“การสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม”
สรุปสิ่งที่ได้จากเวทีสาธารณะ คดีคนจนครั้งที่ 2
“การสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม”
วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2554 เวลา 09.00 -16.30 น. ณ ห้องประชุมจุมพฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
------------------------------------------------
ปาฐกถา โดย อ.อคิน รพีพัฒน์ เรื่อง กระบวนยุติธรรมไทยว่าด้วยระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา
สรุปสิ่งที่เราเรียกร้อง คือ อยากให้ศาลดำเนินการจัดการกับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่กระทำมิชอบ เช่น กรณีการสัมปทานสวนปาล์มของนายทุน หรือ การออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ จนท.ยังปล่อยปละละเลยให้นายทุนฟ้องร้องชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง
ข้อเสนอ คือ อยากให้ศาลแย้งกฎหมายที่สร้างความไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้านบ้าง ตนเองคิดว่าศาลควรมีกระบวนการจัดการ ดังนี้ 1) ใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความเป็นธรรม และ 2) ใช้ระบบไต่สวนแทนระบบกล่าวหา ซึ่งปัจจุบันกระบวนการพิจารณาคดีความอาญาในประเทศไทยเป็นระบบผสมผสานระหว่างสองระบบ คือ ระบบกล่าวหาและระบบไต่สวน แต่ทั้ง 2 ระบบนี้มีความแตกต่างกันคือ ระบบกล่าวหาถือหลักว่าศาลและลูกขุนเปรียบเสมือนกรรมการของการต่อสู้คดีโดยต้องวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ส่วนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นหน้าที่ของคู่ความ แต่ระบบไต่สวนจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดและถือว่าหน้าที่ในการค้นหาข้อเท็จจริงเป็นของศาล ดังนั้น แม้คู่ความจะมีสิทธิเสนอพยานต่อศาล แต่ศาลก็มีอำนาจสั่งให้งดสืบหรือสืบพยานฯ เพิ่มเติม และมีดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานฯ อย่างเต็มที่ (ศาลปกครองใช้ระบบไต่สวน)
“การดึงโมเดลระบบกล่าวหาของประเทศอังกฤษหรือฝรั่งเศสมาใช้ ก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างตามมาอย่างมากมาย”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริว่า......ศาลอย่าเอากฎหมายมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดการชี้เขตพื้นที่ชาวบ้าน และ กฎหมายนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นมาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนมากกว่าการใช้ข้อมูลหลักฐานทางกฎหมายเป็นตัวตัดสินการกระทำของชาวบ้าน
กระบวนการแก้ไขปัญหา อาจกำหนดให้มีการตั้งศาลพิเศษในเรื่องที่ดินและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ศาลพิเศษในเรื่องที่ดินและสิ่งแวดล้อมจะต้องใช้ระบบไต่สวนมากกว่าระบบกล่าวหา แต่ตนเองคิดว่าความเป็นไปได้คงอีกนานมาก หรือ จัดตั้งองค์กรที่มีการช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้าน (คล้ายๆ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) หรือ ควรมีการจัดเวทีพูดคุยเพื่อร่วมกันหาทางออก ปรับทัศนคติ วิธีคิดในแง่กฎหมาย จริยธรรม ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ศาล
“ควรมีการปรับหลักสูตรกฎหมาย กระบวนยุติธรรม ในสถาบันการศึกษา เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิดของนักกฎหมาย”
ที่ผ่านมา ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมลดน้อยถอยลงมาก หากเราร่วมกันปรับแก้และหาทางออกร่วมกัน จะส่งผลให้ความน่าเชื่อถือต่อศาลของประชาชนเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้
-----------------------------------
เวทีเสวนา “เปิดเผยเรื่องจริงผ่านคนจนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม” นำเสนอโดย กลุ่มคดีที่ดิน กลุ่มคดีแม่น้ำและเขื่อน กลุ่มคดีเหมืองแร่ กลุ่มคดีแรงงาน กลุ่มคดีโรคร้อน กลุ่มคดีชาวเล และกลุ่มคดีคนจนเมือง
คุณดิเรก กองเงิน คณะกรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เล่าว่า "เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 54 ตนเองและคณะเดินทาง 19 คน จะเดินทางไปยังประเทศอินเดีย เพื่อไปแลกเปลี่ยน ศึกษาวัฒนธรรมที่ประเทศอินเดีย ขณะเตรียมจะขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. กักตัวไว้โดยมีหมายจับ ปี2553 ที่สถานีตำรวจบ้านแม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ข้อกล่าวหาบุกรุกที่ดินบ้านโป่ง ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ทำให้เสียทรัพย์ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งเป็นที่ดินของบริษัทบริพัตรบ้านและที่ดิน “ผลสืบเนื่องจาก เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2553 ตนเองและชาวบ้านแม่แฝก ไม่ยินยอมให้บริษัทบริพัตรบ้านและที่ดิน เข้าพื้นที่รังวัดในที่ดินบ้านโป่งเพื่อนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ หลังจากปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่ามาเป็นเวลานาน อีกทั้งชาวบ้านได้ใช้พื้นที่เป็นที่ดินทำกินของชาวบ้านมาเป็นเวลานานแล้ว จึงทำให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทบริพัตร แจ้งความและขอให้ตำรวจในพื้นที่เข้ามาดูแลและมีตำรวจเข้ามาสมทบกว่า 100 นาย จนเกิดเป็นคดีความในที่สุด" นายดิเรกกล่าว
นายดิเรกกล่าวเพิ่มอีกว่า “ผมมีข้อเสนอหรือทางออก คือ ขอให้มีการชะลอการดำเนินคดีแก่ผู้ถูกตัดสินคดีบุกรุกที่ดิน เพราะชาวบ้านต้องอาศัยที่ดินเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งทำมาหากิน ไม่เหมือนนายทุนที่เห็นที่ดินเป็นแหล่งกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ “หากผมมีที่ดิน 10 ไร่ ผมคงไม่ไปฟ้องร้องขอที่อยู่ที่ทำกินหรอก” นายดิเรกกล่าวทิ้งท้าย.
ในส่วนของ พ่อธนา ยโสภา ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มคดีที่ดินนอกเขตป่า เล่าสถานการณ์ปัญหาของตนเองว่า ตนเองอยู่ที่ดินเขต อ.เวียงหนองร่องจ.ลำพูน โดนฟ้องร้องจากนายทุนกรณีบุกรุกที่ดินของบริษัท (15000 ไร่) ตนเองโดนไป 2-3 คดี แต่ชาวบ้านที่ประสบปัญหาเดียวกันรวมแล้วในลำพูนโดนเกือบ 1,010 คดี ข้อเสนอ คือ อยากให้คนที่อยู่ในรัฐบาล คนในกระบวนการยุติธรรม เช่น นักการเมือง จนท.ศาล ตำรวจ ผู้พิพากษา ฯลฯ ต้องเข้ามาร่วมรับฟังปัญหา ทางออกด้วยทุกครั้ง
ปัญหาอยู่ตรงที่ศาลไม่เคยรับฟังถึงปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้าน ถึงการทุจริตของนายทุน หรือกรณีการซื้อโฉนดที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการปลอมแปลงโฉนดของนายทุน ชาวบ้านมีข้อเสนอต่อทางการให้นำภาพถ่ายทางอากาศมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินแต่ศาลไม่ฟังคำร้องของชาวบ้านหรือการพิจารณาประวัติศาสตร์ของที่ดินที่ผ่านมา ที่ระบุถึงการจัดสรรที่ดินตามมติ ครม.ปี 2508 ให้จัดสรรทีดินให้แก่ชาวบ้านเพื่อเป็นที่อยู่ที่ทำกิน
