ถอดรหัสบึ้ม 6 ปีตากใบบรรลุ 5 เป้าหมาย จับตา 64 ชุมชนไทยพุทธสุดวิกฤติ!
กล่าวคือเกิดระเบิดขึ้นอีกในสวนยางพาราที่หมู่บ้านยาแลเบาะ หมู่ 5 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทำให้ลูกจ้างกรีดยางได้รับบาดเจ็บ ขาข้างขวาเกือบขาด จากนั้นยังมีบึ้มอีกลูกในสวนยางพาราบ้านไอร์ตุย หมู่ 5 ต.ลาโล๊ะ อ.รือเสาะ เช่นกัน ทำให้วัวของชาวบ้านขาขาดไปอีก 1 ตัว
และล่าสุดเมื่อเช้าวันพุธที่ 27 ต.ค. ที่บ้านบากาลูวะ หมู่ 2 ต.ตะโละหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา มีวัวเหยียบกับระเบิดในสวนยางพาราขาขาดซ้ำอีก ถึงตรงนี้ยังไม่แน่ว่าระเบิดที่บ้านบากาลูวะจะเป็นลูกสุดท้ายหรือไม่ หรือยังมีอีกหลายลูกถูกวางเอาไว้รอคนหรือสัตว์เลี้ยงเคราะห์ร้ายไปเหยียบอีก หลายพื้นที่ในวันนี้จึงกลายเป็น "โซนอันตราย" คล้ายๆ ตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านที่มีการสู้รบกันเลยทีเดียว
จากสถานการณ์ทั้งหมดสรุปได้ว่า เฉพาะ จ.นราธิวาส มีการลอบวางระเบิดในท้องที่ 10 อำเภอจาก 13 อำเภอ ส่วน จ.ยะลา พบระเบิด 4 จุด กู้ได้ 2 จุด ในท้องที่ อ.รามัน ขณะที่ จ.ปัตตานี เกิดระเบิด 2 จุดในท้องที่ อ.กะพ้อ
ที่น่าสนใจคือสวนยางพาราที่ถูกวางระเบิดเกือบทั้งหมดเป็นสวนยางของชาวบ้านไทยพุทธ และผู้บาดเจ็บที่เป็นชาวบ้าน 14 ราย (ตามข้อมูลของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร : ศจฉ.พตท.) ก็เป็นชาวไทยพุทธถึง 13 คน มีทั้งที่เป็นเจ้าของสวนยางและลูกจ้างกรีดยาง
ส่วนการติดตามคดี คงต้องหวังพึ่งเบาะแสจากเหตุระเบิดในสวนยางที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ซึ่งคาดว่าคนร้ายพลาดเหยียบกับระเบิดจนตัวเองขาขาด เนื่องจากพบ "ขา" ข้างหนึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ หากติดตามได้ว่าเป็น "ขา" ของใคร ก็น่าจะสาวถึงขบวนการที่ก่อเหตุรุนแรงพร้อมกันกว่า 26 จุดครั้งนี้ได้
5 เป้าหมายกลุ่มป่วนใต้บึ้มตากใบ 26 จุด
ปฏิบัติการลอบวางระเบิดเพื่อให้เกิดเหตุพร้อมๆ กันในหลายอำเภอ ห่างหายไปนานพอสมควรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสร้างสถานการณ์เที่ยวนี้ ในจังหวะเวลาเช่นนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่าเป็น "โคออร์ดิเนต แอทแทค" นั้น จึงสามารถ "ถอดรหัส" และอ่าน "เป้าหมาย" ได้หลายประการ กล่าวคือ
1.เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดในวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งเป้าหมายจริงๆ น่าจะต้องการให้เกิดในวันที่ 25 ต.ค.ทั้งหมด แต่บางจุดชาวบ้านหรือสัตว์เลี้ยงอาจไปเหยียบกับระเบิดก่อนหรือหลังวันที่ 25 แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก เช่นนี้ชัดเจนว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุจงใจสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดกระแสในวาระครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งก็คือเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จนมีผู้เสียชีวิต 7 ราย และมีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมนับพันคนด้วยวิธีถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง เรียงซ้อนกันไปในรถยีเอ็มซีของทหาร เพื่อไปสอบปากคำที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนมีผู้ขาดอากาศหายใจตายเพิ่มอีก 78 ราย รวมเป็น 85 ชีวิต
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ตากใบนั้น สังคมนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบไม่มีใครพูดถึงแล้ว เพราะคดีในกระบวนการยุติธรรมทั้งแพ่งและอาญาก็สิ้นสุดไปเกือบหมด (อัยการสั่งงดสอบสวนและสั่งไม่ฟ้อง โดยที่ยังหาตัวคนผิดไม่ได้) การสร้างสถานการณ์ด้วยการลอบวางระเบิดหลายสิบจุด ครอบคลุมพื้นที่ 12 อำเภอ ครบทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเน้นเฉพาะ จ.นราธิวาส (จังหวัดที่เกิดเหตุการณ์ตากใบ) มากถึง 10 อำเภอ จึงสามารถสร้างกระแสให้สังคมหันกลับมาสนใจโศกนาฏกรรมตากใบที่ยังคงเป็นม่านหมอกมืดดำไม่ต่างจากการสูญเสีย 92 ชีวิตระหว่างการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างได้ผล
2.การลอบวางระเบิดในลักษณะกระจายไปในพื้นที่ 12 อำเภอ แสดงให้เห็นถึงความต้องการ "โชว์ศักยภาพ" ของกลุ่มก่อความไม่สงบว่า ยังคงมีแนวร่วมกระจายอยู่ทั่ว และก่อเหตุรุนแรงได้อย่างกว้างขวางโดยที่รัฐไม่สามารถสกัดกั้นได้ แม้จะเลือกจุดวางในสวนยางพาราที่ง่ายต่อการวาง เพราะห่างไกลจากบ้านเรือนประชาชน และไม่ได้อยู่บนถนนสายหลักที่มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอยู่ก็ตาม แต่ก็สร้างผลทางจิตวิทยาในแง่ของปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่ได้สูงมาก
3.การเจาะจงก่อเหตุในสวนยางพาราของชาวไทยพุทธ สะท้อนเจตนาของกลุ่มคนร้ายที่ต้องการกดดันชาวไทยพุทธให้ย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งในปีนี้นับเป็นอีกปีหนึ่งที่คนไทยพุทธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกรุกรานอย่างหนักและต่อเนื่อง ตั้งแต่การวางระเบิดในสวนยางพาราของพี่น้องไทยพุทธในท้องที่ อ.ธารโต จ.ยะลา ห้วงเดือน พ.ค.ถึง ก.ค.มากกว่า 5 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ขาขาดอีก 3 คน และการสังหารหมู่ 4 ศพชาวบ้านไทยพุทธครอบครัวสุดท้ายที่หมู่บ้านฮูแตยือลอ หมู่ 6 ต.บาเร๊ะใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา
4.การเลือกจังหวะเวลาก่อเหตุในเดือน ต.ค. นอกจากต้องการสื่อถึงเหตุการณ์ตากใบแล้ว ยังเป็นห้วงเวลาที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือน และอยู่ในช่วงของการเดินสายประกาศนโยบาย ซึ่งนโยบายสำคัญประการแรกของ พล.ท.อุดมชัย ก็คือ "การสร้างบรรยากาศความปลอดภัยในพื้นที่" ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ถือว่ากลุ่มก่อความไม่สงบได้ทำลายบรรยากาศนั้นเสียแล้ว
