โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55
โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55
วันที่ 13 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีรับทราบกรอบชนิด ราคา ปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ส่วนงบประมาณในการดำเนินโครงการให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 อนุมัติกรอบชนิด ราคา ปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และงบประมาณการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบกรอบ วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และพิจารณาอนุมัติงบประมาณดำเนินการโครงการต่อไป สรุปได้ดังนี้
1. ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
1.1 ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท
1.2 ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท
(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)
1.3 ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
1.4 ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท
1.5 ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้างต้นให้ปรับเพิ่ม-ลดตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท
2. เป้าหมายการรับจำนำ ไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำทั้งโครงการ ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ไม่จำกัดจำนวนเช่นกัน โดยต้องเป็นข้าวเปลือกที่เกษตรกรเพาะปลูกเองในปีการผลิต 2554/55 และต้องมีหนังสือรับรองเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งผ่านการทำประชาคม และเกษตรกรลงชื่อรับรองตัวเอง พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงชื่อรับรองด้วย
3. ระยะเวลาดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการรับจำนำ 7 ตุลาคม 2554 – 29 กุมภาพันธ์ 2555 (ภาคใต้ 1 กุมภาพันธ์ 2554 – 31 กรกฎาคม 2555) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ ระยะเวลาโครงการ 7 ตุลาคม 2554 – 30 กันยายน 2555
4. วิธีการรับจำนำ ให้รับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมจังหวัด และข้าวเปลือกปทุมธานี เฉพาะใบประทวนเท่านั้น โดยให้ อคส. และ อ.ต.ก. รับสมัครโรงสี/ตลาดกลางเข้าร่วมโครงการเป็นจุดรับฝากข้าวเปลือกและจ่ายใบประทวนให้เกษตรกรที่นำข้าวเปลือกมาจำนำ เพื่อให้เกษตรกรนำใบประทวนไปจำนำกับ ธ.ก.ส. และ ธ.ก.ส. ต้องจ่ายเงินให้เกษตรกร ภายใน 3 วันทำการ โดยให้โรงสีที่รับฝากข้าวเปลือกไว้ดำเนินการสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารส่งมอบเข้าโกดังกลางตามหลักเกณฑ์และมติของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว สำหรับตลาดกลางที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้เก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ในโกดังที่ อคส./อ.ต.ก. กำหนดเป็นโกดังกลาง
ในกรณีการรับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวให้รับจำนำใบประทวนเท่านั้น แต่อาจพิจารณาให้มีการรับจำนำยุ้งฉางเฉพาะในพื้นที่ที่มียุ้งฉางเก็บรักษาและมีการดูแลได้มาตรฐาน โดยในอดีตไม่เคยมีปัญหาสร้างความเสียหายให้ภาครัฐเท่านั้น ตามหลักเกณฑ์และมติของคณะอนุกรรมการ กำกับดูแลการรับจำนำข้าว
5. หลักเกณฑ์การรับจำนำ ได้แก่ เกษตรกรผู้มีสิทธิจำนำ การจำนำข้ามเขตของเกษตรกร การจำนำข้ามเขตของโรงสีและตลาดกลาง การเข้าร่วมโครงการของโรงสีและตลาดกลาง การสีแปรภาพ การเก็บรักษาข้าวสาร การระบายข้าว และการกำกับดูแล