มาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม
มาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัย และฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
(1) ชะลอการชำระค่าสาธารณูปโภค (เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์) จนกว่าสถานประกอบการจะสามารถกลับมาประกอบการได้ตามปกติ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ
(2) มอบหมายศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมพิจารณาช่วยเหลือการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ และสินค้าในคลังสินค้า ออกจากพื้นที่อุทกภัย ไปจัดเก็บในพื้นที่ปลอดภัย และเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อุทกภัยโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเสียหายของเครื่องจักร อุปกรณ์
(3) มอบหมายสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการป้องกันมิจฉาชีพที่จะเข้ามาโจรกรรมสินค้า และทรัพย์สินมีค่าภายในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะในนิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรม
(4) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาติดตามการจ่ายสินไหมทดแทน และแก้ไขข้อพิพาทระหว่างโรงงานกับบริษัทประกัน
(5) มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่าให้กับผู้เชี่ยวชาญ/ช่างจากต่างประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมผู้เชี่ยวชาญ/ช่างในประเทศ จากภาคการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อเข้าซ่อมแซม และฟื้นฟูเครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
(6) ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกประกาศยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ทุกประเภทที่นำเข้ามาเพื่อทดแทน/ ซ่อมแซมเครื่องจักรที่เสียหาย สำหรับโรงงานทุกประเภทที่ประสบอุทกภัย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นหน่วยงานให้การรับรองความเสียหาย
(7) ในกรณีที่เกิดการขาดแคลนรถยนต์สำหรับผู้บริโภคในประเทศอันเนื่องมาจากโรงงานรถยนต์ประสบอุทกภัยและเพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งระบบ เห็นควรมอบให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกประกาศยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนรถยนต์ที่นำเข้ามาประกอบรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศในจำนวนและอัตราที่เหมาะสม ให้กับผู้ประกอบการรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ประสบความเสียหายจากอุทกภัย
(8) มาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม โดยจัดทำเป็นโครงการเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูสถานประกอบการที่เป็น SMEs และ OTOP ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมทั่วประเทศ ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติได้เร็วที่สุด ในวงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาท
(9) เนื่องจากมีแรงงานที่อาจประสบการว่างงานมากถึง 660,000 คน จึงเห็นควรให้มีมาตรการจัดอบรมเพิ่มทักษะ หรือหลักสูตรที่จำเป็นให้แรงงาน โดยรัฐสนับสนุนค่าฝึกอบรม และค่าอาหารระหว่างการอบรม ในช่วงที่สถานประกอบการหยุด/ชะลอการผลิต ตลอดจนการจัดส่งแรงงานที่หยุดงานไปเป็นกำลังการผลิตในโรงงานที่ขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงแรงงานรับไปพิจารณาดำเนินการ
(10) มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน สำหรับช่วยเหลือ ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประกอบการ และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรม (ภาคเอกชน) วงเงินรวมประมาณ 250,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท และสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการและผู้พัฒนานิคมฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของภาครัฐ ในวงเงินส่วนที่เหลือประมาณ 230,000 ล้านบาท
2. มาตรการช่วยเหลือของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(1) ขออนุมัติวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนชำระยาวให้กับการ นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ในการฟื้นฟูนิคมที่ประสบความเสียหาย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ผู้พัฒนานิคมเดิมขาดความสามารถในการเข้าไปดูแลแก้ไขความเสียหายจากอุทกภัย กลุ่มที่การนิคมฯ เข้าร่วมดำเนินการ และมีความต้องการให้การนิคมฯ เข้าไปช่วยเหลือ และกลุ่มที่การนิคมฯ ดูแลและพัฒนาเอง โดยมีวงเงินสินเชื่อ 4,500 ล้านบาท
(2) เนื่องจากการนิคมฯ มีความจำเป็นต้องเร่งรัดเข้าไปฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจึงเห็นควรมอบหมายคณะกรรมการการนิคมฯ พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษหรือวิธีกรณีพิเศษเพื่อให้ทันกับสถานการณ์
(3) ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาผ่อนผันให้การนิคมฯ ไม่ต้องส่งเงินจากกำไรสุทธิประจำปีให้กระทรวงการคลัง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องนำเงินส่วนนี้ไปดำเนินการบริหารจัดการและฟื้นฟูนิคมที่ได้รับความเสียหาย
3. มาตรการช่วยเหลือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(1) มาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤต อุทกภัย
(1.1) มาตรการทั่วไปสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยกรณีผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยประสงค์จะลงทุนเพื่อทำการผลิตชั่วคราวหรือลงทุนใหม่เพื่อฟื้นฟูธุรกิจในประเทศไทย เห็นควรให้ได้รับยกเว้นและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้
ทั้งนี้ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรสำหรับทุกเขต และผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปี 2555
(1.2) มาตรการทั่วไปสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่หรือผู้ประกอบการที่ลงทุนอยู่แล้วที่ไม่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย กรณีผู้ประกอบการรายใหม่หรือผู้ประกอบการที่ลงทุนอยู่แล้วที่ไม่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ประสงค์จะลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนในประเทศไทย เห็นควรให้ได้รับยกเว้นและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้
ทั้งนี้ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรสำหรับทุกเขต และผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปี 2555
(1.3) มาตรการเฉพาะประเภทกิจการสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับกิจการผลิตรถยนต์ทั่วไป เห็นควรให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ทุกเขต โดยจำกัดวงเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นร้อยละ 100 ส่วนกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดอยู่แล้ว จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์เดิมต่อไป สำหรับอุตสาหกรรมอื่น ให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาเป็นรายกรณี
(1.4) มาตรการสำหรับนิคม/เขตอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย : หากนิคม/เขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและประสงค์จะลงทุนเพื่อพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนระบบสาธารณูปโภคเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เดิมหรือขยายพื้นที่เพิ่มเติม เห็นควรให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และขยายวงเงินยกเว้นภาษี จากเดิมได้รับยกเว้นร้อยละ 100 เป็นร้อยละ 200 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
(2) มาตรการฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ซึ่งจะต้องดำเนินการในเชิงรุกอย่างจริงจัง เพื่อรักษาฐานการผลิต การส่งออก การจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รับผิดชอบดำเนินการ โดยมีกิจกรรมหลัก ดังนี้
(2.1) ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อชั้นนำของโลกไปยังกลุ่มเป้าหมายในเชิงรุกและเป็นระบบ โดยดำเนินการร่วมกับบริษัทสื่อสารมวลชนมืออาชีพระดับโลก
(2.2) จัดคณะผู้บริหารระดับสูงของประเทศไทยเดินทางไปชี้แจงสถานการณ์และมาตรการต่างๆ ของรัฐต่อนักลงทุนและกลุ่ม Influencer เช่น บริษัทที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทที่ปรึกษากฎหมายและบัญชี สถาบันการเงิน บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในประเทศเป้าหมาย
(2.3) จัดนิทรรศการ BOI FAIR ในช่วงต้นปี 2555 และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนภายหลังผ่านพ้นวิกฤตอุทกภัย
(2.4) ประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการอื่น ได้แก่ กรมส่งเสริมการส่งออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมดำเนินการฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน