ครม.แต่งตั้ง ปคอป.
วันที่ 4 ตุลาคม 2554 คณะรัฐมนตรี รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 179 / 2554 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ดังนี้
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงและข้อเท็จจริงที่รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ถึงสาเหตุของปัญหา โดยมีเป้าหมายที่จะให้เกิดความเข้าใจร่วมกันและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอันจะนำไปสู่การป้องกันความรุนแรงไม่ให้เกิดซ้ำอีกในอนาคต และส่งเสริมความปรองดองของประเทศชาติในระยะยาวต่อไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554 คอป. ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตยเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อมอบให้รัฐบาลรับไปพิจารณาให้เป็นรูปธรรม รวม 7 ประการ เพื่อสร้างบรรยากาศการปรองดองของประเทศให้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลเห็นว่าการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตยเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23-25 สิงหาคม 2554 เนื่องจากเป็นที่ตระหนักแล้วว่าการบริหารราชการแผ่นดิน การแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ การรักษาความมั่นคงแห่งรัฐและการพัฒนาประเทศ ไม่อาจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม และคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ได้มีมติรับทราบข้อเสนอแนะของ คอป. รวม 7 ประการดังกล่าว และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) รับข้อเสนอแนะของ คอป. ไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เป็นไปตามหลักนิติธรรมและความเสมอภาค เพื่อนำไปสู่ความปรองดองและความสมานฉันท์ของคนในชาติต่อไป
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “ปคอป.” ประกอบด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปลัดกระทรวงการกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และ นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยกรรมการ
2. ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
2.1 พิจารณารายละเอียดข้อเสนอแนะของ คอป. เพื่อมอบหมายการดำเนินการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปโดยเร็ว
2.2 เสนอแนะมาตรการเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ คอป. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้เป็นกลไกเสริมกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ซึ่งมีข้อจำกัดในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งที่มีสาเหตุและลักษณะที่ซับซ้อน เพื่อแก้ไขปัญหาและประคับประคองสังคมในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งของคนในสังคมไปสู่สันติภาพและความมั่นคง
2.3 เสนอแนะมาตรการ กลไก และวิธีการเพื่อส่งเสริมให้การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่จะให้เกิดความปรองดองในระยะยาว
2.4 ขอความร่วมมือหรือประสานงานกับ คอป. หน่วยงานของรัฐ เอกชน ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คอป.
2.5 ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ตามข้อเสนอแนะของ คอป. เป็นระยะพร้อมทั้งเสนอปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข
2.6 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคล เพื่อดำเนินการใดหรือตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย
2.7 เรียกให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ส่งข้อมูลหรือเอกสารใด ๆ หรือเชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐมาให้ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน
2.8 ดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่บรรลุผลสำเร็จ
3. ในการเสนอแนะการดำเนินการ มาตรการ วิธีการ หรือข้อแนะนำ ตลอดจนมีปัญหาขัดข้องในการดำเนินการเรื่องใด ให้ประธานกรรมการรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการหรือสั่งให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
4. ให้คณะกรรมการฯ ดังกล่าว ได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ในคราวที่มีการประชุมในอัตรา ประธานกรรมการ 10,000 บาท รองประธานกรรมการ 9,000 บาท และกรรมการ 8,000 บาท และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ หรือตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย ให้เบิกจ่ายตามระเบียบของทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป