการของทั้งสองกองทุนต้องตกลงกันและเสนอให้รัฐบาล
ออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า �เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานประกันสังคมส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุน (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ตามจำนวนที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน� จึงเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ มิได้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เสมอภาค เพราะเดิมการให้บริการตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็กำหนดให้ผู้รับบริการต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตรา ๓๐ บาทต่อครั้งบริการ เพียงแต่
ในปัจจุบันได้ปรับอัตราเป็นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่านั้น
ประเด็นที่สอง ในการดำเนินงานตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ หากมีการตกลงว่า สำนักงานประกันสังคมจะส่งเงินจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยการจ่ายเงินล่วงหน้าตามข้อเสนอ
ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประมาณ ๒.๓ หมื่นล้านบาท (คิดจาก ๒,๕๐๐ บาทต่อรายหัวผู้ประกันตนจำนวน ๙.๔ ล้านคน) และคงอัตราดังกล่าวเป็นระยะเวลา ๓ ปี โดย (๑) มิได้มีการแจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายในแต่ละรายการ เช่น ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย
(๒) เป็นการจ่ายเงินที่มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม (ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการออกระเบียบการจ่ายเงิน
เพื่อการเจ็บป่วย โดยจ่ายล่วงหน้าประมาณร้อยละ ๗๕ และส่วนที่เหลือร้อยละ ๒๕ เป็นการจ่ายกระทบยอดและจ่ายรายเดือน) จะเป็นการปฏิบัติที่ขัดกับกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ หรือไม่
ประเด็นที่สาม หากประเด็นที่สอง สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดกับกฎหมาย
ว่าด้วยประกันสังคม และสำนักงานประกันสังคมต้องส่งเงินกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคมต้องส่งเงินส่วนใดให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะเงินกองทุนประกันสังคมมีที่มาจาก ๓ ฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล จะส่ง
เฉพาะเงินกองทุนประกันสังคมส่วนที่รัฐบาลจ่ายสมทบมาแล้ว ได้หรือไม่
ประเด็นที่สี่ คณะกรรมการทั้งสองคณะจะตกลงกัน และเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เสนอขอรับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นเงิน
เหมาจ่ายรายหัวเช่นเดียวกับการขอรับงบประมาณเป็นเงินเหมาจ่ายรายหัวสำหรับบุคคลทั่วไป
เพื่อให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ประกันตน แทนการส่งเงินจากกองทุนประกันสังคมเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้หรือไม่
ประเด็นที่ห้า เมื่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และได้ตกลงกับคณะกรรมการประกันสังคมเรียบร้อยแล้วตามแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือข้างต้น การร่างพระราชกฤษฎีกาที่เสนอต่อรัฐบาลตามมาตรา ๑๐ จะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของเงิน จำนวนเงิน วิธีการ เงื่อนไขในการส่งเงิน ไว้ในร่างพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ ประการใด
ประเด็นที่หก กรณีแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนจะปฏิบัติอย่างไร หากมีการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๑๐ แห่งกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว จะครอบคลุมกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานด้วยหรือไม่ และหากครอบคลุมบริการสาธารณสุขไปถึงแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนด้วย จะขัดต่อหลักการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) พิจารณาข้อหารือของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีผู้แทนกระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) และผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นตามประเด็นข้อหารือ ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กรณีต้องขยายบริการสาธารณสุขไปยังผู้ประกันตนตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ เงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข
ซึ่งต้องส่งให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินสมทบจากผู้ประกันตนรวมอยู่ด้วย ทำให้ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสองทาง คือจ่ายภาษี ซึ่งส่วนหนึ่งนำมาใช้จ่ายเพื่อดูแลประชาชนทั่วไป
ที่ใช้สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในขณะที่บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนได้รับบริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
จะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งขัดหรือแย้งกับมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด ๔ หน้าที่ของ
ชนชาวไทย มาตรา ๗๓[๑] บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ และรัฐได้นำเงินภาษีไปใช้ในการบริหารประเทศ รวมทั้งให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไป กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ได้รับเงินส่วนหนึ่งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเงินที่ได้รับจากการดำเนินการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรา ๓๙ (๑) และ (๓) [๒] แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ การจัดบริการสาธารณสุขเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้แก่บุคคลทั่วไป บุคคลทุกคนต้องได้รับสิทธินั้นโดยเท่าเทียมกันตามมาตรา ๓๐[๓] และมาตรา ๕๑[๔] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ส่วนการจะดำเนินการเพื่อให้ได้รับสิทธิเช่นว่านั้นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐ และมาตรการที่รัฐกำหนดขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มิได้เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมใช่ว่าจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขหรือไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคม
ตามมาตรา ๕๔[๕] แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ กับการได้รับบริการสาธารณสุข
ตามมาตรา ๓[๖] แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ แล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมครอบคลุมกว้างกว่า
เพราะกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สิทธิผู้ประกันตนได้รับประโยชน์เฉพาะบริการสาธารณสุขเท่านั้น การบริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เป็นมาตรการส่วนหนึ่งที่ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการสาธารณสุขเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป กฎหมาย
ทั้งสองฉบับจึงสอดคล้องต้องกัน ดังนั้น การที่มาตรา ๑๐[๗] แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ บัญญัติให้ขยายการบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม เป็นมาตรการที่รัฐกำหนดตามกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขได้เช่นเดียวกับบุคคลตามมาตรา ๕[๘] แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ การส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ประกันตนตามมาตรการดังกล่าวได้โดยเท่าเทียมกัน
