วิศวกรรมสถานฯ เปิดแผนป้องน้ำเร่งด่วน
ข้อเสนอหลักการสำคัญในการจัดการน้ำประเทศไทย
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประเทศไทยอย่างเป็นระบบและบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยพร้อมทั้งภัยแล้ง สามารถกระทำได้ด้วยความรู้เชิงวิศวกรรมทั้งภาคทฤษฎีและประสบการณ์ ภายใต้งบประมาณ และกรอบเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
กลุ่มนักวิชาการร่วมกับภาคประชาชน ขอเสนอมาตรการเพื่อการจัดการภัยพิบัติน้ำอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ดังนี้
1.จัดทำ “แผนแม่บทการจัดการน้ำประเทศไทย” ซึ่งต้องมีคุณลักษณะสำคัญ 5 ประการ คือ
1.เป็นที่ยอมรับในเชิงวิชาการ
2.คำนึงถึงผังเมือง และแผนพัฒนาประเทศ
3.ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนตั้งแต่ระดับชุมชน
4.เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
5.สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ
โดยแบ่งเป็น
*ระยะเร่งด่วน ภายใน 4 เดือน กุมภาพันธ์-มิถุนายน 2555
*ระยะสั้น ภายใน 2-5 ปี ระยะกลาง ภายใน 5-10 ปี ระยะยาว ภายใน 10-50 ปี
2.จัดตั้งหน่วยงานยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำประเทศไทย ซึ่งต้องมีหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ
1.) ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียกับกลุ่มผลประโยชน์และการเมือง
2.) ต้องมีอำนาจตามกฏหมายในการสั่งการเพื่อจัดการสถานการณ์น้ำได้จริง
3.) รายงานต่อสาธารณะได้รับทราบถึงความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรคของงานและการใช้จ่ายงบประมาณ
3.ทั้งแผนแม่บทการจัดการน้ำประเทศไทยและหน่วยงานยุทธศาสตร์ดังกล่าว ต้องไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลทางการเมือง เพื่อให้โครงการที่ต้องดำเนินการในระยะยาว และต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเกิดเป็นผลสำเร็จได้จริง
*ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำทันที ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน 2555 มี 4 ประการคือ
1.ระดับชุมชน
1.) ให้ความรู้ ข้อมูลความจริงเรื่องน้ำที่จะส่งผลกระทบแก่ประชาชนและการให้คำปรึกษาแก่ชุมชนในการรับมือกับภัยพิบัติ
2.) ส่งเสริมให้เกิดการประสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายชุมชนที่เชื่อมโยงถึงกัน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ
3.)ก่อให้เกิดต้นแบบการจัดการภัยพิบัติที่เป็นไปได้สำหรับชุมชนและเผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่น เกิดคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติระดับชุมชน การเตรียมความพร้อม พื้นที่ปลอดภัย เครื่องยังชีพ จุดรวมพล แผนอพยพ รวมทั้งการจัดการพลังงานและระบบสื่อสารเมื่อเกิดภัยพิบัติในชุมชน ฯลฯ
4.) จัดทำแผนที่ปลอดภัยชุมชนพร้อมระบบขนส่งเมื่อเกิดภัยพิบัติ
5.) ก่อให้เกิดการจัดการระบบน้ำในชุมชนและบ้านเรือน ระบบทางน้ำธรรมชาติ แก้มลิงธรรมชาติ แก้มลิงสำรอง การทำระบบหน่วงน้ำใกล้บ้าน-โรงงาน มีการสำรวจผังระบบระบายน้ำและรวบรวมน้ำเสียของชุมชน (ทั้งด้านการป้องกันน้ำท่วม การจัดการขณะเกิดภัยพิบัติ การป้องกันการปนเปื้อน และการสำรองน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง)
2. ระดับครัวเรือน
1.) ก่อให้เกิดการปรับปรุงอาคารบ้านเรือนที่สอดคล้องกับภูมิประเทศและสภาพภัยพิบัติที่จะมาถึงตน เช่น การยกพื้น การติดตั้งประตูบ้าน-ประตูรั้ว ระบบไฟฟ้า ฯลฯ
2.) ก่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมของสมาชิกในครอบครัวเพื่อรับมือกับภัยบัติอย่างมีสติ
3. ระดับท้องถิ่นถึงระดับจังหวัด