ด้านนายเชาว์ ตัวแทนคนที่มีที่ดินอยู่ในเขตป่า (กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่า) กล่าวว่าเจ้าหน้าที่จับกุมข้อหาบุกรุกที่ดินป่า เข้าหาของป่า ปัญหาที่สำคัญก็คือ คนในเขตป่าไม่รู้ภาษาไทย มรปัญหาเรื่องการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐ บ่อยครั้งที่ถูกเจ้าหน้าที่ยัดเยียดข้อกล่าวหา แม้เพียงแค่ไปหาของป่า หลังจากประกาศพื้นที่ที่อยู่อาศัยเป็นเขตป่า ทำให้ชาวบ้านในเขตป่าที่อยู่มาก่อนต้องสูญเสียวิถีชีวิตที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่เพื่อรับจ้าง/ย้ายถิ่นฐาน และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินคดีทำกินในที่ดินนอกเขตป่า
ผู้พิพากษาไม่เข้าใจวิถีชีวิตธรรมชาติของชนเผ่า และกระบวนการยุติธรรมก็ไม่เอื้อต่อวิถีชีวิต การดำรงชีวิตของชาวบ้าน ต่อไปหากมีการตัดสินของศาล อยากให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการกำหนดข้อบัญญัติ กฎหมายของชุมชนร่วมกับศาล “ผมอยากให้มีกระบวนการผลิตผู้พิพากษาที่สอนให้คำนึงถึงวิถีชีวิตจริงของชาวบ้าน”
กรณีปัญหาคดีน้ำและเขื่อน แม่สมปอง เวียงจันทร์ ตัวแทนแกนนำชาวบ้านที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏในที่ดินตนเอง กล่าวถึง การโดนคดีชาวบ้านรวมตัวตั้งม๊อบยึดสันเขื่อนและยึดหลุมระเบิดดินเพื่อเรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อน โดยภาครัฐขณะนั้นได้สั่งการให้ กฟผ.ดำเนินการระเบิดแก่งเพื่อสร้างเขื่อน ทำให้ชาวบ้านถูกยิงและถูกจับดำเนินคดี ปัจจุบันชาวบ้านยังโดนข่มขู่ และเบื้องต้นชาวบ้านเสนอให้มีการศึกษาถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนก่อนดำเนินการ
แม่สมปองพูดด้วยเสียงสั่นเครือว่า “พวกคุณมีเงินเดือน คุณย้ายไปไหนเงินเดือนก็ตามคุณไป แต่กับพวกเราเราไม่มีเงินเดือน คุณเอาที่ทำกินเราไปแล้วเราจะอยู่อย่างไร” การต่อสู้ของดิชั้นที่ผ่านมา 20-30 ปีคงไม่หยุดอยู่แค่นี้ ดิชั้นจะเรียกร้องไปพร้อมพวกท่าน
ด้านคุณพงศธร นักศึกษา ม.ขอนแก่น หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ กรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านและการไฟฟ้า อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ใน “โครงการก่อสร้างเสาและวางแนวสายไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500kv จากสถานีไฟฟ้าย่อยน้ำพอง2(จ.ขอนแก่น) ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยอุดรธานี3 ฯ ” บอกเล่าเหตุการณ์กรณีดังกล่าวว่า เบื้องต้นได้มีการเจรจากับภาครัฐจนมีข้อสรุปเบื้องต้นว่า ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชะลอการดำเนินคดีแก่ชาวบ้าน รอให้ศาลปกครองพิจารณาดำเนินคดีก่อน แต่ กฟผ. ไม่ยอมนำกำลังตำรวจ กว่า 100 นาย จากหลายสถานีในจังหวัดอุดรธานี บุกเข้าสลายและจับกุมกลุ่มชาวบ้าน และนักศึกษา จำนวน 15 คน ที่ร่วมกันคัดค้านการลงก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ (kv) น้ำพอง 2-อุดรธานี 3 โดยชาวบ้านและนักศึกษา 15 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานปีพ.ศ.2550 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน1ปี หรือปรับไม่เกิน1ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังจากนั้นชาวบ้านมีการเจรจาโดยถือมติตามที่คุยกับคณะกรรมการสิทธิ (หมอนิรันดร์) แต่ จนท.กฟผ. ไม่ยินยอมจึงนำรถแบ๊คโครดำเนินการปลูกสร้างเสาไฟฟ้า และข่มขู่ชาวบ้าน ผมมองว่าสิ่งที่ จนท. ทำไป “สะท้อนให้เห็นถึงการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของชาวบ้านอย่างชัดเจน” ประเด็นที่ตนเองตั้งข้อสังเกตต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ คือ ใช้วิธีรุนแรงเข้าจับกุม ข่มขู่ ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช้วิธีที่ยืดหยุ่น โดยการเจรจา ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่เจรจากับคณะกรรมการสิทธิ์ฯ ส่วนการสร้างเสาไฟฟ้าก็มีการดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง
คุณวิบูลย์ (ทนายอู๊ด) จ.ชัยภูมิ เสนอเพิ่มเติมถึงแนวทางการปรับกระบวนการยุติธรรมไทยให้เป็นระบบไต่สวน คือศาลต้องอย่างติดกรอบมากเกินไป ฟังที่มาที่ไปของประชาชนให้มากขึ้น
“อย่าเรียกร้องความยุติธรรม แต่ควรเรียกร้องความเป็นธรรม”
คุณสุทธาสินี แก้วเหล็กไหล ผอ.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย เพิ่มเติมข้อมูลปัญหาด้านแรงงาน ส่วนใหญ่เป็น ปัญหาเรื่อง การกล่าวหาเกินกว่าเหตุ การกระทำเกินกว่าเหตุ หรือใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานนานเกินกว่าเหตุ และศาลเองก็ไม่เข้าใจเจตนาแท้จริงของชาวบ้าน รวมทั้งยังมีอารมณ์ มีท่าที ทัศนคติของศาลที่ไม่ดีต่อชาวบ้าน แนวทางข้อเสนอนั้น รัฐควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด แนวทางการทำงานตามกระแสสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การปรับฐานเงินเดือนที่ทำให้นายจ้างมองลูกจ้างชอบเรียกร้องมากเกินเหตุ ส่งผลให้นายจ้างประกาศเลิกจ้างงาน มีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ พอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีขั้นตอนการร้องทุกข์นานมาก
คุณสุทธิพงษ์ ลายทิพย์ บอกเล่าประสบการณ์จากคดีชาวเล ว่าโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะตั้งในไทยในอนาคต 2 แห่ง คือตอนเหนือของ อ.สิชล และอ.ละแม จ.ชุมพร หรือโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากพะนา จ.สตูล-สงขลา หรือโครงการแผนที่จัดการผลักดันอันดามันเป็นมรดกโลก หรือการเตรียมขยายเขตพื้นที่เขตอุทยานเกาะพระทอง/ หาดเจ้าไหม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่สร้างปัญหาด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม การทำมาหากินและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอาชีพชาวประมงชายฝั่ง ที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น ปัญหาพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านถูกจำกัดลงจากการประกาศเขตอุทยาน/เขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของภาครัฐในเขตชายฝั่ง ส่งผลให้ชาวบ้านในเขตพื้นที่อาจต้องถูกคดีบุกรุก ละเมิดที่ดินและทรัพยากรและถูกดำเนินคดี จับกุม กว่า 100 คดี โดยคดีมากกว่าครึ่งจบลงด้วยการไกล่เกลี่ย 2 อย่าง คือ 1) ชาวบ้านต้องรับสารภาพในฐานะที่เป็นผู้บุกรุก จะทำให้โทษเบาลง และ 2) ชาวบ้านต้องจ่ายเงินปิดปากเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เรื่องเงียบเสมือนว่าเหตุการณ์ไม่เคยเกิดขึ้น หรือทางเลือกสุดท้ายคือ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต่อสู้เรียกร้องหาความเป็นธรรมต่อไป
ตัวอย่างข้อหาที่ชาวบ้านโดนจับกรณีจับหอยในพื้นที่ทำกิน เขตประมงบ้านเจ้าไหม ตั้งขึ้นเมื่อปี 2500 (อยู่ในพื้นที่อุทยาน ตั้งขึ้นเป็นอุทยานปี 2524) คดีการจับสัตว์สงวน (หอยอุหนำ ซึ่งไม่ใช่สัตว์สงวน) แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่ยัดเยียดข้อกล่าวหาตามใจฉัน เนื่องจากเป็นคดีทรัพยากร ปัจจุบันเรื่องยังค้างอยู่ที่อัยการเขต เรือของชาวบ้านยังไม่ได้ไถ่ออกมาเนื่องจากไม่มีเงิน...2 แสนบาท
หรือกรณีตัวอย่างการถูกสุ่มตรวจการใช้พื้นที่ของชาวบ้าน โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ และแจ้งความไว้ (คดีแห้ง) เพื่อดำเนินคดีทีหลัง พบว่ากว่า 120 คดี หรือการถือโอกาสตัดฟันต้นยางของ กรณีที่พบว่าไม่มีใครแสดงความเป็นเจ้าของ แต่หากมีคนที่แสดงตนก็แจ้งความกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกที่ดินของรัฐ
คุณภูวนาท คดีคนจนเขตเมือง กล่าวถึงความยากลำบากของการต่อสู้ในชั้นศาลของพี่น้องชาวเลที่เผชิญปัญหาใน 2 ลักษณะ คือ ส่วนคดีแพ่ง ศาลจะพิจารณาตามเอกสารทางราชการเป็นหลัก การวินิจฉัยก็จะมุ่งเน้นไปที่คนที่ถือครองมีสิทธิตามกรรมสิทธิ์นั้นๆ เป็นผู้ถูกต้อง และส่วนที่ 2 คือ คดีอาญา มีข้อจำกัดคือ ชาวบ้านต้องใช้เงินประกันตัว เมื่อพนักงานสั่งฟ้อง หรือการจ้างทนายความ ล้วนแล้วแต่ใช้งบประมาณทั้งสิ้น “ความยุติธรรมต้องใช้เงินซื้อมา”
เพิ่มเติม : ผู้ได้รับผลกระทบจังหวัดพะเยา กรณีปัญหาการออกโฉนดทับที่ป่าของนายทุนโดยมิชอบ ขณะนี้จังหวัดมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยจังหวัดสั่งระงับกรณีพิพาทดังกล่าว เรื่องจึงยังไม่เข้าสู่กระบวนการศาล
ความเห็นจากผู้เข้าร่วม
1) ปัญหาป่าไม้ อุทธยานเวียงหลวง อุทธยานขุนแจ๋ ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปหาเก็บของป่าได้ รวมถึงปัญหาการที่นายทุนเข้ามาบุกรุก ทำให้น้ำไม่มี และส่งผลกระทบต่อชาวบ้านหลายชนเผ่า คนภาครัฐไม่เคยฟังเหตุผลของชาวบ้านเลย นโยบายแต่ละครั้ง กฎหมายแต่ละฉบับ ไม่ได้ออกมาเพื่อช่วยชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง
2) นายอินทร์ บ้านพรสวรรค์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ : โดนข้อหาบุกรุก ทำให้โลกร้อน ไม่มีเงินต่อสู้คดี ต้องยอมใช้แรงงานชดใช้ 52 วัน และปลูกไม้ที่ อ.หางดง (ระยะทาง ค่ารถคนละกว่า 60 บาท/วัน) โดยไปทุกวันจันทร์ และหากขาด 1 วันปรับ 4,000 บาท ปัจจุบันเป็นอิสระแล้ว แต่กังวลว่าว่าข้างหน้าไม่รู้ว่าจะมีปัญหาใดเกิดขึ้นอีก
3) ตัวแทนพื้นที่ อ.โนนดินแดง : พี่น้องที่ถูกกระทำในทุกพื้นที่พบปัญหาเหมือน ๆ กัน ทำอย่างไรพวกเราจะมารวมตัวกันยื่นข้อเสนอ ผลักดัน เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหา
4) สว่าง เปรมสิทธิ์ จ.น่าน : ปัญหาคือคนที่มีสิทธิ์ได้เข้าไปแก้กฎหมายเพื่อสนองสิทธิ์ของตัวเอง คือ ส.ส. และกฎหมายที่ออกมาทำให้คนจนต้องตกอยู่ในกรอบที่ตั้งขึ้น ..กฎหมายเดียวกัน แต่ 2 มาตรฐาน
5) รัฐธรรมนูญชุมชนตั้งมา ชาวบ้านก็ดำเนินกันมาแต่สุดท้ายอัยการ
6) นางหนูเดือน แก้วบัวขาว จ.อุบลฯ : ปัญหาที่พบสามีติดคุก 1 ปี 6 เดือน กรณีบุกรุกที่ดินทำกิน จากการที่นายทุนออกโฉนดทับ ทั้งที่หลังการตรวจสอบพบว่านายทุนผิดจริง แต่ก็ไม่สามารถเพิกถอนโฉนดได้ ทำให้ชาวบ้านก็ยังเป็นผู้บุกรุกไม่มีสิทธิ์ทำกินในที่ดินที่อยู่มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษนั้น และไม่รู้ว่าในอนาคตจะต้องต่อสู้ไปในทิศทางใด
7) นางทองสา อ.วารินทร์ : ถูกฟ้องกรณีที่ดินทำกิน ทั้งครอบครัว ต่อสู้มาตลอดจนไม่มีเงินค่าทนาย และค่าต่อสู้คดี
8) สพันธ์ ทองพันธุ์โชติ จ.อุบลฯ : พบว่าอุตสาหกรรมป่าไม้ไปขับไล่พื้นที่ของชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ ทำให้เกิดการต่อสู้โดยเครือข่ายชาวบ้านเพื่อสู้ร่วมกัน
9) พบว่าปัญหาทั้งหมดนี้บ่งชี้ได้ว่าเป็นความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรม และมีข้อกังวลว่าความยุติธรรมจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านจริงหรือไม่ จะรู้สึกสิ้นความมั่นใจเมื่อเห็นตำรวจ อัยการ ศาล
-----------------------------------------------
ระดมความคิดเห็นข้อเสนอแนะแนวทางการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม
ดำเนินรายการโดย คุณลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ และ คุณบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์
โจทย์หลัก : ทำอย่างไรเราจะสามารถแก้ปัญหาคดีคนจนได้?
