อังกฤษเปิดตัวแผนที่แสดงผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก 4 องศา
สถานทูตอังกฤษ กรุงเทพฯ จัดงานเปิดตัวแผนที่แสดงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอีก 4 องศา ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตอังกฤษ ถนนวิทยุ ในวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ แผนที่ฉบับนี้จัดทำโดยกรมอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักรและฮาร์ดลีย์ เซ็นเตอร์
ในปี 2554 กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรได้ร่วมงานกับกรมอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักรและฮาร์ดลีย์ เซ็นเตอร์จัดทำแผนที่ซึ่งชี้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในโลกของเราบ้างเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 4 องศา ขณะที่แผนที่ฉบับล่าสุดนี้จะแสดงถึงผลกระทบที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แผนที่นี้ชี้ให้เห็นว่าหากไม่มีการลดก๊าซเรือนกระจกและปล่อยให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 4 องศาเกินระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในแต่ละประเทศมีอะไรบ้าง เช่น การปลูกข้าวในประเทศไทย ปัญหาหมอกและควันพิษ และการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทะเลในสิงค์โปร์ ความรุนแรงของพายุไซโคลนในฟิลิปปินส์ น้ำท่วมในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และการประมงในอินโดนีเซีย
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นอันดับสามของโลกด้านการค้าข้าว อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อการปลูกข้าวในไทยเมื่อมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่องความแห้งแล้ง หากไม่มีมาตรการปรับตัวใดๆรองรับ
แผนที่นี้ยังแสดงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว ช่วงเพาะปลูกนั้น ต้นข้าวค่อนข้างเปราะบางต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ผลผลิตข้าวอาจจะไม่เติบโต หากอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 35 องศาเซลเซียสในช่วงข้าวออกรวง ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรในประเทศไทย การที่ผลผลิตข้าวลดปริมาณลงอย่างมาก นอกจากการบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของประเทศได้
ขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับพายุโซโคลนมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ระดับความรุนแรงของพายุจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทั่วภูมิภาคนี้ก็อาจจะยิ่งทำให้ฟิลิปปินส์เสี่ยงต่อการถูกพายุกระหน่ำและน้ำท่วมพื้นที่ชายฝั่งเพิ่มขึ้น
มร.อาซีฟ อาหมัด เอกอัครราชทูตอังกฤษกล่าวว่า "นี่ไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น แต่อาจมีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง อย่างที่เราทราบกันดีว่าฤดูมรสุมเมื่อปีที่แล้วน้ำไปสู่ปัญหาน้ำท่วมครั้งรุนแรงอย่างมากในประเทศไทย เราไม่อาจบอกได้ว่านี่เกิดจากสภาพอากาศที่รุนแรงครั้งใดครั้งหนึ่ง เช่นคลื่นความร้อน หรือน้ำท่วมว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่ความเสี่ยงของสภาพอากาศบางครั้งก็เกิดจากสภาวะโลกร้อนนี่เองซึ่งย้ำถึงความเสี่ยงของโลกและธรรมชาติที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภูมิอากาศ"
แผนที่นี้ชี้ให้เห็นว่าเหตุใดสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆจึงเชื่อว่าเราต้องพยายามรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส หากเกินกว่านี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่งคั่งและความมั่นคงของโลก สหราชอาณาจักรจึงมุ่งสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงที่มีผลผูกมัดทางกฎหมายภายใต้การดำเนินการของสหประชาชาติ เพราะหากไม่มีการกดดันจากนานาชาติแล้ว ก็จะไม่มีการแก้ปัญหาได้เลย
ติดตามรายละเอียดได้ที่
http://ukinthailand.fco.gov.uk/th/about-us/working-with-thailand/climate-change/four-degree-map/