บทความ เรื่อง นิติบริกร VS. เศรษฐบริกร โดย..เมธี ครองแก้ว
บทความ
นิติบริกร VS. เศรษฐบริกร
โดย
เมธี ครองแก้ว
ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเสมอๆที่นักกฎหมายถูกใช้ให้เป็นผู้สนับสนุน (หรือคัดค้าน) ความถูกต้องเหมาะสมของกิจกรรมหรือโครงการหนึ่งๆ การทำหน้าที่ของ “นิติบริกร” ผู้นี้หากเป็นเรื่องภายในภาคเอกชนเอง ประชาขนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นโครงการของรัฐ การทำหน้าที่ของนิติบริกรผู้นี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนได้
นิติบริกร น่าจะหมายถึง ผู้มีความรู้หรือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่ใช้ความรู้หรือความเชี่ยวชาญของตน สนับสนุนหรือคัดค้านนโยบาย กิจกรรม หรือการกระทำบางอย่างเพื่อประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ของบุคคล หรือองค์กรที่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายผู้นั้นทำงานอยู่หรือรับใช้อยู่ การสนับสนุนหรือการคัดค้านดังกล่าว, โดยความเข้าใจโดยทั่วไป, มิใช่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากความคิดหรือความเชื่อโดยอิสระของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายผู้นั้น หากเกิดจากความพยายามที่จะสนองตอบต่อเจตนารมณ์ หรือสนับสนุน หรือ “เอาใจ” ผู้ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือ “เจ้านาย” หรือผู้ที่ตนเองสนับสนุนเพื่อให้สมประโยชน์กับจุดมุ่งหมายหรือวัตุประสงค์บางอย่าง อย่างไรก็ตามเป็นไปได้ว่าความคิดหรือความเชื่อของ “นิติบริกร” ผู้นี้เป็นความคิดหรือความเชื่อที่ตรงกับความคิดหรือความเชื่อของผู้บังคับบัญชา หรือ “เจ้านาย” หรือผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็นับว่าผู้ใช้นิติบริกรผู้นี้โชคดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมาช่วยสนับสนุนด้วยใจจริง มิได้กระทำโดยฝืนความรู้สึกหรือถูกบังคับ
ในทางกฎหมายนั้น เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ถึงแม้จะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกัน แต่นักกฎหมายแต่ละคนก็อาจจะเห็นแตกต่างกันในข้อกฎหมายได้ หรือในตัวบทกฎหมายเดียวกัน ก็อาจจะมีความเห็นหรือการตีความกฎหมายแตกต่างกันไปในนักกฎหมายแต่ละคนได้ จริงอยู่มีหลักทางกฎหมายที่มีการสั่งสอนกันมา และเป็นที่ยอมรับกันในบรรดานักกฎหมายทั่วไปหลายหลักด้วยกัน อาทิเช่น การตีความกฎหมายให้ถูกต้องนั้น ต้องตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร่าง หรือหากไม่รู้หรือไม่แน่ใจก็จะต้องตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียงหรือความได้เปรียบเสียเปรียบแก่คู่กรณี หรือต้องตีความให้เกิดผล มิใช่ตีความให้ไม่เกิดผล หรือให้ผลเสียไปดังนี้เป็นต้น แต่ถ้าการตีความของนักกฎหมายคนหนึ่งไปขัดหรือแตกต่างกับนักกฎหมายอีกคนหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วประชาชนทั่วไปจะฟังใคร?
ตรงจุดนี้เองที่ฐานะหรือสถานภาพของนิติบริกรที่แตกต่างกันจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการให้น้ำหนักกับจุดยืน หรือแนวคิดอย่างหนึ่งเมื่อเทียบกับจุดยืนหรือแนวคิดอีกอย่างหนึ่ง แนวคิดของนิติบริกรที่เป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อ ย่อมจะมีโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ยอมรับนับถือมากกว่าบัณฑิตที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยมาใหม่ๆ หรือนิติบริกรที่เป็นหัวหน้าหน่วยกฎหมายของรัฐบาลย่อมจะมีน้ำหนักในความคิดเห็นมากกว่านิติกรฝึกหัดประจำแผนก เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ในทุกยุคทุกสมัยในรัฐบาลชุดต่างๆ จะมีนักกฎหมายที่มีฐานะและสถานภาพทางกฎหมายที่สูงส่งถูกใช้ให้เป็นนิติบริกรเพื่อสนับสนุนนโยบาย กิจกรรม หรือการกระทำบางอย่างของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือนักกฎหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเองใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปสนับสนุนหรือรับประกันความถูกต้องของกิจการใดกิจการหนึ่ง เช่นเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสัญญาให้การรับรองความถูกต้องของสัญญาที่ตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องหรือให้การสนับสนุนด้วยแต่ต้น ดังนี้เป็นต้น
