รัฐบาลควรสนองพระราชดำรัส "ในหลวง" เรื่องการจัดการน้ำอย่างไร ???
รัฐบาลควรสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เรื่องการจัดการน้ำอย่างไร
ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์
นายช่างโยธาและคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงของ ศปภ.
บทความต่อไปนี้ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของผมในฐานะพสกนิกรชาวไทยที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมแก้ไขปัญหามหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ในฐานะคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงของ ศปภ. ในฐานะวิศวกรโยธาที่ทำงานภาคสนาม และในฐานะนักวิชาการ ที่อยากเห็นรัฐบาลร่วมแรงร่วมใจกับทุกภาคส่วนของสังคมในการนำพาประเทศผ่านห้วงเวลาที่คนไทยจำนวนมากกำลังวิตกกังวลว่าปีนี้หรือปีต่อๆ ไป น้ำจะท่วมอีกหรือไม่ ท่วมในปริมาณมากเท่าไรและยาวนานเพียงใด โดยผมขอออกความเห็นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ส่วนเรื่อง การปลูกป่าต้นน้ำนั้น ผมไม่มีความชำนาญจึงขอไม่ออกความเห็นในประเด็นนี้ ส่วนการที่รัฐบาลจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ก็สุดแต่จะพิจารณาบนพื้นฐานของประโยชน์ ที่จะเกิดกับประชาชนชาวไทย ดังนี้
เรื่อง นายช่างชลประทาน
ที่ต้องกล่าวถึงเรื่องนี้เพราะตอนหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งถึงนายช่างชลประทาน ตรัสว่าไม่มีนายช่างชลประทาน
นายช่าง หมายถึง
นายของช่าง หรือวิศวกรที่เป็นเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาของช่างหรือช่างเทคนิคในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งหลายที่เกี่ยวกับงานช่างทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน
ชลประทาน หมายถึง
การจัดสรรน้ำหรือการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งโดยวิชาชีพก็คือ วิศวกรโยธาด้านแหล่งน้ำชลศาสตร์ที่ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านต่างๆ อาทิ
Hydrology หรืออุทกวิทยาเพื่อสามารถเข้าใจการตกของฝน การจัดการน้ำท่าและน้ำทุ่งที่เกิดขึ้น
Fluid Mechanics หรือเรื่องกลศาสตร์ของไหล
Soil Mechanics หรือเรื่องปฐพีกลศาสตร์
Hydraulic Engineering หรือวิศวกรรมชลศาสตร์
Structural Engineering หรือวิศวกรรมโครงสร้าง
Surveying หรือการสำรวจ
ทั้งนี้ เนื่องจากในการบริหารจัดการน้ำนั้นจำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมของฝน การไหลของน้ำ การซับน้ำของดิน และกำลังความสามารถในการรับน้ำหนักของเขื่อนดิน ตลอดจนโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อขวางน้ำหรือผันน้ำ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ ในการสร้างเร่งผลักดันน้ำหรือสูบน้ำออก อีกทั้งยังต้องเข้าใจเรื่องค่าระดับ การสำรวจแหล่งน้ำ หรือทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ เพื่อจะสามารถคำนวณทิศทางการไหลและปริมาณของน้ำที่ไหล ตลอดจนการบังคับทิศทางของน้ำ ควบคู่ไปกับการสร้างช่องทางให้น้ำไหลผ่านหรือกีดขวาง เป็นต้น
เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการน้ำนั้นต้องอาศัยผู้มีความรู้และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ก.ว.) สาขาวิศวกรรมโยธาด้านแหล่งน้ำ มิใช่เอาใครที่ไม่มีความรู้ลึกซึ้งมาบริหารจัดการโดยใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้ง
ข้อเสนอแนะ
ในเรื่องนี้ ผมขอแนะนำให้รัฐบาลมอบหมายให้นายช่างใหญ่ด้านชลประทานเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งหมายถึงผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธาด้านแหล่งน้ำในระดับ "วุฒิวิศวกร" เท่านั้น โดยอาจมีทีมงานอันประกอบด้วย วิศวกรในระดับสามัญวิศวกรและภาคีวิศวกร ตลอดจนทีมงานเสริมที่มีความรู้ด้านการพยากรณ์อากาศ การตรวจสอบสภาพทางกายภาพของพื้นที่จัดการแหล่งน้ำ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอื่นๆ มาเป็นลูกทีม
หากจำภาพเหตุการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2538 ที่ผ่านมาได้ จะเห็นว่าในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในคราวนั้นมีนายช่างใหญ่ด้านชลประทานถึง 2 ท่าน คือ อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และท่านประเสริฐ สมะลาภา อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร
เรื่อง ให้น้ำไหลสม่ำเสมอ
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องนำข้อผิดพลาดของการบริหารจัดการน้ำในปีที่ผ่านมามาเป็นบทเรียน และอย่าให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยขึ้นอีก จากการไปขวางทางน้ำไหลที่คลองระพีพัฒน์ด้วยการสร้างคันเป็นสันดอนสูง 3.50 เมตร ยาว 20 กิโลเมตร ตลอดแนวคลองจากคลองหนึ่งถึงคลองสิบสาม จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประตูระบายน้ำที่คลองหนึ่งและประตูระบายน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเสียหายถึง 14 แห่ง รวมไปถึงเขื่อนของภาครัฐและเอกชนอีกกว่า 20 แห่งตลอดลำน้ำ จนทำให้ "น้ำไหลพรวดพราด" เข้ามาถล่มจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร ก่อนไหลออกทะเลในลักษณะเขื่อนแตก ด้วยปริมาณน้ำสะสมจำนวนมหาศาลน้ำจึง "ไม่ลงไม่ยอมลง"
เรื่องนี้คณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงของ ศปภ. ได้รับทราบข้อมูลจากผมในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2554 และต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดประชุมเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องประตูระบายน้ำ 14 แห่ง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 และนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ให้ประชาชนรับทราบตามที่ปรากฏในภาพข่าว
โดยทฤษฎีแล้วทุกความสูง 1 เมตร น้ำจะมีแรงดัน 1,000 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เมื่อสร้างคัน 3.50 เมตร จึงเกิดแรงดันเพิ่มขึ้น 3,500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และด้วยความยาว 20 กิโลเมตร จึงเกิดแรงดันสูงถึง 70,000,000 กิโลกรัมต่อเมตร หรือ 70,000 ตันต่อเมตร และเป็นสาเหตุของความวิบัติจากการสั่งการของผู้ที่ไม่มีความรู้
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็น "ต้องมีนายช่างใหญ่ระดับวุฒิวิศวกร" ให้คำแนะนำ มิใช่นำคนที่ไม่มีความรู้มาสั่งการ โดยเฉพาะบรรดานักการเมืองที่อวดรู้ทั้งหลาย
ข้อเสนอแนะ
ผมขอย้ำว่าต้องนำบทเรียนในปีที่ผ่านมามาใช้ อย่าไปขวางทางน้ำไหล โดยเฉพาะที่คลองระพีพัฒน์ คลองรังสิต หรือคลองหกวาสายล่าง แต่ต้องปล่อยให้น้ำไหลผ่านคลองซอยตั้งแต่คลองหนึ่งเป็นต้นไป โดยใช้คลองเหล่านี้เป็น Floodway ในการนำน้ำออกปากอ่าว ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถึงคลองฝั่งตะวันออก
ทั้งนี้ เมื่อผ่านกรุงเทพฯ ต้องให้เครื่องสูบน้ำของกรมชลประทานที่คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบตอนหนองจอก และคลองประเวศบุรีรมย์ ทำหน้าที่ผลักดันน้ำออกไปยังคลองส่งน้ำ เพื่อไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำอีกทางหนึ่ง "ไม่ใช่ปิดหมดเหมือนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554"
ส่วนด้านใต้ของกรุงเทพฯ ต้องเร่งผลักดันน้ำผ่านสมุทรปราการลงอ่าวไทย ซึ่งประตูระบายน้ำจำนวนมากของกรมชลประทานจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ (3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ถึงกว่า 150 เครื่อง ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำลงสู่ทะเล และให้ประตูระบายน้ำทำหน้าที่บังคับน้ำในช่วงน้ำขึ้นน้ำลงตามที่ได้พระราชทานลายพระหัตถ์ไว้ให้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538
