ปัญหา “สิทธิการตาย” โดย.... สมเกียรติ อ่อนวิมล
ปัญหา “สิทธิการตาย” โดย.... สมเกียรติ อ่อนวิมล / สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ๒๕๕๐
ปี พ.ศ.๒๕๔๙-๒๕๕๐ ผมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันเป็นสภาแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ…. ผมจึงได้เสนอขอแปรญัตติให้ตัดมาตรา ๑๒ ออก ด้วยเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิการตาย หากยังไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายอธิบายเรื่องการตายและสิทธิการตาย ผมเห็นว่าการที่จะปล่อยให้ข้าราชการ หรือรัฐมนตรีไปออกเป็นกฎกระทรวงในรายละเอียดเรื่องการใช้สิทธิการตาย จะเกิดผลเสียหายมาก เพราะแพทย์เองก็จะต้องระมัดระวังมิให้ตนเองมีความผิด ผู้ป่วยเองและผู้อื่นที่เกี่ยวข้องก็จะยังไม่มีความเข้าใจ การเผชิญหน้าระหว่างแพทย์และผู้ป่วยจะมิรู้จบ
แต่การแปรญัตติกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากผมเป็นเพียงสื่อมวลชน มิใช่แพทย์ จึงไม่คิดว่าจะมีความน่าเชื่อถือหรือน่ารับฟังในการอภิปรายเรื่องทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ผมจึงต้องค้นคว้าโดยการอ่านหนังสือจำนวนหนึ่ง และศึกษาเรื่องที่เป็นกรณีศึกษาในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกรณีของ Karen Ann Quinlan ที่เกิดขึ้นในรัฐ New Jersey ในปี ๑๙๗๕ อันเป็นช่วงเวลาที่ผมเรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย (University of Pennsylvania, Philadelphia) พอดี มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย ตั้งอยู่ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ใกล้กับรัฐนิวเจอร์ซี ดังนั้นเรื่องของ Karen Ann Quinlan จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผมได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและจำเรื่องของเธอได้เป็นอย่างดี เมื่อสั่งซื้อหนังสือมาอ่านได้มากพอและค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต ผมจึงได้เรียบเรียงความคิดและข้อมูล ทำเป็นบันทึกย่อเพื่อใช้ในการอภิปรายในคณะ กรรมาธิการฯ และในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อความถูกต้องแม่นยำในข้อมูล
แม้ว่าผมจะแพ้การแปรญัตติ และมาตรา ๑๒ ยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้ แต่ก็คิดว่าร่างบันทึกเพื่อเตรียมอภิปรายแปรญัตติของผมข้างล่างอาจเป็นประโยชน์ทางการศึกษาในเรื่องสิทธิการตาย และเรื่องการเตรียมตัวอภิปรายในสภาฯได้บ้างสำหรับผู้สนใจ โดยเฉพาะการทำงานในรัฐสภา ซึ่งโดยทั่วไปสมาชิกทุกคนไม่ใช่ผู้เชียวชาญในทุกเรื่อง หากไม่เตรียมพร้อมก็อาจแพ้ฝ่ายข้าราชการได้ เพราะกฎหมายส่วนใหญ่เตรียมการมาจากส่วนราชการ และบ่อยครั้งก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน หรือไม่ก็ไม่เป็นไปตามที่สมาชิกอยากให้เป็น
บันทึกต่อไปนี้ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ :-
----------------------------------------------------------------------
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๑๒* บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง
------------------------------------------------------------
มาตรา ๑๒ เป็นมาตราสำคัญมากของพระราชบัญญัติสุภาพแห่งชาติ สังคมไทยควรมีโอกาสศึกษาและถกเถียงปัญหานี้อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อทั้งผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป ทั้งในด้านสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ และตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ตลอดจนการรักษาไว้ซึ่งจริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพของแพทย์ไทย
