ความยุติธรรมเดินช้า "คดีอัสฮารี-อิหม่ามยะผา-ไอร์ปาแย" ยังไม่เห็นแสงสว่าง!
พลิกแฟ้มคดีคาใจคนชายแดนใต้ ทั้ง “อัสฮารี-อิหม่ามยะผา-ไอร์ปาแย” แทบไม่มีความคืบหน้า ทั้งๆ ที่คดีเกิดมากว่า 3 ปี 2 ปี และ 1 ปีตามลำดับ ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ยังระอุต่อเนื่อง ปัตตานีวุ่นหนักยิงรายวันไม่มีเว้น คนร้ายไล่สังหารเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าดับคาถนน ดักยิงอุสตาซหลังละหมาดที่ยะรัง ทหารสรุปสถิติเหตุรุนแรง 10 วัน 30 เหตุการณ์ ตาย 18 เจ็บ 16 ปัตตานีแชมป์
ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ “คดีคาใจ” ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าชาวบ้านเป็นผู้ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่หลายคดี แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกือบจะไม่มีนัยสำคัญใดๆ ต่อการพิสูจน์ความจริงหรือให้ความเป็นธรรมตามที่ญาติผู้เสียหายเฝ้ารอมานาน
3 ปีที่รอคอยของครอบครัว “อัสฮารี สะมาแอ”
เริ่มจากคดีแรก การเสียชีวิตของ นายอัสฮารี สะมาแอ ซึ่งเพิ่งมีการสืบพยานครั้งแรกในคดีไต่สวนการตายที่ศาลจังหวัดยะลา เมื่อปลายเดือน ก.ย.ต่อเนื่องต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
นายอัสฮารีเสียชีวิตมากว่า 3 ปีแล้ว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2550 เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ได้สนธิกำลังกันปิดล้อมตรวจค้น และควบคุมตัว นายอัสฮารี กับคนอื่นๆ รวม 10 คน ที่บ้านจาเร๊าะซีโป๊ะ หมู่ 7 ต.สะเอะ อ.กรงปีนัง จ.ยะลา นายอัสฮารีได้รับบาดเจ็บขณะถูกจับกุม โดยญาติสงสัยว่าเขาน่าจะถูกซ้อมทรมาน แต่เจ้าหน้าที่ทหารชี้แจงว่าเจ้าตัวพยายามหลบหนีจนหกล้มศีรษะฟาดพื้น โดยนายอัสฮารีอาการหนักถึงขั้นต้องนำส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา
ต่อมาวันที่ 23 ก.ค.2553 หรือกว่า 3 ปีให้หลัง พนักงานอัยการจังหวัดยะลาได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนการตายของนายอัสฮารี เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และระบุถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 อันเป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีที่มีการตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่
ศาลจังหวัดยะลารับเป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.13/2552 โดยมี นายอับดุลรอฮะ สะมาแอ และนางแบเดาะ สะมาแอ บิดาและมารดาของนายอัสฮารี เป็นผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้ร้องคัดค้านที่ 2
ศาลนัดสืบพยานนัดแรกเมื่อวันที่ 28 ก.ย. พนักงานอัยการได้นำพยานเข้าสืบ 3 ปาก คือ ร.ต.อ.เกษมสันต์ จิตร์สว่างเนตร พนักงานสอบสวน นางนันทวัน ฉัตรประเทืองกุล พยาบาลประจำโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ผู้รับตัวนายอัสฮารีเข้าทำการรักษา และนางแบเดาะ สะมาแอ มารดาของนายอัสฮารี จากนั้นศาลได้นัดสืบพยานต่อเนื่องจนถึงต้นเดือน ต.ค.
