ความเสี่ยงของผู้ประกันตน โดย..ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ระบบประกันสังคมในประเทศต่างๆ ถือกำเนิดมาเพื่อจัดการความเสี่ยงให้กับลูกจ้างหรือผู้มีงานทำทั้งหลาย ความเสี่ยงที่ว่านี้ประกอบด้วย ความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ มีบุตร เป็นหม้าย ว่างงาน ชราภาพ และการสูญเสียชีวิต แต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของความครอบคลุมของความเสี่ยง วิธีการหาเงิน จ่ายเงิน และบริหารจัดการ
ระบบประกันสังคมของไทยก็เช่นเดียวกัน ถือกำเนิดมาเพื่อช่วยลูกจ้างจัดการกับความเสี่ยงโดยตกลงว่าจะให้ความคุ้มครองหรือให้สวัสดิการ 7 ประเภทคือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร เสียชีวิต ว่างงาน สงเคราะห์บุตร และชราภาพ โดยเงินที่นำมาใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการเหล่านี้มาจาก 3 ฝ่ายคือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ในปัจจุบันลูกจ้างและนายจ้างสมทบเงินฝ่ายละ 5% ของเงินเดือนที่ไม่เกิน 15,000 บาท และรัฐบาลสมทบ 2.75% ของฐานเงินเดือนเดียวกัน เงินสมทบทั้งหมดถูกรวมในกองทุนประกันสังคม ซึ่งมี สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน
กฏหมายประกันสังคมบัญญัติว่า เงินกองทุนเป็นของสำนักงานประกันสังคมไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ต้องขอย้ำว่าสำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ ตึก ถ้าใช้เงินจากกองทุนฯ ซื้อก็ต้องเป็นสมบัติของรัฐ ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของผู้ประกันตน และไม่ใช่สมบัติของกองทุนประกันสังคม เพราะกองทุนไม่มีตัวตนตามกฎหมาย ไม่ใช่นิติบุคคล
ประกันสังคมออกแบบมาเพื่อจัดการความเสี่ยงในชีวิตการทำงานให้กับผู้ประกันตน แต่ด้วยการบริหารจัดการภายใต้กฏหมายและระเบียบที่ล้าสมัยและไร้เดียงสา ทำให้ผู้ประกันตนต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เรื่องคือ
เรื่องแรกเสี่ยงต่อการบริหารจัดการแบบราคาแพงและมีความขัดแย้งของผลประโยชน์มากมาย กฎหมายอนุญาตให้ใช้เงินได้ถึง 10% ของเงินสมทบเพื่อการบริหารจัดการและกฎหมายก็ไม่มีการกล่าวถึงการจัดการเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์ในการบริหารจัดการกองทุน
และเรื่องที่สองเสี่ยงว่าเมื่อถึงเวลาที่ผู้ประกันตนจะได้รับสวัสดิการชราภาพ ประกันสังคมกลับเหลือเงินไม่พอจ่ายให้กับผู้เกษียณอายุ
ในที่นี้ขอเน้นเฉพาะความเสี่ยงเรื่องที่สอง
เมื่อต้นปี 2542 เป็นจุดเริ่มต้นที่สำนักงานประกันสังคมเริ่มเก็บเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ด้วยความที่สวัสดิการทั้งสองประเภทนี้เริ่มต้นเก็บเงินสมทบพร้อมกัน สำนักงานประกันสังคมจึงรวมเงินไว้ด้วยกันแล้วเรียกว่าเป็นเงินสำหรับ 2 กรณี
ขอแวะข้างทาง ออกนอกเรื่องหน่อยเถอะ
การรวมเงินสมทบ 2 ส่วนนี้เข้าด้วยกันเป็นการบริหารแบบไร้เดียงสาและทำให้ผู้ประกันตนเสียประโยชน์ เงินส่วนที่ใช้สงเคราะห์บุตรเป็นสวัสดิการระยะสั้น รับเงินมาแล้วก็จ่ายไปตามภาวะการเกิดมากหรือเกิดน้อย ส่วนเงินสำหรับชราภาพ (ไม่ว่าจะเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ) เป็นสวัสดิการระยะยาว รับเงินมาแล้วต้องสะสม ลงทุน เพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดีและมั่นคง เพื่อการใช้จ่ายในอนาคตอันยาวไกล หรือยามบั้นปลายของชีวิต ผู้ประกันตนเสียประโยชน์เพราะในปัจจุบันรัฐได้อ้างว่าได้สมทบเงิน 1% เพื่อการสงเคราะห์บุตรและชราภาพแก่ผู้ประกันตนแล้ว ดังนั้น ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิได้รับการสนับสนุนการออมเพื่อการชราภาพแบบอื่น เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ที่กำลังจะเริ่มต้นเก็บเงินสมทบในปีหน้า
ถ้าไปดูระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่ผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปีขึ้นไป จะพบว่า ผู้ประกันตนได้รับเงินเฉพาะส่วนที่ตนและนายจ้างสมทบรวมกับผลตอบแทนการลงทุนเท่านั้น
เท่านี้ก็พิสูจน์แล้วว่าส่วนที่รัฐให้ 1% นั้นแท้จริงแล้วใช้เพื่อการสงเคราะห์บุตร
รัฐไม่ควรจำกัดสิทธิของผู้ประกันตนในการได้รับสวัสดิการ กอช. เช่นเดียวกับที่รัฐให้การสนันสนุนประชาชนกลุ่มอื่นๆ
ขอวกกลับเรื่องความเสี่ยงต่อ
เงินที่ผู้ประกันตนและนายจ้างสมทบออมมา 10 กว่าปีนั้นยังไม่ครบกำหนดการจ่ายบำนาญ จนกระทั่งปี 2557 ในปีแรกๆ คนมีสิทธิรับบำนาญจะยังมีน้อย แต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนไทยโดยรวมอายุยืนขึ้นและในที่สุดจำนวนผู้รับบำนาญก็จะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหามันอยู่ที่ รายได้จากเงินสมทบกับรายจ่ายบำนาญไม่สมดุลกัน ซึ่งสร้างความเสี่ยงแก่ผู้ประกันตน ณ วันหนึ่งรายได้จะไม่เพียงพอกับรายจ่าย ณ วันนั้น ก็ไม่ได้ยาวไกลนักประมาณ 25-30 ปีเท่านั้น
อัตราเงินสมทบเพื่อสวัสดิการชราภาพส่วนของผู้ประกันตนและนายจ้างรวมกันเท่ากับ 6% ของเงินเดือน ส่วนอัตราการจ่ายบำนาญขั้นต่ำเท่ากับร้อยละ 20 ของเงินเดือน ถ้าส่งเงินสมทบเกิน 15 ปี ก็จะได้เพิ่มอีกปีละ 1.5% ต่อปีที่สมทบเพิ่ม ตัวอย่างเช่น ส่งเงินสมทบ 16 ปี จะได้บำนาญในอัตรา 21.5% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ
ด้วยการเปรียบเทียบแบบง่ายๆ จะเห็นได้ว่าถ้าเราจ่ายเงินสมทบ 6% ต่อเดือนเป็นเวลา 15 ปี จะได้รับบำนาญเดือนละ 20% ไปจนตาย
ในปัจจุบันนี้อายุเฉลี่ยของคนไทยเท่ากับ 73 ปี ถ้าหากเกษียณตอนอายุ 55 ปี เราสามารถประมาณได้ว่าการรับบำนาญซัก 5 ปีก็จะคุ้มเงินที่จ่ายไปแล้ว ส่วนที่เหลือของการรับบำนาญอีก 13 ปีเป็นเงินของผู้อื่นทั้งนั้น ผู้อื่นคือใคร เขาก็คือผู้ประกันตนวัยทำงานที่กำลังส่งเงินสมทบอยู่และรอรับบำนาญในอนาคต ลองคิดดูว่าถ้าเราฝากเงินในธนาคารยังได้รับการประกันเงินฝาก อย่างน้อยก็ได้เงินคืน กรณีนี้ผู้ประกันตนวัยทำงานจะบอกไม่ได้เลยว่าสมทบไปแล้วจะได้อะไรกลับหรือไม่
ด้วยเหตุที่คนเกษียณอายุจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เงินที่สะสมเป็นล้านล้านบาทนั้นค่อยๆ จ่ายออกไปจนหมด และติดลบอย่างรวดเร็ว เช่น ในปีที่ 3 ของการติดลบนั้นกองทุนต้องการเงินถึงกว่า 8 แสนล้านบาทมาชดเชยส่วนที่ขาด คราวนี้ผู้ประกันตนจะทำอย่างไรต่อ สำนักงานประกันสังคมจะไปหาเงินมากมายมาจากไหน
อย่างเพิ่งสิ้นหวัง ปัญหาต้องมีทางแก้ ลองเลือกเอาจาก 3 แนวนี้
1. ปล่อยไปเรื่อยๆ เงินหมดเมื่อไร ค่อยว่ากัน เรื่องของอนาคตคิดทำไม เราต้องอยู่กับปัจจุบัน Que Sera Sera แนวทางนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารประกันสังคมหรือกระทรวงแรงงาน และรัฐบาลในยุคปัจจุบัน ต้องกด Like
2. คำนวณอัตราเงินสมทบใหม่ ให้เกิดความสมดุลของรายได้และรายจ่ายที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกันตนจะต้องสมทบเงินเพิ่ม คนตายเร็วก็เอาเงินส่วนที่สมทบมากเกินไปช่วยจ่ายเป็นบำนาญให้แก่คนที่ตายช้า กระจายความเสี่ยงระหว่างผู้เกษียณทุกคนร่วมกัน
3. แก้กฎกระทรวงการจ่ายบำเหน็จบำนาญใหม่ แทนที่จะจ่ายเงินแบบตลอดชีวิตโดยไปเอาส่วนของคนอื่นมาใช้ ก็เปลี่ยนเป็นจ่ายบำเหน็จบำนาญจากส่วนที่ตนและนายจ้างช่วยกันสมทบ ถ้าอยากได้บำนาญมากๆ ไปตลอดชีวิต ก็ต้องสมทบเพิ่ม โดยที่คนอื่นจะมาล้วงเอาส่วนของเราไปใช้ไม่ได้
อย่างไรก็ดี หนทางที่ 2 และ 3 นั้นก็ช่างเป็นแค่แนวทาง เพราะที่จริงแล้วผู้ประกันตนแทบจะไม่มีช่องทางในการตัดสินเรื่องเหล่านี้เลย
ตัวแทนลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคมก็คงกด Like ข้อ 1 เหมือนกัน
สุดท้ายไม่ว่าจะเลือก 1 หรือ 2 หรือ 3 ผู้ประกันตนก็หนีไม่พ้นความเสี่ยงเรื่องที่ 1 ที่กล่าวไว้ตอนต้น.