โดยภาพรวม มาตรานี้ว่าด้วยเรื่อง “สิทธิการตาย” (Right to Die) ของบุคคล ซึ่งเป็นผู้ป่วย แต่ไม่มีคำนิยามเรื่อง “การตาย” และ“สิทธิการตาย” กฎกระทรวงที่จะไปออกทีหลังก็เป็นเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาเพื่อขอให้ตัวผู้ป่วยตายได้ โดยหยุดรับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ การนิยามความหมายของการตายจึงมีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา ดังนี้ :
(1) “การตาย” ความหมายที่หนึ่ง เป็นการตายตามกฎหมายปรกติทั่วไป หมายถึงการ
ที่ “หัวใจหยุดเต้น” หรือ การ “ไม่หายใจ” แต่เมื่อหัวใจยังเต้นอยู่ ยังหายใจได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ และการใช้เทคโนโลยีการช่วยพยุงชีวิตผู้ป่วยหนัก (coma) ผู้ป่วยจึงยังไม่ตาย การปลดเครื่องช่วยหายใจหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงชีวิตออก อาจทำให้คนไข้หยุดหายใจและตายได้ มาตรา ๑๒ นี้ต้องการให้ผู้ป่วยอนุญาตให้แพทย์ปล่อยให้ผู้ป่วยตายเองได้ตามธรรมชาติ โดยไม่ผิดกฎหมาย อาจถือได้ว่าเป็น “การุณยฆาต” (Mercy Killing / Euthanesia) มาตรานี้เป็นการให้ผู้ป่วยให้ “สิทธิการฆ่า” แก่แพทย์ (Right to Kill) เพราะผู้ป่วยได้ “สิทธิการตาย” (Right to Die) โดยทั้งสองฝ่ายจะไม่ผิดกฎหมาย
(2) “การตาย” ความหมายที่สอง คือ “การตายทางสมอง” เป็นการตายทาง
วิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อคนไข้สมองตาย ไม่รับรู้ ไม่มีปฏิกิริยา และ ไม่มีประสาทสัมผัสใดๆ จากการกระตุ้นต่อเนื่องใน ๒๔ ชั่วโมง การช่วยพยุงชีวิตด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่อาจทำไปก็เพียงรักษาร่างกายที่ยังคงมีหัวใจเต้นอยู่ด้วยเครื่องช่วยหายใจเท่านั้น นิยามการตายทางสมองเช่นนี้แพทย์ในสหรัฐอเมริกายึดมาตรฐานรายงานทางวิชาการของคณะนักวิชาการวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัย Harvard ปี ค.ศ.1968 ที่เรียกว่า “The Harvard Criteria” หากคนไข้สมองตายแล้วก็ถือได้ว่าคนไข้ตายในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ การปลดเครื่องช่วยหายใจหรืออุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่นใดจึงไม่ถือว่าเป็นการฆ่า ไม่ใช่ การุณยฆาต คนไข้ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิการตายตามหนังสือแสดงเจตนา และแพทย์จะไม่มีความผิดใดๆฐานที่อาจถูกฟ้องว่าทำให้คนไข้ตายได้
(3) “การตาย” ความหมายที่สาม เป็นการตายโดยธรรมชาติของชีวิตตามหลักศาสนา
ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก สมเด็จพระสันตะปาปา Pius XII ทรงมีพระดำรัสไว้ในปี ค.ศ. ๑๙๕๗ ว่า “เมื่อผู้ป่วยหมดหนทางจะฟื้นจากอาการป่วยหนักขั้นโคม่าได้แล้ว แพทย์ไม่มีเหตุผลจำเป็นใดๆในการยืดอายุผู้ป่วยนั้นโดยวิธีการที่พิเศษไปกว่าการรักษาพยาบาลธรรมดา (Extraordinary Means)” แพทย์สามารถปลดเครื่องอุปกรณ์ช่วยหายใจออกได้ และปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ต่อไปจนวาระสุดท้ายตามธรรมชาติของชีวิต หากผู้ป่วยตายหลังจากนั้นก็จะไม่ถือเป็นความรับผิดของแพทย์ การตาย ในความหมายทางศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และ ศาสนาอื่น ยังไม่เคยมีการบัญญัติไว้ในกฎหมายไทยว่าจะเกี่ยวโยงกับการตายวิธีอื่นๆอย่างไร แต่การยอมรับการตายตามหลักศาสนาก็เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาจะต้องรับรอง
“สิทธิการตาย” จึงเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ ทั้งด้านกฎหมาย ด้านสิทธิในการ
นับถือหรือยึดถือความเชื่อในลัทธิศาสนา ด้านสิทธิมนุษยชน และด้านจริยธรรมวิชาชีพแพทย์ผู้ให้บริการสาธารณสุข และจำต้องพิจารณาทุกเรื่องอย่างรอบคอบ :
(1) การให้ “สิทธิการตาย” แก่ผู้ป่วย และให้ “สิทธิการฆ่า” แก่แพทย์ นั้น
ใครเป็นผู้ให้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยปัจจุบันยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หรือที่กำลังจะมีก็ไม่แน่ว่าจะมีการบัญญัติเรื่องนี้ไว้หรือไม่ การจะใช้กฎกระทรวงมากำหนดเรื่องสำคัญมากที่สุดในชีวิตของมนุษย์คนไทยดังมาตรา ๑๒ ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติเช่นนี้ทำไม่ได้ และไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
