บทเรียนจากน้ำท่วม: สังคมไทยจะก้าวต่อไปทางไหน โดย ดร.จิรากรณ์ คชเสนี
บทเรียนจากน้ำท่วม: สังคมไทยจะก้าวต่อไปทางไหน
โดย ดร.จิรากรณ์ คชเสนี อาจารย์อาวุโส สถาบันการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ศูนย์เตรียมความพร้อมภัยพิบัติแห่งเอเซีย
น้ำท่วมสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ไร่นาสาโท ชีวิต ทรัพย์สิน และวิถีชีวิต ของผู้คนทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นคนชนบท คนเมือง ยากดีมีจน ทุกหย่อมหญ้า ล้วนได้รับความทุกข์ร้อนแสนสาหัส อย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การทหาร แบบดั้งเดิมที่คุ้นเคยกัน
บทสรุปจากมหันตภัยน้ำท่วมครั้งนี้คือ ภัยพิบัติจากธรรมชาติ ที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ผนวกเข้ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมโลกและภาวะโลกร้อน คือภาวะคุกคามต่อความมั่นคงทางนิเวศของสังคมไทย
ความมั่นคงทางนิเวศ สามารถให้คำจำกัดว่าคือ สถานะที่สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ยังคงความสามารถสนับสนุนการดำรงอยู่ของชีวิต ตอบสนองความจำเป็นในทางวัตถุและจิตวิญญาณ แก่มนุษยชาติทั้งปวง
ความมั่นคงทางนิเวศเป็นสถานะที่ปรากฏขึ้นในสังคมมนุษย์ ที่สามารถดำรงความอยู่ดีมีสุข มีความ สามารถปรับตัวทางสังคมวัฒนธรรม พร้อมทั้งความยืดหยุ่น สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ปลอดจากความหวาดกลัวภัยคุกคาม มีความพร้อมเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความผิดปกติ ที่อาจจะเกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมภาย นอก ทั้งที่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า หรือแม้แต่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย
ปัจเจกบุคคลหรือสังคมมนุษย์มีความเปราะบาง ความยืดหยุ่น และความสามารถปรับตัว แตกต่างกัน เป็นคุณสมบัติที่ปรากฏขึ้นในบุคคลหรือสังคม จากกระบวนการปรับตัวทางสังคมวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นจากความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์และการเรียนรู้ ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับความเป็นจริงทางชีวภาพและกายภาพ ในมาตราเวลา ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต ถ่ายทอดมาถึงปัจจุบัน และส่งต่อไปสู่อนาคต ทำให้ปัจเจกบุคคลหรือสังคมมนุษย์สามารถรองรับ ต้านทาน หรือปรับเปลี่ยน ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งที่มีสาเหตุจากธรรมชาติหรือมนุษยชาติ
น้ำท่วมไทยที่กำลังเกิดขึ้นถือเป็นกรณีตัวอย่างความไม่มั่นคงทางนิเวศ พร้อมทั้งเป็นบทเรียนของความเปราะบาง ความยืดหยุ่น และความสามารถปรับตัว ที่ชัดเจน กล่าวคือ ชุมชนในที่ราบลุ่มริมน้ำปัจจุบัน เปรียบ เทียบกับชุมชนไทยในที่ราบลุ่มริมน้ำแบบดั้งเดิมในอดีต ชุมชนปัจจุบันมีความเปราะบางต่อน้ำท่วมสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต เนื่องจากเหตุผลหลายประการ ในอดีต น้ำท่วมคือความเป็นจริงทางชีวภาพและกายภาพ เป็นปรากฏการณ์ตามปกติของธรรมชาติ ในมาตราของเวลาและพื้นที่นั้น ที่เกือบจะแน่นอนว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนยี่น้ำรี่ไหลลง” เป็นองค์ความรู้ความเข้าใจทางสังคม ก่อเกิดการปรับตัวทางสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตให้เข้ากับปรากฏการณ์น้ำท่วมตามธรรมชาตินี้ แต่ปัจจุบัน ภัยน้ำท่วมไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติปกติเหมือนในอดีตอีกต่อไป การทำลายพื้นที่ต้นน้ำ การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ การบริหารจัดการน้ำและกิจกรรมที่เกิดขึ้นเหนือน้ำและปลายน้ำของชุมชนนั้นๆ น้ำท่วมและภัยแล้ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้ความสามารถในการคาดการณ์ล่วงหน้า ของชุมชนแทบจะเป็นไปไม่ได้ วิถีชีวิตดั้งเดิมเกิดเปลี่ยนแปลงไปเพื่อ “ความทันสมัย” หรือ “การพัฒนา” เนื่องจากการปรับตัวทางสังคมวัฒนธรรม ที่ไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ระบบคุณค่าและความเชื่อ องค์ความรู้ดั้งเดิมที่ค่อยๆ เรียนรู้ สะสม ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ถูกละเลย ทอดทิ้งสูญหายไป การตั้งถิ่นฐานและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางชีวภาพและกายภาพ ของสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร หายสาบสูญไป สถาปัตยกรรมบ้านไม้ไทยดั้งเดิมใต้ถุนสูง ถูกแทนที่ด้วยบ้านปูนทรงสมัยใหม่ปลูกติดดิน โดยแทบจะไม่มีเหตุผลใดมารองรับ การจราจรทางน้ำถูกแทนที่ด้วยการจราจรทางบก เรือที่เคยเป็นอุปกรณ์สามัญประจำบ้าน ถูกแทนที่ด้วยรถกระบะ รถจักรยานยนต์ พันธุ์ข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมที่สามารถปรับตัวเจริญเติบโตในภาวะน้ำท่วมในที่ราบลุ่ม เช่น ข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว แทบจะหายสาบสูญไป ถูกแทนที่ด้วยพันธุ์ข้าวที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน ด้วยเหตุผลที่น่าเลื่อมไสว่า เป็นข้าวพันธุ์ดีให้ผลผลิตสูง แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทนสภาวะน้ำท่วมขังได้ ยิ่งไปกว่านั้น พื้นดินซึ่งมีศักยภาพทางกสิกรรมสูง ตามความเป็นจริงทางชีวภาพและกายภาพ เป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลับถูกแปรเปลี่ยนแทนที่ด้วยแหล่งอุตสาหกรรมและที่ตั้งถิ่นฐาน จากนโยบายเปลี่ยนโครงสังคมเกษตรกรรมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม โดยปราศจากการวิเคราะห์พื้นฐานความเป็นจริงของบริบททางสังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร
สำหรับชุมชนไทยดั้งเดิม น้ำท่วมคือความเป็นจริงทางชีวภาพและกายภาพ ซึ่งชุมชนสามารถคาดการณ์ได้ เกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นในสังคม ปรับทั้งวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม วิถีชีวิตและกิจกรรมทางสังคม ที่ไปสร้างเสริมความยืดหยุ่น ความสามารถปรับตัว เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นปกติได้เป็นอย่างดี แต่ชุมชนไทยสมัยใหม่กลับกลายเป็นสังคมที่เปราะบาง น้ำท่วมกลายเป็นความผิดปกติทางชีวภาพและกายภาพ เป็นภัยธรรมชาติ สังคมขาดองค์ความรู้ความเข้าใจ ขาดความสามารถในการคาดการณ์ ความยืดหยุ่น ความสามารถปรับตัวที่เคยปรากฏในอดีตหายสาบสูญไป เนื่องจากความคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ระหว่างองค์ความ รู้ คุณลักษณะทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทางสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิต และปฏิสัมพันธ์กับความเป็นจริงทางชีวภาพและกายภาพ ได้ถูกละเลย และ/หรือสูญสิ้นไป
สังคมมนุษย์ปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับสงคราม ที่มีความรุนแรงยิ่งกว่าสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งคือสงครามความไม่มั่นคงทางนิเวศ ภัยคุกคามทางอากาศในสงครามนี้ ไม่ใช่เครื่องบินทิ้งระเบิดหรือขีปนาวุธ แต่กลับเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนและการลดลงของชั้นโอโชนในบรรยากาศ ขณะที่ภัยภาค พื้นดินมาจากการทำลายป่าไม้ การชะล้างพังทลายของหน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ภัยทางน้ำคือความเสื่อมโทรมของพื้นที่ต้นน้ำและทรัพยากรน้ำ น้ำท่วมและภัยแล้ง ภัยคุกคามเหล่านี้ ผนวกเข้ากับภัยคุกคามจากจำนวนประชากรที่มากเกิน การบริโภคที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น และความยากจนข้นแค้นแสนสาหัส ต้องถือว่าเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ดังนั้นการสร้างความมั่นคงทางนิเวศ จำต้องเป็นเสาหลัก ในยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงแห่งรัฐ ตามแนวคิดนี้ สังคมมีความจำเป็นต้องคิดออกไปนอกกรอบแนวคิดดั้งเดิม เกี่ยวกับหลักการของความมั่นคง จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ที่เป็นพื้นฐานของการกินดีอยู่ดีของคนในสังคม ปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่ง และประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น มลภาวะ อุบัติภัย มหันตภัยทั้งที่มาจากธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน
ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดของสังคมไทยคือ บูรณาการการสร้างความมั่นคงทางนิเวศ ให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จำเป็นต้องให้ลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้
1.ทรัพยากรน้ำ ยกระดับประสิทธิภาพในการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ต้องไม่พิจารณาแต่เฉพาะน้ำหรือปรากฏการณ์น้ำท่วมหรือภัยแล้งเท่านั้น แต่ต้องเป็นระบบการจัดการลุ่มน้ำที่บูรณาการ ที่หมายรวมทั้งพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในส่วนของทรัพยากรน้ำ จำเป็นต้องใช้ระบบการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ที่รวมถึงการควบคุมและป้องกันน้ำท่วม/ภัยแล้ง ระบบเตือนภัยน้ำท่วม/ภัยแล้ง ปรับปรุงประสิทธิภาพระบบชลประทาน ระบบการเก็บกักและผันน้ำ และใช้ระบบการจัดการน้ำ ที่เน้นการจัดการด้านอุปสงค์ ที่ให้ความสำคัญกับการลดความต้องการน้ำ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ แทนการจัดการด้านอุปทาน ที่เคยถือปฏิบัติต่อกันมา ที่เน้นแต่การเพิ่มปริมาณน้ำ เพื่อตอบสนองความต้องการ ซึ่งมีแต่จะเพิ่มขึ้นเพียงถ่ายเดียว
2.ภาคกสิกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและกสิกรรายย่อยในการปรับตัวรับมือ โดยให้ความสำคัญกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ทนอุณหภูมิที่สูงขึ้น หรือพันธุ์ที่สามารถปรับตัวได้ดีทั้งกับสภาวะน้ำท่วม/ภัยแล้ง และให้ผลผลิตสูง โดยให้ลำดับความสำคัญกับพันธุ์พืชพื้นเมืองที่เคยถูกละเลยไป ให้ความสำคัญกับกสิกรรมอินทรีย์ ที่เน้นคุณภาพผลผลิต ที่มีทั้งความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวโน้มการบริโภคที่ปรากฏทั่วโลก สร้างระบบการเตือนภัยล่วง หน้า ระบบชลประทานและการใช้ที่ดินซึ่งมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งระบบการประกันความเสียหายต่อผลผลิตกสิกรรม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน
เป้าหมายหลักคือความมั่นคงทางอาหาร ที่หมายรวมถึง ศักยภาพทางกสิกรรมและการผลิต ผลผลิตอาหารในปริมาณที่เพียงพอ อย่างคงที่สม่ำเสมอ การเข้าถึงแหล่งอาหาร หรือมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำให้ได้อาหารที่มีคุณค่าเหมาะสม ของสังคมในระดับต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ที่ต้องเชื่อมโยงกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงและการคาดการณ์ผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศไทยยังคงความสามารถเป็น “ครัวโลก” ที่ประชาคมโลกสามารถพึ่งพาทั้งในยามปกติและทุกข์เข็น
3.ภาคป่าไม้ พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับไฟป่าและดินถล่ม จากรายงานการวิเคราะห์ล่าสุดของกรมทรัพยากรธรณี (พ.ศ. 2550) ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงภัยจากดินถล่มมากถึงกว่า 2,000 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 45 จังหวัดของภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง และอีก 6 จังหวัดทางฝั่งอันดามัน นอก จากนี้ ยังจำเป็นต้องจัดระบบการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ ที่เสื่อมโทรมทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ที่กอปรทั้งกลไกทางนโยบายการควบคุมและสั่งการและมาตรการบนฐานแรงจูงใจ โดยกระบวนการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ทั้งที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมทั้งต้องลงมือทำในทันที
4.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปรับใช้แผนการจัดการพื้นที่ชายฝั่งแบบบูรณาการ ที่รวมถึงการอนุรักษ์ การฟื้นฟูฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน
5.ภาคพลังงาน การประหยัดพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการด้านอุปสงค์เพื่อลดความต้องการพลังงานลง และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด จำเป็นต้องถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต้องมีองค์ประกอบทั้ง การสร้างองค์ความรู้ที่ยังคงขาดหายไป การสื่อสารข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ เพื่อสร้างความตระหนักร่วมกันและความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้า กำหนดกรอบนโยบาย พร้อมทั้งการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อนำสังคมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ มีความมั่นคงด้านพลังงานที่แท้จริง ภายใต้กรอบเวลาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านพลังงาน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ที่สังคมโลกได้กำหนดขึ้นร่วมกัน
6.ภูมิคุ้มกันทางสังคม ความเข้มแข็ง ความสามารถปรับตัว และความยืดหยุ่นของสังคม ต่อการเผชิญ หน้ากับความเสี่ยงทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม รวมถึงภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งชุมชนในชนบทและเมือง พร้อมทั้งสุขภาวะของสังคม ขยายและพัฒนาระบบเตือนภัยจากโรคระบาด การตรวจติดตามประเมินสุขภาวะของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง รณรงค์สร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่มีต่อความไม่มั่นคงทางนิเวศ สร้างระบบป้องกันและควบคุมภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ที่มีประสิทธิภาพ
7.โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบป้องกันพื้นที่ชายฝั่งที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อ่าวไทยตอนใน ตั้งแต่ปากน้ำบางปะกงถึงปากน้ำเพชรบุรี ระบบลอจิสติกที่จะยังคงสามารถใช้การได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากมหันตภัยธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน
ปัจจัยตัดสินความสำเร็จเพื่อแก้วิกฤติของสังคมไทยต่อความไม่มั่นคงทางนิเวศคือ ความตระหนักรู้ต่อปัญหา ผนวกเข้ากับความกล้าหาญต่อการตัดสินใจปฏิบัติการในทันที ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อม การลดความเปราะบาง การเสริมสร้างความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับตัวและการเยียวยาแก้ไขบรรเทา ต้องถือว่าความมั่นคงทางนิเวศ มีลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่สุด ต้องไม่มีการขยายหรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจนเกินเลยกว่าเหตุ จากกระแสความตื่นตระหนกต่อภัยพิบัติจากธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน แต่ต้องถือว่าเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม ตั้งแต่ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ พร้อมทั้งความร่วมมือกับประชาคมภูมิภาคและโลก ที่ต้องลงมือทำหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่มั่งคงทางนิเวศที่จะเกิดขึ้น ตามหลักการ “ความรับผิดชอบร่วมกัน บนปฏิบัติการที่แตกต่างหลากหลาย” ไม่ใช่ให้ “วัวหายแล้วจึงล้อมคอก” หรือ “ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา” แต่จำเป็นต้อง “กันเอาไว้ดีกว่าแก้” ดังที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยสั่งเคยสอนให้จดจำและใช้มาโดยตลอด