จากเรื่องไข่ไก่ถึงการยกเลิกภาษีบ้าน และรถ ผูกขาดทางการค้า หรือให้ค่าประโยชน์ประชาชน !!
ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหนดัชนีชี้วัดค่าครองชีพที่คลาสสิคที่สุดหนีไม่พ้นราคา “ไข่ไก่” ด้วยเพราะ “ไข่ไก่” เป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารที่ทุกบ้านทุกชนชั้นไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำ รวยเพียงใดจะต้องมี “ไข่ไก่” สำรองไว้ในครัวอยู่เสมอแต่ใครเลยจะเชื่อว่าประเทศไทยที่เป็นทั้งประเทศ เกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และเป็นครัวของโลก แต่คนในประเทศกลับต้องควักกระเป๋าซื้อ “ไข่ไก่”ในราคาแพง โดยเฉพาะราคาไข่ ในช่วงรัฐบาลของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่พุ่งสูงถึงฟองละ 4 บาทกว่า จนนำไปสู่การออกมาตรการ “ชั่งไข่”และแม้ว่าขณะนี้จะมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การบริหารงานของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะแก้ไข ปัญหา “ไข่ทองคำ”ได้
ก่อนหน้านี้ได้มีงานวิจัยของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปอยู่หนึ่งชิ้นที่ได้จัด ทำขึ้นเพื่อศึกษากลไกและกระบวนการของการผูกขาดทางการค้าไว้อย่างละเอียด โดย “กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์” ผู้วิจัย ได้ทำการศึกษา พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 และการผูกขาดในภาคเกษตร : กรณีศึกษาตลาดไข่ไก่” ซึ่งถือเป็นงานวิจัยที่ทำให้เห็นภาพของการกีดกันทางการค้าและการผูกขาดตลาด ของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น เพราะงานวิจัยชิ้นนี้เป็นต้นแบบของการชำแหละกฏหมายเรื่องการผูกขาดทางการค้า ในหลากหลายธุรกิจ
ในงานวิจัยของ“กฤดิกร” ระบุว่าปัจจัยสำคัญของการกีดกันและผูกขาดทางการค้ามาจากข้อบกพร่องของพระราช บัญญัติแข่งขันทางการค้าพ.ศ. 2542 ที่ไม่สามารถเข้าไปจัดการสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในตลาดได้ เพราะแม้ว่าจะมีข้อกำหนดเพื่อกำกับและควบคุมพฤติกรรมที่เป็นการจำกัดแข่งขัน ทางการค้าทั้ง 4 กลุ่มประกอบด้วย 1.การใช้อำนาจเหนือตลาด 2.การควบรวมธุรกิจ 3.การกระทำการตกลงร่วมกัน และ 4.การกระทำที่เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม
แต่กระนั้นพ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมีปัญหาในทางปฎิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่มาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีปัญหาในเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เนื่องจากโครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้ ถูกกำหนดให้มีจำนวนกรรมการทั้งสิ้น 18 คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ และมีตัวแทนจากภาคเอกชนถึง 6 คน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้บริหารอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งสิ้น แต่ในจำนวนกรรมการทั้งหมดกลับไม่มีตัวแทนของผู้บริโภคแม้แต่รายเดียว
ด้วยเหตุนี้เองทำให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าถูกแทรกแซงจากการเมืองได้ ง่าย ในอดีตพบกรณีบริษัทที่ถูกร้องเรียนมีความเกี่ยวโยงกับนักการเมืองที่ดำรง ตำแหน่งในรัฐบาล ทั้งในรูปแบบของการที่ญาติของนักการเมืองเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการในบริษัท หรือการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทหรือตัวบริษัทเองบริจาคเงินให้แก่พรรคการ เมืองที่เป็นรัฐบาล
