ย้อนมติครม.17 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557
มติครม.17 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557
คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557
2. เห็นชอบมอบหมายให้กระทรวง กรม องค์กรและหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น ๆ ถือปฏิบัติตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และให้จัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณรองรับแผนดังกล่าว
3. เห็นชอบมอบหมายให้สำนักงบประมาณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่ระยะก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และการฟื้นฟูบูรณะภายหลังภัยสิ้นสุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติสุขได้โดยเร็ว
4. เห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานระดับกระทรวง จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับยุทธศาสตร์และบรรจุโครง
การที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปี รวมทั้งกำหนดให้เรื่องดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดร่วม (Joint KPI) ระหว่างหน่วยงานด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) รายงานว่า
1.1 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 กำหนดให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีหน้าที่ในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เสนอ กปภ.ช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการจัดทำแผนฯ ให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ (วันที่ 5 พฤศจิกายน 2552) โดย กปภ.ช. ได้ประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติมีหน้าที่ในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตามแนวนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ อาสาสมัครองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานองค์การระหว่างประเทศและเครือข่าย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557
1.2 คณะอนุกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้ประชุมพิจารณาเนื้อหาร่างแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 และมีมติเห็นชอบร่างแผนฯ ดังกล่าว ซึ่ง กปภ.ช. ได้ประชุมพิจารณาร่างแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552 มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างแผนฯ ดังกล่าว แต่ขอให้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พิจารณาเพิ่มเติมรายละเอียดของร่างแผนฯ เพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งการพิจารณาขอมติคณะรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ และคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้ประชุมครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 มีมติให้นำร่างแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 พร้อมทั้งคำขอมติคณะรัฐมนตรีเสนอ กปภ.ช. พิจารณาอีกครั้ง โดย กปภ.ช. ได้มีมติเห็นชอบกับร่างแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 และการขอมติคณะรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติในคราวการประชุม ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2552
2. แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 มีเนื้อหาประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ หลักการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระบวนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกระบวนการป้องกันและภัยด้านความมั่นคง สรุปได้ดังนี้
ส่วนที่ 1 ว่าด้วยหลักการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีขอบเขตของสาธารณภัย มี 2 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณภัย และด้านความมั่นคง
ด้านสาธารณภัย กำหนดไว้ 14 ประเภทภัย ดังนี้ 1) อุทกภัย และดินโคลนถล่ม 2) ภัยจากพายุหมุนเขตร้อน 3) ภัยจากอัคคีภัย 4) ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย 5) ภัยจากการคมนาคมและขนส่ง 6) ภัยแล้ง 7) ภัยจากอากาศหนาว 8) ภัยจากไฟป่าและหมอกควัน 9) ภัยจากแผ่นดินไหว และอาคารถล่ม 10) ภัยจากคลื่นสึนามิ 11) ภัยจากโรคระบาดในมนุษย์ 12) ภัยจากโรค แมลง สัตว์ ศัตรูพืชระบาด 13) ภัยจากโรคระบาดสัตว์ และสัตว์น้ำ 14) ภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ
ด้านความมั่นคง กำหนดไว้ 4 ประเภทภัย ดังนี้ 1) การป้องกันและระงับการก่อวินาศกรรม 2) การป้องกันและบรรเทาภัยจากทุ่นระเบิดกับระเบิด 3) การป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศ 4) การป้องกันและระงับการชุมนุมประท้วงและก่อการจลาจล
ทั้งนี้ แหล่งงบประมาณ ประกอบด้วย
- งบประมาณดำเนินการตามยุทธศาสตร์ คือ
(1) งบประมาณปกติของหน่วยงานส่วนกลาง
(2) งบประมาณจังหวัดและงบประมาณของกลุ่มจังหวัด
(3) งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- งบประมาณดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการจัดการหลังเกิดภัย คือ
(1) งบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
(2) งบกลาง
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ มี กปภ.ช. กำกับดูแลระดับประเทศ และแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการประสานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ” เพื่อทำหน้าที่ประสานการขับเคลื่อนตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
ส่วนที่ 2 ว่าด้วยกระบวนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำหนดขอบเขตการบริหารจัดการสาธารณภัยไว้ 14 ประเภทภัย ทั้งในเขตจังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยระบุหน่วยปฏิบัติการหลัก หน่วยปฏิบัติการ หน่วยสนับสนุน หน่วยบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูอย่างชัดเจน ดังนี้
ในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบ หากเกินขีดความสามารถ ให้รายงานขอรับการสนับสนุนจากผู้อำนวยการกลาง หรือ ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และในกรณีเกิดสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี
ในระดับกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรับผิดชอบ หากเกินขีดความสามารถ ให้รายงานขอรับการสนับสนุนจากผู้อำนวยการกลาง หรือผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และในกรณีเกิดสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี
ส่วนที่ 3 ว่าด้วยกระบวนการป้องกันและบรรเทาภัยด้านความมั่นคง และภัยด้านความมั่นคง 4 ประเภท ทั้งในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร กำหนดขอบเขตการบริหารจัดการโดยระบุหน่วยปฏิบัติการหลัก หน่วยปฏิบัติการ หน่วยสนับสนุน หน่วยบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับส่วนที่ 2