ครอบครัว“อิหม่ามยะผา”ลุ้นศาลรับฟ้อง
คดีที่ 2 เป็นคดีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คือการเสียชีวิตของ นายยะผา กาเซ็ง อดีตอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เพราะถูกทหารทำร้ายร่างกาย เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551 หรือ 2 ปี 7 เดือนล่วงมาแล้ว
ศาลจังหวัดนราธิวาสไต่สวนชันสูตรพลิกศพ นายยะผา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อช.9/2551 และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2551 ว่า นายยะผาตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ในวัดสวนธรรม หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551 เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย
ต่อมา นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่ามยะผา ได้นำคดียื่นฟ้องเองต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1611/2552 โดยนับเป็นคดีแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนได้ลุกขึ้นใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคดีอาญาเอง
วันที่ 2 ก.ย.2553 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อ่านคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา หมายเลขดำที่ 1611/2552 ซึ่ง นางนิม๊ะ เป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.วิชา ภู่ทอง จำเลยที่ 1 ร.ต.สิริเขตต์ วาณิชบำรุง จำเลยที่ 2 จ.ส.อ.เริงณรงค์ บัวงาม จำเลยที่ 3 ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช จำเลยที่ 4 ส.อ.บัณฑิต ถิ่นสุข จำเลยที่ 5 และ พ.ต.อ.ทนงศักดิ์ วังสุภา จำเลยที่ 6 ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด, กัก ขังหน่วงเหนี่ยว, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย โดยศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกข้อกล่าวหา และให้ไปฟ้องจำเลยที่ 1-5 ต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจ
ต่อมา นางนิม๊ะได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น และศาลได้มีคำสั่งรับอุทธรณ์แล้ว โดยได้ส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้ง 6 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาภายใน 15 นับแต่วันที่จำเลยทั้ง 6 ได้รับหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ดังกล่าว เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับคำอุทธรณ์จากโจทก์และคำแก้อุทธรณ์จากจำเลยทั้ง 6 แล้ว ก็จะได้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป
คดีกราดยิงในมัสยิดไอร์ปาแยนิ่งสนิท
ด้านความคืบหน้ากรณีคณะพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) สรุปสำนวนคดีกราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งมี นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ ตกเป็นผู้ต้องหา โดยมีความเห็น "สั่งไม่ฟ้อง" และได้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสพิจารณาต่อไปตามขั้นตอนนั้น
จากการสอบถามไปยังตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ได้รับข้อมูลว่า ทางตำรวจพื้นที่ยังไม่มีแนวทางที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไปเกี่ยวกับคดี เพราะถือว่าได้โอนคดีไปที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งนายสุทธิรักษ์เข้ามอบตัวแล้ว ส่วนการติดตามจับกุมคนร้ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดเพิ่มเติม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการจับกุมผู้ใด
เหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามบุกเข้าไปกราดยิงประชาชนชาวไทยมุสลิมขณะกำลังประกอบพิธีละหมาดในมัสยิดบ้านไอร์ปาแย เกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 8 มิ.ย.2552 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 ราย บาดเจ็บอีก 12 คน หลังเกิดเหตุจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นเวลานานกว่า 1 ปี 4 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เจาะไอร้อง สามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้เพียงคนเดียว คือ นายสุทธิรักษ์ หรือจุ๋ม คงสุวรรณ อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 132 หมู่ 10 ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส
ภายหลังออกหมายจับก็ไม่มีวี่แววว่าตำรวจจะติดตามจับกุมนายสุทธิรักษ์ได้ กระทั่งจู่ๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ม.ค.2553 นายสุทธิรักษ์ได้เดินทางเข้ามอบตัวที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) กรุงเทพมหานคร พร้อมกับทนายความ โดยนายสุทธิรักษ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน กระทั่งในที่สุดพนักงานสอบสวน บช.ก.ก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