ปัญหาราคาไข่ไก่ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่แพงได้ มาจากการ “ผูกขาด” ในตลาดไข่ไก่ โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องดังกล่าวเริ่มขึ้นในปี 2544 ได้เกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดทำราคาไข่ไก่ตกต่ำ ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าว่ามีการ ทุ่มตลาดในตลาดไข่ไก่โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ กระทั่งเกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อช่วย เหลือเกษตรกรรายย่อย จนนำไปสู่การเกิดระบบโควตามาใช้จำกัดปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เพื่อลดจำนวนไก่สาวและปริมาณไข่ไก่ในตลาด โดยมีการคณะกรรมการกำหนดแนวทางการผลิตและการตลาดไก่ไข่และผลิตภัณฑ์
ในการจัดสรรโควตาปรากฏว่ามีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เพียง 9 รายเท่านั้น ประกอบไปด้วย บ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) บ.อาหารเบทเทอร์ จำกัด ในเครือเบทาโกร บ.แหลมทองฟาร์ม จำกัด บ.ฟาร์มไก่พันธุ์เกิดเจริญ จำกัด บ.ฟาร์มกรุงไทย จำกัด บ.สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด บ.ยูไนเต็ดฟิดดิ้ง จำกัด บ.ยุ่สูงอาหารสัตว์ จำกัด หจก.อุดมชัยฟาร์ม โดยบ.เจริญโภคภัณฑ์ ฯ ได้รับการจัดสรรโควตาถึงร้อยละ 41 จากจำนวนพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่สามารถนำเข้าได้ทั้งหมด
พฤติกรรมเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนยังไม่จบสิ้น เพราะในปีพ.ศ. 2549 ในสมัยพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ พ.ศ. 2549 โดยระเบียบดังกล่าวกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คือ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า Egg Board ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลตลาดไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ทั้งระบบโดยที่ยังคงโควตาให้ เดิมเอาไว้ พร้อมทั้งแต่งตั้งตัวแทนบริษัททั้ง 9 มานั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาของกรรมการชุดนี้อีกด้วย
ปฎิเสธไม่ได้ว่าบริษัท ยักษ์ใหญ่ทั้ง 9 รายมีอำนาจการผูกขาดในตลาดไข่ไก่ไว้ในมือ ซึ่งทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ได้ด้วยตนเอง ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คือการซื้อลูกไก่พันธุ์ไข่จากบริษัททั้ง 9
ในสถานการณ์ดังกล่าวทำให้อำนาจการต่อรองตกอยู่ที่อยู่ที่ผู้ขาย(บริษัทยักษ์ ใหญ่) ขณะที่ผู้ซื้อ(เกษตรกร)ไม่มีทางเลือก จึงเป็นที่มาของ “การขายพ่วง” (Tie-in Sales) คือการซื้อลูกไก่พ่วงอาหารสัตว์ แทนที่เกษตรกรจะมีช่องทางในการลดต้นทุนการผลิตโดยการผลิตอาหารสัตว์ใช้เอง แต่กลับต้องซื้ออาหารสัตว์พ่วงไปด้วย เพราะหากไม่ซื้ออาหารสัตว์กับทางบริษัทผู้ขายลูกไก่จะทำให้บริษัทนั้นไม่ยอม ขายลูกไก่ให้กับเกษตรกรทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือกต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอม
ใน ขณะเดียวกันทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่และเกษตรกรรายย่อยล้วนผลิตไข่ไก่เพื่อนำไป ขายในตลาดไข่ไก่เช่นเดียวกัน กรณีนี้จึงถือเป็นการทำลายเกษตรกรรายย่อยให้ตายไปจากอาชีพนี้ เพื่อที่ตนเองจะสามารถแสวงหากำไรสูงสุดจากการผูกขาดในตลาดไข่ไก่ได้ ปมปัญหาดังกล่าวทำให้จำนวนเกษตรกรระหว่างปี 2543-2547 ลดลงอย่างน่าใจหาย จาก 7,000 ราย เหลือเพียง 3,000 รายเท่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่จำนวน 113 ฟาร์ม ในนามบริษัท เอ เอฟ อี จำกัด ขอนำเข้าแม่พันธุ์ไก่ไข่จำนวน 58,100 ตัว โดยแบ่งโควตามาจากโควตาจำนวน 405,721 ตัว จากบริษัทยักษ์ใหญ่ 9 รายเดิม
