ความเห็น กสม.ต่อนโยบายเงินบริจาคของสถานศึกษา
นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และความเสมอภาคของบุคคล มีความเห็นต่อนโยบายเงินบริจาคของสถานศึกษา มีเนื้อหาดังนี้
ความเห็น กสม.ต่อนโยบายเงินบริจาคของสถานศึกษา
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้แถลงแนวนโยบายเกี่ยวกับการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา โดยจะเปิดห้องรับเด็กฝากโดยเฉพาะ และได้เปลี่ยนชื่อ จาก “เงินแป๊ะเจี๊ยะ” เป็น “เงินบริจาค” แล้ว และต่อไปสถานศึกษาแห่งไหนมีงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการจัดให้ไม่พอก็ให้รับเงินบริจาค โดยเปิดห้องเรียนสำหรับการนี้เพิ่มเติม นั้น
ในเรื่องนี้ นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และความเสมอภาคของบุคคล ได้ให้ความเห็นต่อนโยบายดังกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าการใช้คำว่า “เงินบริจาค” แทนคำว่า “เงินแป๊ะเจี๊ยะ” นั้น ในทางปฏิบัติการได้เข้าเรียนสัมพันธ์กับเงินที่บริจาคหรือไม่ ถ้าใช่ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักการสิทธิมนุษยชน เพราะนโยบายดังกล่าวเท่ากับเป็นการตัดโอกาสเด็กที่มีความสามารถ แต่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่เอื้อในการเข้าเรียน เพราะต้องถูกกันที่นั่งเรียนไว้สำหรับเด็กที่มีเงินบริจาค ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมโดยเหตุความแตกต่างทางเศรษฐกิจ จึงขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ วรรคสาม
การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคแรก ประกอบกับมาตรา ๑๐ วรรคแรก และมาตรา ๑๓ (๑) แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติรับรองว่าบุคคลมีสิทธิเสมอกันในการศึกษาไม่น้อยกว่า ๑๒ ปี โดยรัฐมีหน้าที่จัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และนั่นย่อมหมายความว่า รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษาดังกล่าวอย่างเพียงพอ มิใช่ให้โรงเรียนไปเรียกเก็บจากผู้ปกครองอีก เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ โดยในมาตรา ๔๙ วรรคสอง ยังได้เน้นย้ำว่า แม้เป็นผู้ยากไร้หรืออยู่ในสภาวะยากลำบาก รัฐก็มีหน้าที่ต้องจัดให้ได้รับสิทธิในการศึกษาโดยเท่าเทียมกับบุคคลอื่นๆ ด้วยเช่นกัน และเท่าที่ทราบนโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ก็เป็นการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายของรัฐ โดยครอบคลุมค่าใช้จ่าย ๕ รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งหากรัฐจัดงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวครบถ้วนจริง ก็ไม่น่าจะมีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ถึงขนาดที่จะต้องเปิดห้องเรียนขอค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครอง เพื่อแลกกับการที่เด็กได้เข้าเรียนอีก
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๒๐ (๑) ที่บัญญัติรับรองสิทธิของเด็กในอันที่จะได้รับการศึกษาโดย ให้เปล่าอย่างน้อยในระดับประถมศึกษาและการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ ๓ (๑) และข้อ ๒๘ (ก) ที่บัญญัติให้รัฐภาคีต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก และได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเช่นนี้ ยังไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๐ (๑) และ (๓) ในการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้หลักความเสมอภาค
คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเด็ก สตรีฯ
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