มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
วันที่ 20 กันยายน คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ตามที่ กระทรวงการคลังเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย จึงเห็นควรยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่าย เสมือนเป็นค่าลดหย่อน สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ตามเงื่อนไข ดังนี้
1. ยกเว้นเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
2. ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีเป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่องกันตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท (สำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ใช้สิทธิได้ทันทีหรือในปีถัดไปก็ได้)
3. อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดมีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท
4. ผู้มีเงินได้ต้องไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือไม่มีชื่อเป็น หรือเคยเป็น “เจ้าบ้าน” ในทะเบียนบ้านที่ใช้เป็นหลักฐาน ยกเว้นถ้าพิสูจน์ได้ว่าไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตนเองหรือคู่สมรสตามทะเบียนบ้าน
5. กรณีผู้มีเงินได้มีคู่สมรส ให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยได้เพียงแห่งเดียว
6. ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมซื้อบ้านสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย
7. ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยเป็นผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ. 2552)
8. ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยเป็นผู้ใช้สิทธิยกเว้นเงินได้จากการขายที่อยู่อาศัยเดิมและซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 241 (พ.ศ. 2546)
9. กรณีเป็นการกู้ร่วม โดยผู้กู้ร่วมมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตนเองและเคยใช้สิทธิหักลดหย่อนหรือยกเว้นกับกรมสรรพากรแล้ว ผู้กู้ร่วมจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีในส่วนของเงินได้ที่ใช้กู้ร่วม
10. ต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จ ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555
11. ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
โดย
ข่าวกระทรวงการคลัง
วันที่ 20 กันยายน 2554