ฉะนั้น การขยายบริการสาธารณสุขไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
โดยส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกันตามมาตรา ๑๐[๙] แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕
จึงไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา ๓๐[๑๐] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อหารือในประเด็นที่หนึ่งนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย ดังนั้น การให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐)
ในกรณีนี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่การวินิจฉัย
ชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่สอง กรณีที่มีการตกลงกันให้สำนักงานประกันสังคมส่งเงินค่าใช้จ่าย
เพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติล่วงหน้า
ในอัตราคงที่ปีละประมาณ ๒.๓ หมื่นล้านบาท เป็นระยะเวลา ๓ ปี โดยมิได้มีการแจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายในแต่ละรายการ และเป็นการจ่ายเงินที่มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม จะเป็นการปฏิบัติที่ขัดกับ
มาตรา ๒๔[๑๑] และมาตรา ๖๓[๑๒] แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ หรือไม่ นั้น
เห็นว่า แม้มาตรา ๒๔[๑๓] แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ จะบัญญัติว่า เงินกองทุน
ให้จ่ายเป็นประโยชน์ทดแทนก็ตาม แต่เมื่อมาตรา ๑๐ วรรคสาม[๑๔] แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ บัญญัติให้ส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามจำนวนที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน ก็ย่อมต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
ส่วนกรณีการแจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๖๓[๑๕] แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ซึ่งความในมาตรา ๖๓ วรรคสอง บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม ดังนั้น
หากคณะกรรมการประกันสังคมได้ตกลงกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และอัตราการส่งเงินให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพสำหรับกรณีดังกล่าวอย่างไร ก็ถือได้ว่าคณะกรรมการประกันสังคมได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์และอัตราการส่งเงินตามมาตรา ๖๓ วรรคสองแล้ว การดำเนินการก็จะต้องเป็นไปตามนั้นเช่นเดียวกัน
ประเด็นที่สาม กรณีตามประเด็นที่สอง หากสามารถส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้โดยไม่ขัดกับกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม สำนักงานกองทุนประกันสังคมต้องส่งเงินส่วนใดให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะเงินกองทุนประกันสังคมมีที่มาจาก ๓ ฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล จะส่งเฉพาะเงินส่วนที่รัฐบาลจ่ายสมทบมาแล้วได้หรือไม่ นั้น เห็นว่า มาตรา ๒๒[๑๖]
แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ บัญญัติให้เงินกองทุนประกันสังคมประกอบด้วยเงิน
มีที่มาจากหลายส่วน และเมื่อรวมเป็นเงินกองทุนประกันสังคมแล้ว มาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง[๑๗]
แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้จ่ายเงินกองทุนเป็นประโยชน์ทดแทน โดยมิได้ระบุให้จำแนกการจ่ายเงินที่มาจากแต่ละส่วนแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่า เงินกองทุนประกันสังคมมีเจตนารมณ์
ให้จ่ายเป็นประโยชน์ทดแทนตามที่กฎหมายกำหนดโดยไม่แยกส่วน ดังนั้น เงินกองทุนดังกล่าว
จึงไม่อาจแยกส่วนหรือที่มาของเงินกองทุนไปใช้สำหรับส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
ประเด็นที่สี่ กรณีคณะกรรมการทั้งสองคณะจะตกลงกัน และเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอขอรับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นเงินเหมาจ่ายรายหัวเช่นเดียวกับการขอรับเงินงบประมาณเป็นเงินเหมาจ่ายรายหัวสำหรับบุคคลทั่วไปเพื่อให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ประกันตน แทนการส่งเงินจากกองทุนประกันสังคมเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้หรือไม่ นั้น เห็นว่า มาตรา ๑๐ วรรคสาม[๑๘] แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ บัญญัติให้ส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น มิได้บัญญัติให้คณะกรรมการทั้งสองคณะตกลงกันเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขอรับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ประกันตนแต่อย่างใด จึงไม่อาจเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา
ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอขอรับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ประกันตนได้
ประเด็นที่ห้า กรณีเมื่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม การร่างพระราชกฤษฎีกา
ที่เสนอต่อรัฐบาลตามมาตรา ๑๐ จะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของเงิน จำนวนเงิน วิธีการ เงื่อนไขในการส่งเงิน ไว้ในร่างพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ ประการใด นั้น เห็นว่า มาตรา ๑๐ วรรคสอง[๑๙] แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ บัญญัติให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และเมื่อได้ตกลงกันเกี่ยวกับความพร้อมให้บริการสาธารณสุขกับคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว ให้เสนอ
ตราพระราชกฤษฎีกาต่อรัฐบาลกำหนดระยะเวลาการเริ่มให้บริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการแก่
ผู้มีสิทธิดังกล่าว บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดระยะเวลาการเริ่มให้บริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการเท่านั้น การตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงไม่จำต้องกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ตามที่หารือ
ประเด็นที่หก กรณีแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนจะปฏิบัติอย่างไร หากมีการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ แล้ว จะครอบคลุมกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานด้วยหรือไม่ และหากครอบคลุมบริการสาธารณสุขไปถึงแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนด้วยจะขัดต่อหลักการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่ นั้น เห็นว่า มาตรา ๕[๒๐] แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ บัญญัติให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรองรับสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา ๕๒[๒๑] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยบัญญัติไว้ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และต่อมา มาตรา ๕๑[๒๒] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ก็ได้บัญญัติหลักการดังกล่าวไว้เช่นเดียวกัน การรับรองสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการรับรองสิทธิของบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ดังนั้น การขยายบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ให้ครอบคลุมไปถึงผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างด้าวด้วย จึงไม่อาจกระทำได้
(นายอัชพร จารุจินดา)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