5.ระเบิดทั้งหมดที่คนร้ายใช้เป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่องที่ติดตั้ง "กับระเบิดแบบเหยียบ" เอาไว้ ซึ่งถือเป็นการพัฒนารูปแบบการประกอบระเบิด และเป็นระเบิดที่กลุ่มผู้ปฏิบัติงานเก็บกู้ทำลายล้างวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ไม่อยากให้มีในพื้นที่ เนื่องจากป้องกันยาก และไม่เลือกเป้าหมาย ประชาชนผู้บริสุทธิ์มีโอกาสตกเป็นเหยื่ออย่างง่ายดาย
เมื่อ "ถอดรหัส" ทั้งหมดแล้ว ต้องยอมรับว่าการก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบในครั้งนี้ นับว่าบรรลุเป้าหมายทั้ง 5 ประการอย่างสมบูรณ์ นับจากนี้จึงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ฝ่ายความมั่นคงจะปรับแผนและแก้สถานการณ์อย่างไร
เอ็กซเรย์ 64 ชุมชนไทยพุทธสุดเสี่ยง
ดังที่กล่าวแล้วว่า การลอบวางระเบิดเกือบทุกจุดพุ่งเป้าไปที่สวนยางพาราของพี่น้องไทยพุทธ ฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสะเทือนขวัญชุมชนที่เป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ถึงกับต้องเรียกประชุมผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจทุกหน่วยในพื้นที่ และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เพื่อปรับแผนการดูแลให้ความคุ้มครองชุมชนไทยพุทธให้รอบคอบรัดกุมยิ่งกว่าเดิม แต่ดูเหมือน จ.นราธิวาส กับปัตตานี ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ
"ทีมข่าวอิศรา" ได้รับข้อมูลที่สำรวจโดยหน่วยงานในพื้นที่ ระบุถึงชุมชนไทยพุทธที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกลอบยิงและทำร้ายในรูปแบบต่างๆ พบว่ามีถึง 64 ชุมชน กระจายอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
จ.ปัตตานี มีชุมชนไทยพุทธในพื้นที่เสี่ยง 25 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เมือง 1 หมู่บ้าน อ.ยะหริ่ง 5 หมู่บ้าน อ.หนองจิก 3 หมู่บ้าน อ.มายอ 3 หมู่บ้าน อ.โคกโพธิ์ 2 หมู่บ้าน อ.แม่ลาน 1 หมู่บ้าน อ.ปะนาเระ 2 หมู่บ้าน อ.ยะรัง 2 หมู่บ้าน อ.สายบุรี 1 หมู่บ้าน อ.ทุ่งยางแดง 3 หมู่บ้าน อ.ไม้แก่น 1 หมู่บ้าน อ.กะพ้อ 1 หมู่บ้าน
จ.ยะลา มีชุมชนไทยพุทธในพื้นที่เสี่ยง 15 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เมือง 3 หมู่บ้าน อ.กาบัง 1 หมู่บ้าน อ.รามัน 3 หมู่บ้าน อ.กรงปินัง 1 หมู่บ้าน อ.บันนังสตา 6 หมู่บ้าน อ.ธารโต 1 หมู่บ้าน
จ.นราธิวาส มีชุมชนไทยพุทธในพื้นที่เสี่ยง 24 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เมือง 1 หมู่บ้าน อ.ตากใบ 3 หมู่บ้าน อ.เจาะไอร้อง 3 หมู่บ้าน อ.ระแงะ 4 หมู่บ้าน อ.จะแนะ 3 หมู่บ้าน อ.แว้ง 5 หมู่บ้าน อ.สุไหงปาดี 2 หมู่บ้าน อ.สุคิริน 3 หมู่บ้าน
นับเป็นความเสี่ยงที่ท้าทายหน่วยงานความมั่นคงและแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ โดยมีชีวิตประชาชนตาดำๆ เป็นเดิมพัน!
-------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดกำลังตรวจสอบจุดเกิดเหตุระเบิดในสวนยางพาราในท้องที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันอังคารที่ 26 ต.ค.2553
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น