ในขณะที่นิติบริกรมีส่วนช่วยสร้างความสนับสนุนทางกฎหมายให้แก่นโยบายกิจกรรมการการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสายตาของสังคมหรือประชาชนโดยทั่วไป ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลอาจจะได้รับบริการสร้างความชอบธรรมทางเศรษฐศาสตร์จากบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่า “เศรษฐบริกร” ในทำนองเดียวกันเราอาจจะให้คำนิยามของเศรษฐบริกรว่า คือ บุคคลผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ความรู้หรือความเชี่ยวชาญของตน สนับสนุนหรือคัดค้านนโยบาย กิจกรรมหรือการกระทำบางอย่างเพื่อประโยชน์หรือเป็นวัตถุประสงค์ของบุคคลหรือองค์กรที่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ผู้นั้นทำงานอยู่ หรือรับใช้อยู่
ทำไมเราจึงจำเป็นต้องใช้บริการของเศรษฐบริกรเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่นโยบายกิจกรรม หรือการกระทำทางเศรษฐกิจบางอย่าง? เหตุผลที่สำคัญและอาจจะถือได้ว่าเป็นสัจธรรมในทางเศรษฐศาสตร์ คือไม่มีกฎที่แน่นอนตายตัวที่นักเศรษฐศาสตร์จะเห็นพ้องต้องกันหมดในทุกเรี่อง ในทางตรงกันข้ามในเรื่องเดียวกันหรือข้อเท็จจริงเดี่ยวกัน นักเศรษฐศาสตร์แต่ละคนอาจจะเห็นแตกต่างกันออกไปได้ตามแต่ข้อสมมุติเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือความเปลี่ยนแปลงในสภาวะแวดล้อมที่อาจจะมีผลต่อผลลัพธ์ของเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์หนึ่งๆได้ ข้อสรุปที่จะได้จากการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่องใดก็แล้วแต่ อาจจะเกิดขึ้นได้จาก 2 ทาง คือ ด้วยวิธีการอนุมาน (deductive method) หรือวิธีการปริมาน (inductive method) (ศัพท์ชองผู้เขียนเอง) วิธีการอนุมานคือ การสรุปผลจากเหตุที่มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ส่วนวิธีการปริมานนั้นใช้วิธีเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหลายๆครั้งจนแน่ใจแล้วว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้จึงได้สรุปผลออกมา ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั้น การสรุปผลทางเศรษฐศาสตร์โดยวิธีการทดสอบในเชิงประจักษ์นั้น เป็นที่นิยมเพราะทำได้ง่ายและไม่ต้องถกเถียงกันมากเรื่องความสมจริงของข้อสมมติ แต่แม้กระนั้นก็ยังมีระดับของการยอมรับข้อสรุปดังกล่าว เช่นเรื่องบางเรื่อง มีข้อสรุปที่มั่นใจว่าถูกต้องเป็นอย่างมากมีโอกาสผิดพลาดไม่เกินร้อยละเท่านั้น เท่านี้ (เช่น ไม่เกินร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับข้อสรุปบางอย่างที่มีข้อผิดพลาดสูงกว่า ขนาดร้อยละ 20 เป็นต้น)
เมื่อมีความไม่แน่นอนเช่นนี้ ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง หรือมีการงานที่มีความสำคัญสูง หรือที่มีความสามารถที่จะอธิบายเรื่องต่างๆให้ผู้ฟัง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นคล้อยตามด้วย ก็ยอมจะมีน้ำหนักมากกว่าที่จะช่วยสนับสนุนนโยบาย กิจกรรม หรือการกระทำบางอย่างได้ พูดกันโดยหลักการแล้ว บทสรุปของการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์เอง โครงการทางเศรษฐศาสตร์โครงการใดก็แล้วแต่ สามารถจะให้ออกมาในลักษณะใดก็ได้ เช่นให้ออกมาในลักษณะที่ควรให้การสนับสนุน หรือควรให้การคัดค้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่านักเศรษฐศาสตร์ผู้นั้นจะใช้ข้อสมมุติอะไร? มีข้อจำกัดตรงไหน? การใช้บริการของเศรษฐบริกรที่ยินดีที่จะสนับสนุนกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ยากนัก