(2) การเปิดเผยข้อมูลเรื่องบุคคลใช้สิทธิการตาย และแพทย์ใช้สิทธิการฆ่า
ไม่ใช่เรื่องสาธารณะ แต่เป็นข้อมูลความลับส่วนบุคคล ต้องได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยข้อมูลข่าวสาร
(3) แม้เมื่อได้สิทธิการตาย และ สิทธิการฆ่า ก็ยังต้องมีการตัดสินว่าผู้ป่วย
สภาพเช่นไรที่จะตายแน่นอน ไม่มีวิทยาศาสตร์การแพทย์ใดๆที่จะให้ความมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะต้องตายแน่นอนหากถอดเครื่องช่วยชีวิต ประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องสิทธิการตายในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยบางราย (Karen Ann Quinlan) ดำรงชีวิตอยู่ได้นานถึง ๙ ปี หลังหยุดการใช้เครื่องช่วยหายใจ และแพทย์ ก็ไม่ยินยอมปล่อยให้คนไข้ตาย เพราะขัดต่อหลักจริยธรรมของแพทย์ ซึ่งมีหน้ารักษาชีวิต มิใช่ทำลายชีวิต
(4) มาตรา ๑๒ ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ให้สิทธิการตายแก่
ผู้ป่วยเท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่ผู้ปกครองตามกฎหมาย หากผู้ป่วยหนักอาการโคม่ามิได้ทำหนังสือแสดงเจตนาขอตายไว้ จะใช้กฎกระทรวงอนุญาตให้สิทธิการฆ่าแก่พ่อแม่ผู้ปกครองของผู้ป่วยตามกฎหมายมิได้ เรื่องนี้ต้องบัญญัติเพิ่มเติมเป็นกฎหมาย
(5) มาตรา ๑๒ จึงเป็นทางตันของแพทย์ และพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือญาติพี่น้องของผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยหนักขั้นวิกฤตินั้นไม่รับรู้สิ่งใดๆและตัดสินใจอะไรไม่ได้อยู่แล้ว หากแพทย์จะปลดเครื่องช่วยหายใจตามคำขอของผู้ปกครองอาจถือเป็นการฆ่าที่ไม่มีสิทธิได้ โดยทั้งแพทย์และผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมายอาจมีความผิดทั้งสองฝ่ายในฐานะผู้ทำให้ผู้ป่วยตาย โดยผู้ป่วยนั้นไม่เคยทำหนังสือแสดงเจตนาใดๆไว้ล่วงหน้าก่อนเลย
บทสรุป
ในเมื่อประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและยังไม่เคยมีความคิดจะบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ จึง
สมควรต้องคอยให้มีการบัญญัติเรื่อง “สิทธิการตาย” และ “สิทธิการฆ่า” ไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่
เกี่ยวข้องที่ต้องออกเป็นฉบับใหม่โดยเฉพาะเสียก่อน กฎกระทรวงธรรมดาไม่มีความชอบธรรมและไม่มีอำนาจ
ทำให้เกิด “สิทธิการตาย” และ “สิทธิการฆ่า” ได้ เพื่อเป็นการให้สังคมได้รับรู้และมีส่วนร่วมพิจารณาเรื่องสำคัญ
ที่สุดในชีวิตนี้ สมควรที่จะต้องตัดมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ออกไปก่อน แล้วจึงค่อยมา
แก้ไขเพิ่มเติมในโอกาสที่สังคมทุกส่วนมีความเข้าใจในเรื่องนี้พร้อมแล้ว
สมเกียรติ อ่อนวิมล
บันทึกส่วนตัวเพื่อใช้ในการแปรญัตติ
ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสุภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐
๑๒ มกราคม ๒๕๕๐
พรบ. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๐
---------------------------------------------------------------------
ผลของการแปรญัตติ : เสียงส่วนใหญ่ในกรรมาธิการไม่เห็นด้วย ให้คงมาตรา ๑๒ ไว้ตามเดิม และสภาฯก็คงตามกรรมาธิการ
มาตรา ๑๒ จึงเป็นมาตราที่เป็นปัญหามาจนปัจจุบัน
สมเกียรติ อ่อนวิมล
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔
----------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ: เรื่องของ Karen Ann Quinlan หากมีผู้สนใจ ผมจะเขียนให้อ่านในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม:
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
http://www.nationalhealth.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=87&Itemid=130
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ๒๕๕๐
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%CA71/%CA71-20-9999-update.pdf