เรื่อง แก้มลิงและคลองฝั่งตะวันตก
เรื่องนี้ผมได้พูดหลายครั้งว่า ที่น้ำไม่ท่วมถนนพระรามที่ 2 ก็เพราะโครงการพระราชดำริแก้มลิงคลองมหาชัย-สนามชัย ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร มีขนาดพื้นที่ 76.42 ตารางกิโลเมตร แปลความได้ว่า ทุกความสูง 1 เมตร จะเก็บกักน้ำได้มากถึง 76,420,000 ลูกบาศก์เมตร ถ้า 3 เมตร จะเก็บน้ำได้ 230 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยประมาณ
เรื่องนี้รัฐบาลยังไม่ได้ลงพื้นที่อย่างจริงจัง อีกทั้งพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ นั้นเป็นที่ราบ มีความลาดเอียงต่ำ มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงขวางทางน้ำไหล ขณะที่คลองทวีวัฒนายาวไปบรรจบกับคลองภาษีเจริญไม่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่แก้มลิง และโรงงานต่างๆ ตั้งขวางทางน้ำไหลตลอดแนวถนนพระรามที่ 2 ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร ประกอบกับฝั่งตะวันตกมีคูคลองขนาดเล็กจำนวนมากที่อยู่นอกพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ซึ่งต้องได้รับการดูแลโดยเฉพาะท่อระบายน้ำจำนวนมากตามหมู่บ้านจัดสรรที่ขยายไปในพื้นที่เหล่านี้
ข้อเสนอแนะ
ในเรื่องนี้รัฐบาลต้องเข้าพัฒนาแก้มลิง 76.42 ตารางกิโลเมตร แล้วเร่งขุดลอกคูคลองและท่อระบายน้ำตลอดจนติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไล่จากเส้นทางเข้าสู่แก้มลิงย้อนขึ้นเหนือ คือ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี เพื่อให้พื้นที่ปลายน้ำได้มีโอกาสเร่งระบายน้ำออกสู่ปากอ่าว ผ่อนภาระของแม่น้ำท่าจีนอีกทางหนึ่ง เหมือนกับที่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงมีสถานีสูบน้ำจำนวนมากของกรมชลประทานช่วยอยู่
เรื่อง Floodway กับ Floodplain
Floodway ในทางวิศวกรรมแล้วหมายถึง ทางด่วนของน้ำที่อาจจะเป็นคลองหรืออุโมงค์ระบายน้ำก็ได้ การสร้าง Floodway ในหลายประเทศใช้อุโมงค์ขนาดยักษ์เป็นทางระบายน้ำ เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน และอังกฤษ แต่หากพิจารณาผังเมืองดีๆ จะเข้าใจว่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า "...ตะวันออกมีคลองอยู่มาก..." นั่นคือ การใช้ระบบคลองทำหน้าที่เป็น Floodway นั่นเอง การแก้ปัญหาหลักคือ การแก้ไขคอขวดหรือเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำที่จุดอ่อนเหล่านี้ และอย่าไปขวางทางน้ำหรือปิดเครื่องสูบน้ำแบบปีที่ผ่านมา
Floodplain คือ ทุ่งรับน้ำที่เป็นพื้นดินขนาดใหญ่ที่ให้น้ำผ่านไปทั้งระนาบ (plain) เหมือนกับที่เรามีทุ่งเจ้าพระยาตอนกลางและตอนล่าง ถ้าเราไม่ไปขวางจนน้ำยกตัวสูง แล้วเร่งให้น้ำไหลออกไปทางปากอ่าว ความเสียหายก็จะไม่มากและไม่กินระยะเวลาไม่นานนัก การเยียวยาก็ยังคงถือเป็นเรื่องสำคัญ
การไหลของน้ำใน Floodplain สามารถสร้างแบบจำลองได้จากแผนที่ค่าระดับ ซึ่งทางวิศวกรรมเรียกว่า Topographic Map ปัจจุบันสามารถใช้ดาวเทียมในการสร้างแผนที่จำลองมาตราส่วน 1:10,000 แล้วจำลองการไหลของน้ำโดยอาศัย Computer Graphic ขณะเดียวกัน การกำหนดFloodway หรือ Floodplain นั้นต้องใช้หลักการทางวิศวกรรม ไม่ใช่ใช้แผนที่แบ่งเขตการปกครองมาลากเส้นตามอำเภอใจ เพราะน้ำไหลตามแรงดึงดูดของโลก ไม่ได้ไหลบนกระดาษ หรือตามที่นักการเมืองสั่ง ซึ่งทำไปก็อายชาวโลกเขา เช่นการให้น้ำกระโดดข้ามเขาใหญ่ตามรูป
ข้อเสนอแนะ
