เผยโฉม “บรรษัทพัฒนา” องค์กรฟื้นฟู – อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ
ภายหลังที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ได้นำ กยน.ไปเยี่ยมชมพื้นที่พัฒนาขั้นตอนน้ำ กลางน้ำ และปลายน้พ ตามแนวทางของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ระหว่างวันที่ 27 – 29 ม.ค. 55 ณ โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุดรธานี โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ จ.น่าน ตามแนวพระราชดำริ และโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) จ.เชียงรายแล้วนั้น
ได้ผลสรุปว่า การพัฒนาตามแนวพระราชดำริและการขับเคลื่อนตามภารกิจของ กยน.นั้น จำเป็นต้องมีองค์กรที่มาทำภารกิจขับเคลื่อนและบูรณาการยุทธศาสตร์ ซึ่งองค์กรรูปแบบหนึ่งที่ควรพิจารณา ได้แก่ บรรษัทพัฒนา ที่มีภารกิจสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจของพื้นที่ ส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกา วิถีชีวิตวัฒนธรรม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสุขภาวะของคนในพื้นที่ เพื่อผนึกกำลังของทุกฝ่ายเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ ประชาชนแข็งแรง อยู่ดีกินดี สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาในแต่ละพื้นที่
โดยมีบทบาทเป็นตัวกลางในการระดมทรัพยากรจากฝ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือของหลายฝ่ายในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ (และระหว่างประเทศในอนาคต) โดยโครงสร้างบริหารเป็นการถือหุ้นร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐบาล ภาคประชาชน ภาคองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ร่วมกลุ่มถือหุ้นในบรรษัท โดยในระยะแรกของการก่อตั้งให้มีสัดส่วนที่เท่ากัน และจะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อบรรษัทพัฒนาได้ดำเนินการไปแล้วอย่างน้อย 8 ปี และขอรับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล เพราะเป็นบริษัทที่ภาครัฐถือหุ้น
- วิธีการบริหารจัดการ
1. การบริหารจัดการทำในรูปแบบของบริษัทเอกชน (Business) ในระยะแรกรัฐบาลควรสนับสนุนเป็นเงินอุดหนุนรายปี หลังจากนั้นรัฐบาลจะกระจายหุ้นให้ชุมชนและประชาชนบรรษัทพัฒนาสามารถแสวงหารายได้และเงินสนับสนุนการดำเนินงานจากแหล่งอื่นๆ ได้เช่นเงินบริจาค และเงินกู้จากสถาบันการเงินทั่วไป เป็นต้น
2. การลงทุน บริหารในลักษณะหุ้นส่วนโดยรัฐบาล ร้อยละ 25 ภาคประชาชน ร้อยละ 25 ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 25 และภาคธุรกิจเอกชน ร้อยละ 25 โดยจะนำผลกำไรที่ได้ไปดำเนินกิจกรรมการพัฒนา เพื่อให้ชุมชนและประชาชนได้รับประโยชน์
3. ระยะเวลาการดำเนินงาน โดยระยะแรกควรกำหนดระยะเวลาได้ 12 ปี แบ่งเป็น 4 ช่วง (Phase) ช่วงละ 3 ปี ในแต่ละช่วงเวลามีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินการที่ต้องบรรลุอย่างชัดเจน และมีการประเมินผลงานเป็นระยะๆ หากไม่สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นทุกฝ่ายใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินการต่อไปหรือจะยุติการดำเนินงาน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายและเสียโอกาสของชุมชนและประชาชนในพื้นที่
4. การออกแบบการทำงานของบรรษัทพัฒนาควรมีรูปแบบหลากหลาย ที่เหมาะสมกับภูมิสังคมและเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละพื้นที่ (ไม่ใช่ one size fits all ) แต่มีลักษณะเป็นรูปแบบเฉพาะตัว module ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ภูมิสังคม ดังนั้นควรเริ่มจากทำพื้นที่เล็กๆ หลายแห่ง เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว อาจพบว่ามีความเหมือนความคล้ายคลึงของความต้องการที่สามารถเชื่อมโยงร่วมมือกันดำเนินกิจการการพัฒนาได้ในลักษณะการรวมกลุ่มการผลิต การขาย การซื้อ เพื่อประโยชน์ในด้านการต่อรองราคา การทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง โดยสามารถซื้อปัจจัยการผลิตจำนวนมากได้ราคาถูก รวมทั้งการรวมกันขายเพื่อให้ได้ราคาที่ดีขึ้น
คาดว่าองค์กรที่ทำหน้าที่ผลักดันสนับสนุนการทำกิจกรรมพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่ยั่งยืน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งที่อยู่ระดับเดียวกันและต่างระดับกันรวมทั้งประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและปกครองตนเองตามหลักประชาธิปไตยตามแนวคิดสหการ (Intercommunal Cooperation) และลดภาระการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยบรรษัทพัฒนาในแต่ละพื้นที่จะเป็นผู้รับดำเนินการในส่วนที่เป็นภาระของภาครัฐ
- สำหรับวิธีการปฏิบัติ
ระดับบน เสนอให้ “บริษัทนวุตยายุ” ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มาเป็นบริษัทแม่ ( Holding) โดยนำไปจัดหุ้นให้แม่ และแบ่งโครงสร้างผู้ถือหุ้นให้มีสัดส่วนของแต่ละภาคส่วนให้เหมาะสม
ระดับล่าง ให้ใช้รูปแบบโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอ่างเก็บน้ำ จ.อุดรธานี (อุดรฯโมเดล) โดยมีหุ้นส่วน 1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบจ.อุดรธานี 2) ชาวบ้าน: ชาวบ้านในโครงการฯ 3) ภาคเอกชนที่มีคุณธรรม และ 4) รัฐบาล โดยให้เริ่มดำเนินการที่ จ.อุดรธานี
ทั้งนี้ ให้ ดร.วีรพงษ์ รามางกรู เป็นประธานพิจารณารูปแบบองค์กรที่มาทำภารกิจขับเคลื่อนและบูรณาการยุทธศาสตร์ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ร่วมกัย ดร.วิษณุ เครืองาม ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโร ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ และศ.ดร. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ทำการศึกษาประเมินความเป็นไปได้แบบเร่งด่วน (Rapid Assessment) ถึงความเหมาะสมของรูปแบบและวิธีการดำเนินงานในการจัดตั้งบรรษัทพัฒนา เพื่อให้มีรายละเอียดที่ครบถ้วนสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยอาจเริ่มใช้รูปแบบองค์กรดังกล่าวทดลองทำในโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน อ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุดรธานี