นายกฯ แถลงข่าวผลการติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ
วันนี้ (14.ก.พ. 55) เวลา 08.30 น. ณ โรงแรมอัมรินทร์ ลากูน จังหวัดพิษณุโลก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวผลการติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ ว่า การแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) เพื่อติดตามงานแก้ไขปัญหาตามแผนงาน/โครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณฟื้นฟู เยียวยา และงบประมาณตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ
(2) ทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ (area) และส่วนราชการในระดับกระทรวง (function) เกี่ยวกับแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
และ (3) รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปปรับปรุงและอนุมัติแผนงาน/โครงการเพิ่มเติม
การลงพื้นที่เมื่อวานนี้ (13 ก.พ. 55) ที่เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดพิษณุโลกเป็นการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในการดูแลพื้นที่ต้นน้ำ มี 3 หัวข้อ ดังนี้
1. โครงการพระราชดำริและการดูแลป่าต้นน้ำ การปลูกป่า ฝายแม้ว และการรักษาระบบนิเวศ
ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแนะนำให้ปลูกป่าในใจคนเป็นลำดับแรก เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนป่า สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สูง หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำเพื่อเน้นการสร้างอาชีพเพื่อให้อยู่ดีกินดี ประชาชนก็จะไม่บุกรุกป่าและถวายคืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน เน้นกิจกรรมหลัก 3 ด้าน คือ 1) การปลูกป่าบริเวณต้นน้ำ เพื่อฟื้นฟูป่าและสร้างความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ 2) การสร้างฝายต้นน้ำเพื่อเก็บกักและชะลอน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ 3) การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ที่มีความลาดชันมาก เพื่อลดปัญหาการพังทลายของหน้าดิน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทัพ สำนักงาน กปร. กระทรวงมหาดไทย เร่งดำเนินการดูแลป่าต้นน้ำ การปลูกป่า ฝายต้นน้ำ และการรักษาระบบนิเวศให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริ วิถีชีวิต ระบบนิเวศ โดยกำหนดพื้นที่ปลูกป่า และใช้แนวทางการไหลของน้ำเป็นตัวกำหนดพื้นที่ ดังนี้ 1) พื้นที่และชุมชนตามโครงการแม่ฟ้าหลวงและมูลนิธิปิดทองหลังพระ ให้มูลนิธิเป็นผู้กำหนดพื้นที่ 2) พื้นที่ชุมชนตามโครงการหลวง ทั้งในพื้นที่โครงการและพื้นที่ขยาย ให้สำนักงาน กปร. เป็นผู้ประสานการกำหนดพื้นที่ 3) พื้นที่ตามแนวชายแดน กองทัพเป็นผู้กำหนด 4) พื้นที่สูงและมีชุมชนอาศัยอยู่ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประสานกับกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนด โดยใช้หลักการคนอยู่ร่วมกับป่าได้ 5) พื้นที่ป่าอนุรักษ์และเขตอุทยานที่มีความลาดชันสูงและไม่อยู่ในเขตชุมชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้กำหนด
ทั้งนี้ในการปลูกป่า ให้มีการกำหนดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมเพื่อสามารถจัดหาพันธุ์ไม้ได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนให้มีการทำฝายชุ่มชื้นชะลอน้ำ และการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ที่มีความชันมาก โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการบูรณาการการดำเนินการดังกล่าว และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการกำหนดพื้นที่และจัดทำแผนงาน/โครงการ และรายงานผลสำเร็จของโครงการระยะสั้นภายใน 3 เดือน โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) สนับสนุนงบประมาณ
2. การพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยด้านการบริหารจัดการน้ำ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติหน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถให้ข้อมูลข่าวสารต่อ สาธารณชนได้ตามปกติ แต่ในภาวะภัยพิบัติ การเตือนภัยจะดำเนินการโดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ภายใต้การสั่งการของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.)
ขณะเดียวกัน กำหนดให้มีขั้นตอนการเตือนภัยที่สำคัญ 20 ขั้นตอน ตั้งแต่การก่อตัวของพายุ (เช่น พายุก่อตัวในมหาสมุทร จนขึ้นฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน และพัดผ่านประเทศไทยไป) ขั้นตอนฝนและน้ำไหลหลาก (ได้แก่ ปริมาณ สถานที่ฝนตก น้ำป่าและโอกาสดินถล่ม ปริมาณน้ำในเขื่อน การไหลของน้ำ และการล้นตลิ่ง) ขั้นตอนเกิดน้ำท่วมในภาคกลาง (ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านแต่ละพื้นที่สำคัญที่เป็นจุดชี้วัด ได้แก่นครสวรรค์ เขื่อนชัยนาท และอยุธยา) ตลอดจนขั้นตอนการระบายน้ำผ่าน กทม. (โดยให้ข้อมูลเตือนภัยเมื่อเกิดกรณีน้ำถึงจุดสำคัญ เช่น อำเภอวังน้อย คลองรังสิต หรือไหลเข้า กทม.)
รวมถึง กำหนด 5มาตรการเตือนภัยในช่วงการระบายน้ำ ได้แก่ (1) การแจ้งเตือนปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา (2) การแจ้งเตือนการดำเนินการพร่องน้ำจากเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (3) การแจ้งข่าวและเส้นทางข้อมูลการระบายน้ำ/ปริมาณน้ำของกรมชลประทาน (4) การแจ้งเตือนไปยังจังหวัด อำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และ (5) การแจ้งข่าวและข้อมูลของจังหวัด
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มี 2 เครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำและการเตือนภัย ได้แก่
1) ศูนย์ข้อมูลการจัดการน้ำแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นศูนย์สั่งการ (Command center) เชื่อมระบบข้อมูลของทุกหน่วยราชการ เป็นคลังข้อมูลน้ำ/ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ติดตามสถานการณ์แบบ Real time โดยใช้ CCTV รวมถึงการมีระบบเปิดปิดประตูน้ำอัตโนมัติระยะไกล และหน่วยบัญชาการเคลื่อนที่
2) ระบบศูนย์เตือนภัย โดยจะมีระบบเชื่อมโยงและเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Smart phone ศูนย์รับแจ้งข้อมูล (Call center) เชื่อมโยงเครือข่ายสื่อกระจายข่าวหมู่บ้าน และระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อการเตือนภัย (GIS Early Warning System) และมีการประชาสัมพันธ์โดยสื่อ รวมทั้ง website และโทรทัศน์
ทั้งนี้ ในช่วงเร่งด่วนภายใน 3 เดือน ต้องเร่งดำเนินการเชื่อมโยงระบบข้อมูลของทุกหน่วยงานให้แล้วเสร็จ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) จัดทำ Workshop เพื่อกำหนดขั้นตอนบูรณาการข้อมูล การคาดการณ์ แจ้งข้อมูล และเชื่อมโยงข้อมูลกับภาคประชาชน
3.การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน การกักเก็บน้ำหลักประจำ ปี 2555 นี้ รัฐบาลจะปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำของเขื่อนใหญ่ทั้ง 33 แห่งโดยจะให้มีความสมดุลในช่วงฤดูฝนและแล้งคำนึงถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษานิเวศน้ำ การเกษตร อุตสาหกรรมและป้องกันบรรเทาอุทกภัยให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำในปีนี้
สำหรับในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้มีการดำเนินงาน ดังนี้ 1. ปรับเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ โดยเขื่อนที่มีผลกระทบตรงต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา 6 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน กิ่วลม กิ่วคอหมาและป่าสักชลสิทธิ์ กรมชลประทานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีการปรับแผนปฏิบัติการระบายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์จะมีการปรับเกณฑ์การบริหารน้ำ (Rule curves) ใหม่ โดยปรับเกณฑ์สูงอยู่ในระดับร้อยละ 64 และ เกณฑ์ต่ำอยู่ในระดับร้อยละ 45 จะส่งผลให้ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำคงเหลือร้อยละ 45 หรือ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำคงเหลือร้อยละ 45 หรือ 4,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้ทั้ง 2 เขื่อนสามารถรับน้ำได้อีก 12,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าปี 2554 ประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม.
2. การระบายน้ำสำหรับการจัดการน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในกรณีที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านจาก เขื่อนตอนบนสู่เจ้าพระยาตอนล่าง ณ จังหวัดนครสวรรค์มากกว่าปกติของทุกปี เช่นเพิ่มขึ้นจาก 3,600 ล้าน ลบ.ม. เป็น 4,600 ล้าน ลบ.ม. จะต้องมีการบริหารจัดการโดยหาพื้นที่รองรับน้ำหรือระบายน้ำ ซึ่งรัฐบาลจะเตรียมการโดยการบริหารจัดการพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ปลายทางและกรุงเทพมหานคร โดยเชื่อมโยงกับการพยากรณ์น้ำ
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ประธานอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน และประธานอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หารือร่วมกันในการจัดทำผังระบายน้ำให้เหมาะสม และมอบหมายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมชลประทานดูแลการระบายน้ำทุ่ง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและกรมชลประทานดูแลการจัดการน้ำในเขื่อน โดยให้จังหวัดรับไปทำความเข้าใจ กับประชาชน
สำหรับมาตรการเร่งด่วนการบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำภายในสิ้นเดือนเมษายน 2555 มีดังนี้
1. ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน (ทำคู่กับการปลูกป่า) โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพ
2. พัฒนาแหล่งน้ำที่มีอยู่ให้สามารถเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพ มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพ
3. ปรับปรุงศูนย์ข้อมูลและการพยากรณ์ที่เป็นเอกภาพ โดยมอบหมายให้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพ
4. ปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติด้านการแจ้งข่าวพยากรณ์ เตือนภัย และเหตุภัยพิบัติ ให้ลงถึงชาวบ้านให้แล้วเสร็จ มอบหมายให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพ