บทความ..พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว เพิ่มโทษผู้เผยแพร่ข่าว-ภาพผู้ต้องหา"เด็ก-เยาวชน"จากจำคุก 6 เดือน เป็น 1 ปี
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว
เพิ่มโทษผู้เผยแพร่ข่าว-ภาพผู้ต้องหา"เด็ก-เยาวชน"จากจำคุก 6 เดือน เป็น 1 ปี
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 พฤาภาคม 2554 ที่ผ่านมา หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 (พ้นกำหนด 180 วันจากที่มีประประกาศในราชกิจจุนุเบกษา ทำให้มีผลยกเลิก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนฯ พ.ศ.2534 )
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ นอกจากปรับปรุงอำนาจหน้าที่และโครงสร้างของศาลเยาวชนและครอบครัว กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องเหมาะสมแล้ว ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิสวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีความเข้มข้นและคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ในส่วนของการปฏิบัติเด็ก(อายุไม่เกิน 15 ปี)และเยาวชน(อายเกิน 15ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี) รวมถึงครอบครัวโดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะมีการขยายขอบเขตการคุ้มครองจากเดิมที่จำกัดเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นจำเลยในศาล เป็นเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหาในชั้นพนักงานสอบสวนด้วย
นอกจากนั้นยังเพิ่มบทลงโทษแก่ผุ้ฝ่าฝืนในการเผยแพร่ข่าวและภาพของเด็กและเยาวชน รวมถึงครอบครัวที่เป็นคู่ความในศาลด้วยโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หนึ่ง มาตรา 76 เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมเด็กหรือเยาวชน หรือพนักงานสอบสวนจัดให้มีหรืออนุญาตให้มีหรือยินยอมให้มีการถ่ายภาพหรือบันทึกภาพเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน
บทบัญญัติในมาตรานี้ เป็นการควบคุมเจ้าพนักงานหรือพนักงานสอบสวนโดยเฉพาะ แม้ไม่มีบทกำหนดโทษการฝ่าฝืนบทบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ แต่พนักงานสอบสวนที่ชอบเอาตัวผู้ต้องหาเด็กและเยาวชนมาให้สื่อมวลชนถ่ายภาพเพื่อเป็นผลงานหรือสนองความต้องการของนักการเมืองหญิงบางคนก็เสี่ยงต่อการถูกดำเนินการทางวินัยหรืออาจถูกผู้เสียหายเล่นงานฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้
สอง มาตรา130 ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในทางสอบสวนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือในทางพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว หรือชื่อสกุล ของเด็กหรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาโดยได้รับอนุญาตจากศาลหรือการกระทำที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
บทบัญญัติในมาตรานี้เป็นการขยายขอบเขตการคุ้มครองการห้ามเผยแพร่ข่าวและภาพของเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นผู้ต้องหารวมถึง"ผู้เกี่ยวข้อง"ที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว หรือชื่อสกุล ของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งกฎหมายฉบับเดิมคุ้มครองเฉพาะผู้ที่เป็นจำเลยในศาลเท่านั้น
สาม มาตรา 136 ในการโฆษณาไม่ว่าด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือซึ่งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ห้ามมิให้ระบุชื่อ หรือแสดงข้อความ หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันจะทำให้รู้จักตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นจำเลย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
บทบัญญัติมาตรานี้เป็นไปตามกฎหมายฉบับเดิมที่ต้องการคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นจำเลยในศาล
สี่ มาตรา153 เพื่อประโยชน์ในการไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลจะสั่งให้ดำเนินการเป็นการลับเฉพาะต่อหน้าตัวความทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยจะให้มีทนายความอยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้
ในการโฆษณา ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นหนังสือ เผยแพร่ทางสื่อมวลชน สื่อสารสนเทศหรือโดยวิธีการอื่นใดซึ่งคำคู่ความ ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ใด ๆ ในคดี หรือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีครอบครัวหรือการไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว ห้ามมิให้แพร่ภาพ แพร่เสียง ระบุชื่อหรือแสดงข้อความหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันอาจทำให้รู้จักตัวคู่ความหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือถูกกล่าวถึงในคดี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
บทบัญญัติในมาตรานี้ เป็นการคุ้มครองคู่ความในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมด โดยห้ามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ อันอาจทำให้รู้จักตัวคู่ความหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือถูกกล่าวถึงในคดี
นอกจากการการขยายขอบเขตการคุ้มครองดังกล่าวแล้ว ยังมีการเพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืน มาตรา 130 มาตรา 136 หรือมาตรา 153 จากเดิมจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท เป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(มาตรา 192)
การพัฒนากฎหมายฉบับนี้ให้เข้มข้นขึ้นก็เพื่อมุ่งคุ้มครองเด็ก เยาวชนและสถาบันครอบครัวมิให้ถูกละเมิดสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้น สื่อมวลชนที่ชอบเผยแพร่ข่าวและภาพด้วบความเคยชินหรือตกเป็นเครื่องมือหาเสียงของนักการเมืองหญิงพึงระวังเพราะอาจถูกดำเนินคดีด้วยโทษจำคุกที่หนักมากยิ่งขึ้น