1.) จัดทำผังการระบายน้ำตามเขตชุมชนถึงลุ่มน้ำ
2.) จัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติของท้องถิ่นและจังหวัดที่สอดคล้องกับชุมชน
3.) จัดลำดับความสำคัญการบำรุงรักษาระบบระบายน้ำและคูคลอง
4.) การจัดเส้นทางอพยพและระบบสื่อสารระหว่างชุมชน
5.) จัดเตรียมระบบสุขาภิบาลที่ดีเพื่อพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ มีการจัดการขยะและน้ำเสียทั้งก่อน ขณะเกิด และหลังจากเกิดน้ำท่วม เพื่อลดการปนเปื้อนของมลพิษไปในสิ่งแวดล้อม (ดิน น้ำ อาคาร สาธารณูปโภค) และเพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชน
4.ระดับรัฐ
1.) ส่งเสริมชุมชนและท้องถิ่น ให้สามารถปฏิบัติภาระกิจเร่งด่วนดังกล่าวข้างต้น
2.)ทำให้เกิดการเตรียมการเพื่อจัดทำแผนแม่บทการจัดการน้ำประเทศไทยระยะสั้น กลาง ยาว พร้อมทั้งหน่วยงานยุทธศาสตร์ตามที่กล่าวในตอนต้น เช่น ในระยะสั้น ก่อให้เกิดระบบเตือนภัยที่ชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำทันสถานการณ์
3.)แสดงความชัดเจนถึงความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาและความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ ตามโครงการจัดการภัยพิบัติที่รัฐเสนอ โดยรายงานความก้าวหน้าผ่านสื่อสาธารณะทุกรูปแบบ ให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก
4.) เปิดโอกาสให้ภาควิชาการรวมทั้งภาคประชาชนวิพากย์ได้อย่างกว้างขวาง
อนึ่งเพื่อในมีผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งเป็นการเชื่อมโยงในทุกระดับตามที่กล่าวข้างต้น วสท.และกลุ่มเครือข่ายขอเสนอให้มีการจัดงานชุมนุมวิชาการสัญจร 4 ภาค เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสานต่อเพื่อเตรียมความพร้อมในส่วนงานเร่งด่วนกับทุกภาคส่วน ให้มีจุดเริ่มต้นที่จะเดินไปด้วยกันทุกภาคส่วนทั้งในระยะสั้น และในระยะยาว โดยมีประเด็นประกอบด้วย
1.มองภาพรวมด้วยภาพเดียวกัน ความรู้พื้นฐานด้านแหล่งน้ำ น้ำท่วม-น้ำแล้ง-พัฒนาเมืองและชุมชนคือเรื่องเดียวกัน
2.ร่วมกันถอดบทเรียนในการรับมือกับภัยพิบัติ ช่วยกันหาแนวทางรับมือในระยะสั้นนี้ ความจำเป็นที่ต้องมีศูนย์อพยพของชุมชน (บริหารจัดการง่ายและประหยัดกว่าต่างคนต่างป้องกันในระดับครัวเรือน) การเลือกสถานที่จัดทำเป็นศูนย์อพยพ การปรับปรุงและเตรียมความพร้อมสำหรับพื้นที่ที่จะทำเป็นศูนย์อพยพ ถ้าจำเป็นต้องมีศูนย์อพยพอยู่กลางน้ำจะทำอย่างไร?
3.ร่วมกันถอดบทเรียน สืบค้นต้นตอของปัญหา เริ่มต้นหาทางบรรเทาปัญหาในระยะยาวร่วมกัน การจัดการพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชนอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์สูงสุด
ผู้ร่วมสนับสนุนข้อเสนอนี้ประเภทองค์กร
1. วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
2. เครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดนครปฐม(นครปฐมโมเดล)
ประเภทบุคคล
1.นายวิจารณ์ ตันติธรรม วิศวกรโยธาชำนาญพิเศษ
2.ดร.เจษฎา แก้วกัลยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3.ผศ. ดร. พิศมัย ภูริสินสิทธิ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ วิศวกรสิ่งแวดล้อม
4.รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล คณบดี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Chair, Siam Water Network, Faculty of Environemnt and Resoruce Studies,Mahidol University
5.ผศ.พิพัฒน์ ภูริปัญญาคุณ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม วสท.
6.ดร.เชาวน์ นกอยู่ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ
7.รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8.กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