แต่ กระนั้น Egg Board มีมติไม่อนุมัติคำขออนุญาต จนท้ายที่สุดบ.เอ เอฟ อี ฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่า Egg Board ไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองดังกล่าว อีกทั้งการกำหนดโควตายังไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนา ไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ พ.ศ. 2549 จากการกดดันของสังคมทำให้ในที่สุดวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกระบบโควตาการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ รวมทั้งสั่งการให้ทบทวนบทบาทและแนวทางในการดำเนินงานของ Egg Board และให้กระทรวงพาณิชย์นำ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้ในเรื่องการตกลงร่วมกันลดปริมาณการผลิตลูกไก่ไข่ และพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมทางการค้า เช่น การขายพ่วงลูกไก่กับอาหารสัตว์ ถือเป็นการสิ้นสุดยุคการผูกขาดตลาดไข่ไก่อันเกิดจากการใช้ระบบโควตาของ รัฐบาล
แม้ว่าระบบโควตาที่ถือเป็นกรงจองจำศักยภาพในการแข่งขันของเกษตรกร จะหมดไปแล้ว แต่ยังมีโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดใหม่ จะต้องเข้ามาแก้ไข ซึ่งก็คือการปรับปรุงพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ. 2542
ซึ่งในงาน วิจัยของ “กฤดิกร” ที่นำเสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปนั้นได้นำเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาที่ รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งดำเนินการคือ 1.ให้เพิ่มความผิดทางปกครองเพื่อให้สามารถเอาผิดกับพฤติกรรมการกีดกันทางการ ค้าซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจรัฐได้ 2.ยกเลิกการจำกัดสิทธิในการฟ้องร้องกันเองของเอกชนเพื่อให้เอกชนสามารถหยิบ กฎหมายฉบับนี้ไปบังคับใช้และส่งเสริมการแข่งขันในตลาดให้มากขึ้น 3. ให้กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมการกระทำขององค์กรของรัฐ 4.แก้ไขประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยลดสัดส่วนส่วนแบ่งตลาด 5.แก้ไขบทกำหนดโทษของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้บทลงโทษในส่วนที่เป็นค่าปรับเป็นสัดส่วนกับขนาดของธุรกิจที่ทำการละเมิด กฎหมายฉบับนี้ 6.ยกเลิกการปกปิดข้อมูลที่สำนักแข่งขันทางการค้าได้มาจากผู้ประกอบการ 7.เปลี่ยนสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้เป็นองค์กรอิสระ โดยไม่ขึ้นกับการเมือง
รวมถึงข้อเสนอเพื่อการส่งเสริมการแข่งขันในตลาด ไข่ไก่ โดยขอให้เปิดให้มีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่อย่างเสรีและไม่นำระบบโควตา จำกัดปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่กลับมาใช้อีก และภาครัฐควรเข้าไปมีบทบาทส่งเสริมการแข่งขันและควบคุมการผูกขาดในตลาดอาหาร สัตว์
เรื่องนี้เป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลว่าจะกล้าเดินหน้าปรับปรุงกฎหมาย ที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าเป็น “ทุน”สำคัญให้กับทุกพรรคการเมืองได้หรือไม่ เพราะนอกจาก “ไข่ไก่” แล้ว ยังมีสินค้าการเกษตรอีกหลายชนิดที่จะได้รับอานิสสงส์ด้วย อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐบาลจะอยู่ได้นานหรือ ไม่นั้นขึ้นอยู่กับการสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน มากกว่าการลดภาษีสิ่งของเพียงชิ้นหรือสองชิ้นเท่านั้น!!