“ปัญหาความยากจน ไม่ใช่ปัญหาเพราะประชาชนเสือกเกิดมาจน” แต่แท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่คนจนถูกทำให้จนลง ซึ่งมาจากโครงสร้างที่เอารัดเอาเปรียบ จนนำไปสู่ผลกระทบ หลายๆ ด้าน เช่น การเข้าถึงทรัพยากร กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อประชน หรือความเหลื่อมล้ำของฐานรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน ฯลฯ
ปัญหาเชิงโครงสร้างบ่มเพาะให้เกิดความเลวร้ายในสังคมไทย โดยเฉพาะการกระจายอำนาจ ฐานทุนเศรษฐกิจที่ลงสู่ท้องถิ่น ก่อให้เกิดสังคมที่เรียกว่า “สังคมคนกินคน” นายทุนเอารัดเอาเปรียบคนในชุมชน กอบโกยทรัพยากรในท้องถิ่น โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดกับคนในชุมชน ตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนของปัญหาดังกล่าวก็คือ นิคมอุสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และกรณีลำน้ำพอง หรือการตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นต้น
ปัญหาที่สำคัญ (โครงสร้าง สถาบัน กระบวนการ บุคลากร)
คือ ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านงบประมาณในช่วงกระบวนการดำเนินคดี ทั้งนี้ สถาบันยุติธรรมควรเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนหรือเอื้อต่อชาวบ้านอย่างแท้จริง
ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม คือส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรม หรือแม้แต่ข้อจำกัดของข้อกฎหมายและกระบวนการไต่สวนของผู้พิพากษาที่พิจารณาเฉพาะข้อมูลเอกสารเพียงเท่านั้น
“ระบบยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม” เป็นปัญหาที่เกิดทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย
.............ฯลฯ ความล่าช้า, อุปสรรคต่าง ๆ ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่เราจะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปรับกฎหมาย ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่าย?
บุคลากรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม จะทำอย่างไรให้คนในกระบวนการยุติธรรม เช่น ทนาย ผู้พิพากษา ฯลฯ เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ มีจิตอาสา และมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือคดีต่างๆ ของชาวบ้านอย่างจริงใจ หรือแม้แต่กระบวนการเรียนการสอนวิชากฎหมายในสถาบันการศึกษา ก็ยังไม่ได้ปลูกฝังให้คนที่จะเข้ามาเป็นข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมของไทยมีทัศนคติ จริยธรรม ความซื่อสัตย์ และเห็นปัญหาของชาวบ้านเป็นสำคัญ
สรุป : ฝากไว้ให้คิดเพื่อนำไปสู่การสร้างพลังที่เข้มแข็ง คือ
1) สร้างเครือข่ายที่กระจัดกระจายให้รวมตัวกัน สร้างความเข้มแข็ง อย่าท้อแท้
2) หากลวิธีในการสร้างความเป็นธรรมให้กับตนเอง เราต้องข้ามพ้นความเคียดแค้น แปรเปลี่ยนเป็นพลังที่จะสร้างหรือสู้กับความไม่ยุติธรรม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อสู่กับภาครัฐ”
3) เรียนรู้ ขวนขวายความรู้ทางกฎหมายเพื่อพิทักษ์สิทธิของเราและชุมชน อย่าหวังเพิ่งทนายอย่างเดียว เช่น ชุมชนอาจรวมตัวจัดทำโครงการอบรม เสริมสร้างศักยภาพชุมชนในด้านการเข้าถึงความรู้ สิทธิ หรือกระบวนการยุติธรรม หรือ เปิดโรงเรียนกฎหมาย เพื่อพิทักษ์สิทธิตนเองและชุมชน ฯลฯ
4) สร้างให้เกิดการรับรู้ผ่านกิจกรรมรณรงค์ที่หลากหลายและกว้างขวางในสังคม เช่น ปักธงให้พรรคการเมือง เพื่อเป็นสัญญาประชาคม
ข้อเสนอเพิ่มเติมจากผู้เข้าร่วม
1) การกำหนดธรรมนูญหรือกฎหมายชุมชน ต้องให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดและดำเนินการได้ด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวต้องสอดคล้องกับกฎหมายหรือพระราชบัญญัติหลักของประเทศ
2) เปิดสถาบันสอนกฎหมายให้ชาวบ้านในพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค เพื่อความสะดวกในการไปเรียนและการเข้าถึงข้อมูลความรู้ ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
3) ควรยุบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาค ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของคนส่วนกลาง แต่ไม่ได้มาจากประชาชน ซึ่งหากมีการกระจายอำนาจให้เป็นของประชาชนในการคัดสรรผู้บริหารกันเอง น่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง และควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตัดสินพิพากษาตามตัวหนังสือเท่านั้น, แก้ไขแบบเรียน ให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรมเสียใหม่
4) ให้มีการเปิดโรงเรียนชาวนา ให้ความรู้จากการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กระจายอำนาจไปสู่ชุมชน สอนเด็กให้การกระจายอำนาจคืออะไร สังคมคืออะไร
5) หน่วยงาน องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องควรยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วมกับภาคประชาชนให้มากกว่านี้
6) ผู้แทน (สส.) ต้องทำงานให้กับประชาชน มากกว่าทำงานเพื่อตอบสนองต่อภาครัฐ และการบริหารงานต้องตอบโจทย์ปัญหาของชาวบ้านเป็นสำคัญ
7) ควรมีศาลของประชาชนขึ้นมาชี้แจง ชี้ผิดชี้ถูก ข้อเท็จจริงต่าง ๆด้วย ไม่ควรมีการรายงานฝ่ายเดียวโดยภาครัฐ
8) กรณีมีการร้องเรียนจากชาวบ้าน ให้ศาลใช้ดุลพินิจสันนิษฐานเบื้องต้นก่อนว่าเอกสารของชาวบ้านเป็นสิ่งถูกต้อง (การตรวจสอบหลักฐานของศาลที่ใช้ระยะเวลานาน แก้ไขอย่างไร)
9) อยากให้มีการจัดตั้งกองทุนที่เอื้อ/ช่วยเหลือคนจนอย่างแท้จริง และมีการจัดหาทนายชุมชนเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
10) ส่งเสริมศักยภาพของประชาชนในการสร้างการรับรู้สิทธิของตนเอง ให้ความรู้เรื่องกฎหมายแก่ประชาชนในทุกพื้นที่
11) ประชาชนควรศึกษารัฐธรรมนูญมาตรา 57, 58, 67 ถึงรูปแบบแนวทางการสรรหาองค์กรอิสระ
12) กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่า เสนอการปรับแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการพัฒนาประเทศที่เน้นการจัดการเกษตรที่ยั่งยืน มากกว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และรักษาอัตลักษณ์ วิถีชีวิตดัง้เดิมของกลุ่มชนเหล่านี้ไว้ เป็นต้น
13) เปลี่ยนธรรมชาติของสังคมไทย โดยการร่วมกันสร้างกระแสของสังคมใหม่ จัดระบบสังคมใหม่
14) ระบบกฎหมายต้องเปลี่ยน โดยกฎหมายใดที่เกี่ยวข้องกับทรัพยกรธรรมชาติต้องมีการจัดการให้ไปอยู่ในมือของเจ้าของอย่างแท้จริง
15) ควรมีกระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากคดี
16) ปรับอำนาจยุติธรรมมาอยู่ในมือของชุมชน และรวมตัวกันของเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง
นงลักษณ์ ยอดมงคล
สำนักงานปฏิรูป (สปร.)
23 มิถุนายน 2554