ยิงรายวันระบาดปัตตานี "จนท.ไฟฟ้า-อุสตาซ" สังเวย
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงตึงเครียดและมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 12.20 น.วันศุกร์ที่ 22 ต.ค.2553 พ.ต.อ.นฤชา สุวรรณลาภา ผู้กำกับการ สภ.เมืองปัตตานี รับแจ้งเหตุมีคนถูกยิงเสียชีวิตบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ท้องที่บ้านแบรอ หมู่ 2 ต.ตะลูโบะ อ.เมืองปัตตานี จึงรีบนำกำลังรุดไปตรวจสอบ
ในที่เกิดเหตุพบศพ นายสุเนตร ทับทิมทอง อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93 หมู่ 1 ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี อยู่บนถนน โดยมีรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นเวฟ สีขาว หมายเลขทะเบียน ขพย 744 ตรัง ล้มทับอยู่ สภาพศพมีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนพกขนาด 11 มม. เข้าที่ศีรษะและกลางหลังรวม 3 นัด เสียชีวิตคาที่
สอบสวนทราบว่า นายสุเนตรทำงานอยู่ที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่วนแยกปัตตานี (ตะลูโบะ) ก่อนเกิดเหตุได้ขี่รถจักรยานยนต์มุ่งหน้าไปทำงาน แต่ระหว่างทางมีคนร้าย 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบ เมื่อสบโอกาส คนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายได้ชักอาวุธปืนพกขนาด 11 มม. กระหน่ำยิงใส่จนเสียชีวิต เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
เวลา 13.50 น.วันเดียวกัน พ.ต.ท.มานะ นาคทั่ง สารวัตรใหญ่ สภ.โสร่ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี รับแจ้งเหตุยิงกันบนถนนบ้านลูโบะบาลา ต.เขาตูม อ.ยะรัง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย จึงรีบนำกำลังรุดไปตรวจสอบ พบศพ นายสาบูดิน กอตอ อายุ 32 ปี ครูสอนศาสนาโรงเรียนบ้านสะกำ อ.มายอ จ.ปัตตานี อยู่บ้านเลขที่ 82 หมู่ 5 ต.เขาตูม ถูกยิงเสียชีวิตอยู่บริเวณหน้ามัสยิดนูรุลฮิดายะห์ บ้านลือโบะบาลา สอบสวนทราบว่าถูกคนร้ายดักยิงหลังประกอบพิธีละหมาดในมัสยิด และกำลังจะกลับบ้าน เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุของการสังหารโหดครั้งนี้
ถล่มจุดตรวจ อส.ที่ยี่งอโชคดีไร้เจ็บ
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. เวลาประมาณ 11.00 น. คนร้าย 2 คนมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนสงครามอาก้ายิงถล่มจุดตรวจของอาสารักษาดินแดน (อส.) ประจำที่ว่าการอำเภอยี่งอ ที่บ้านกำปงปีแซ หมู่ 3 ในเขตเทศบาลตำบลยี่งอ แต่เจ้าหน้าที่ อส.เตรียมพร้อมอยู่แล้ว จึงยิงตอบโต้จนคนร้ายต้องเร่งเครื่องรถหลบหนีไป โดยไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
ค่ำวันพุธที่ 20 ต.ค. คนร้าย 2 คนมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเช่นกัน ใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิง นายบรรจง จันทร์สนิท อายุ 27 ปี และ นายสุพิศ คำด้วง อายุ 28 ปี ชาว จ.ศรีสะเกษ ลูกจ้างของโรงงานไม้ยางพารา ขณะขี่รถอยู่บนถนนสายยะลา-บ้านโต๊ะปาเก๊ะ ท้องที่บ้านสวนส้ม หมู่ 7 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ทำให้ทั้งคู่ได้รับบาดเจ็บสาหัส เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
ทหารแถลงสถิติเหตุรุนแรง 10 วัน 30 ครั้ง
ส่วนที่ห้องประชุมศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. เปิดแถลงข่าวสรุปเหตุการณ์รุนแรงในช่วงวันที่ 11-20 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทั้งสิ้น 30 เหตุการณ์ แบ่งเป็นเหตุลอบยิง 28 ครั้ง เหตุก่อกวนทั้งการลอบเผารถยนต์ รถจักรยานยนต์และวางระเบิดซ้ำ 1 เหตุการณ์ และการลอบวางระเบิด 1 เหตุการณ์
“มีเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องขัดแย้งส่วนตัวหรือทะเลาะวิวาท 5 เหตุการณ์ ที่เหลืออีก 18 เหตุการณ์เป็นการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรง และยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 7 เหตุการณ์ สำหรับผู้เสียชีวิตมี 18 ราย แยกเป็นประชาชน 13 ราย อส. (อาสารักษาดินแดน) 4 ราย และทหาร 1 นาย เป็นไทยพุทธ 8 ราย ไทยมุสลิม 10 ราย บาดเจ็บ 16 ราย จังหวัดที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ จ.ปัตตานี มี 14 เหตุการณ์ นราธิวาส 10 เหตุการณ์ ยะลา 4 เหตุการณ์ และ จ.สงขลา 2 เหตุการณ์" พ.อ.บรรพต กล่าว
----------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- ได้เวลารื้อใหญ่กระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้
http://www.south.isranews.org/index.php?option=com_content&view=article&id=573:2010-10-21-13-08-19&catid=13:2009-11-15-11-18-09&Itemid=6
-ไฟใต้ 7 ปีจบแค่คดีเดียว...ยธ.เสนอตั้ง "กรมพิเศษ" สางคดีความมั่นคง
http://www.south.isranews.org/index.php?option=com_content&view=article&id=569:-7-qq-&catid=15:2009-11-17-18-22-35&Itemid=4