ควรให้วิศวกรจำลองแผนที่ Topographic Map แล้วทำการจำลอง (Simulation) ว่าน้ำไหลอย่างไร หากมีระบบคลองและสถานีสูบน้ำรองรับจะยอมให้ท่วมพื้นที่ไหนได้บ้าง ปริมาณเท่าไร เป็นระยะเวลาเท่าไร แล้วจึงแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า พร้อมทั้งกำหนดมาตรการชดเชยเฉพาะในช่วงวิกฤตน้ำมากหรือเยียวยาในกรณีน้ำแล้ง เพราะคนกลุ่มนี้อาจต้องเผชิญกับทั้งภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง
เนื่องจากหากคำนวณผิดพลาด ปล่อยน้ำมากก็จะเจอน้ำท่วมก่อนแล้วถ้าฝนขาดช่วงก็อาจประสบปัญหาน้ำแล้งตามมาอีกด้วย ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องเอานายช่างชลประทานมาช่วยกำหนดแผนแทนคนที่ไม่รู้และต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่ายในการปล่อยน้ำจากเขื่อน
เรื่อง การจัดสรรน้ำ
ในเรื่องการปล่อยน้ำในเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อนคือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีผลต่อที่ราบลุ่มเจ้าพระยานั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ กล่าวคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมชลประทาน ในการตรวจสอบปริมาณน้ำค้างทุ่ง และกรมอุทกศาสตร์ในการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนว่าจะสูงหรือต่ำในช่วงใดเวลาใด เพราะจะมีผลต่อการควบคุมประตูระบายน้ำตลอดเส้นทาง รวมทั้งบริเวณแก้มลิงและปากอ่าวว่า ช่วงใดต้องปิดต้องเร่งสูบออก
อีกทั้งเรื่องที่ยากที่สุดคือ การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีวาทศิลป์ ไม่ทำให้คนตื่นตระหนก เพราะที่จริงแล้วพายุที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยมีเฉลี่ยปีละ 1 - 2 ลูกเท่านั้น ที่หนักที่สุดก็ประมาณ 5 - 6 ลูกต่อปี แต่ไม่ใช่ 20 - 30 ลูก เพราะนั่นคือจำนวนที่เกิดในภูมิภาคเอเชียทั้งหมด โดยกว่าร้อยละ 70 พัดไปยังประเทศเพื่อนบ้านของเรา ไม่ได้พัดผ่านประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ไม่ควรตั้งอยู่บนความประมาท ในเรื่องนี้ต้องให้ผู้ชำนาญการเป็นคนให้ข้อมูลที่ถูกต้องหรือกล่าวอีกอย่างก็คือ ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องและรอบคอบก่อนนำเสนอเสมอ มิเช่นนั้นจะเสียผู้ใหญ่ และต่อไปผู้ฟังก็จะไม่เชื่อถือ ถ้าพูดผิดซ้ำผิดซาก
ข้อเสนอแนะ
รัฐบาลควรเร่งจัดตั้งระบบ Single Command ให้มีศูนย์กลางข้อมูลแหล่งเดียวและใช้ผู้ชำนาญการมาทำการวิเคราะห์ประมวลผลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ ซึ่งหากดูจากสถิติการปล่อยน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ตั้งแต่ปี 2550 - 2554 ตามตารางประกอบจะเห็นได้ว่าไม่เคยมีปีไหนเลยที่มีการปล่อยน้ำมากมายมหาศาลขนาดนี้ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม และหากย้อนกลับไปในรอบ 20 ปีจะเห็นว่า ไม่เคยมีการปล่อยน้ำเกิน 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ขณะที่รัฐบาลกำหนดให้ปล่อยน้ำเฉลี่ยเดือนละ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จนน้ำท่วมอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเขตดุสิต กรุงเทพฯ เมื่อต้นปีตามที่เป็นข่าว และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดภัยร้ายแรงขึ้น
ผมในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ร่ำเรียนและประกอบอาชีพเป็นนายช่างคนหนึ่งก่อนมาสวมหมวกรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันนี้ขอถอดหมวกนักการเมืองออกแล้วให้ความเห็นในฐานะนักวิชาการและคนทำงานที่ได้มีส่วนร่วมแก้ปัญหามหาอุทกภัยร่วมกับรัฐบาลในคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงของ ศปภ. และเห็นความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
จึงอยากช่วยลบจุดอ่อนจุดโหว่ เสนอแนะแบบสร้างสรรค์ และหวังว่าคนที่มีอำนาจจะเปิดใจให้กว้างแล้วนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เพื่อประโยชน์แก่บ้านเมืองบ้างไม่มากก็น้อย
27 กุมภาพันธ์ 2555