เมี่อใดก็ตามที่นิติบริกรและเศรษฐบริกรจับมือกันเพื่อสนับสนุนโครงการบางโครงการ โอกาสก็เป็นไปได้มาก ว่าโครงการนั้นจะประสบความสำเร็จในการได้รับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม แต่ความร่วมมือกันระหว่างนิติบริกรและเศรษฐบริกรก็อาจเป็นต้นตอของความเสี่ยงต่อความผิดพลาด หรือความล้มเหลวของโครงการนี้ได้เช่นเดียวกัน หากทั้งสองบริกรนี้จงใจที่จะสนับสนุนโครงการดังกล่าวโดยมิได้คำนึงถึงความเหมาะสมในทางเศรษฐศาสตร์และความถูกต้องในทางกฎหมายตามที่มันควรจะเป็น เรามักจะเห็นอยู่เสมอว่า นโยบายหลายนโยบาย หรือโครงการหลายโครงการที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของนิติบริกร และเศรษฐบริกรในขณะที่รัฐบาลหนึ่งๆ ยังดำเนินการอยู่ ได้ถูกตรวจสอบโดยหน่วยงาน หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ภายหลังที่รัฐบาลนั้นๆ หมดอำนาจลงแล้ว และมีการตรวจพบความผิดพลาดในลักษณะของการทุจริต หรือประพฤติมิชอบอยู่เนืองๆ เพราะฉะนั้นแนวทางปฏิบัติที่น่าจะเหมาะสมที่สุดคือ การที่นักกฎหมายและนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานในภาคสาธารณะยึดหลักคุณธรรม/จริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือทางการบริหาร หรือทางการเมืองของกลุ่มบุคคลใดหรือองค์กรใด ซึ่งหากทำได้เช่นนั้นแล้วความผิดพลาดจากการแสดงบทบาทของนิติบริกรและเศรษฐบริกรก็จะไม่เกิดขึ้น
ดาวน์โหลด
ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเสมอๆที่นักกฎหมายถูกใช้ให้เป็นผู้สนับสนุน (หรือคัดค้าน) ความถูกต้องเหมาะสมของกิจกรรมหรือโครงการหนึ่งๆ การทำหน้าที่ของ “นิติบริกร” ผู้นี้หากเป็นเรื่องภายในภาคเอกชนเอง ประชาขนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นโครงการของรัฐ การทำหน้าที่ของนิติบริกรผู้นี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนได้
นิติบริกร น่าจะหมายถึง ผู้มีความรู้หรือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่ใช้ความรู้หรือความเชี่ยวชาญของตน สนับสนุนหรือคัดค้านนโยบาย กิจกรรม หรือการกระทำบางอย่างเพื่อประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ของบุคคล หรือองค์กรที่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายผู้นั้นทำงานอยู่หรือรับใช้อยู่ การสนับสนุนหรือการคัดค้านดังกล่าว, โดยความเข้าใจโดยทั่วไป, มิใช่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากความคิดหรือความเชื่อโดยอิสระของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายผู้นั้น หากเกิดจากความพยายามที่จะสนองตอบต่อเจตนารมณ์ หรือสนับสนุน หรือ “เอาใจ” ผู้ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือ “เจ้านาย” หรือผู้ที่ตนเองสนับสนุนเพื่อให้สมประโยชน์กับจุดมุ่งหมายหรือวัตุประสงค์บางอย่าง อย่างไรก็ตามเป็นไปได้ว่าความคิดหรือความเชื่อของ “นิติบริกร” ผู้นี้เป็นความคิดหรือความเชื่อที่ตรงกับความคิดหรือความเชื่อของผู้บังคับบัญชา หรือ “เจ้านาย” หรือผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็นับว่าผู้ใช้นิติบริกรผู้นี้โชคดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมาช่วยสนับสนุนด้วยใจจริง มิได้กระทำโดยฝืนความรู้สึกหรือถูกบังคับ
ในทางกฎหมายนั้น เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ถึงแม้จะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกัน แต่นักกฎหมายแต่ละคนก็อาจจะเห็นแตกต่างกันในข้อกฎหมายได้ หรือในตัวบทกฎหมายเดียวกัน ก็อาจจะมีความเห็นหรือการตีความกฎหมายแตกต่างกันไปในนักกฎหมายแต่ละคนได้ จริงอยู่มีหลักทางกฎหมายที่มีการสั่งสอนกันมา และเป็นที่ยอมรับกันในบรรดานักกฎหมายทั่วไปหลายหลักด้วยกัน อาทิเช่น การตีความกฎหมายให้ถูกต้องนั้น ต้องตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร่าง หรือหากไม่รู้หรือไม่แน่ใจก็จะต้องตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียงหรือความได้เปรียบเสียเปรียบแก่คู่กรณี หรือต้องตีความให้เกิดผล มิใช่ตีความให้ไม่เกิดผล หรือให้ผลเสียไปดังนี้เป็นต้น แต่ถ้าการตีความของนักกฎหมายคนหนึ่งไปขัดหรือแตกต่างกับนักกฎหมายอีกคนหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วประชาชนทั่วไปจะฟังใคร?
ตรงจุดนี้เองที่ฐานะหรือสถานภาพของนิติบริกรที่แตกต่างกันจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการให้น้ำหนักกับจุดยืน หรือแนวคิดอย่างหนึ่งเมื่อเทียบกับจุดยืนหรือแนวคิดอีกอย่างหนึ่ง แนวคิดของนิติบริกรที่เป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อ ย่อมจะมีโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ยอมรับนับถือมากกว่าบัณฑิตที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยมาใหม่ๆ หรือนิติบริกรที่เป็นหัวหน้าหน่วยกฎหมายของรัฐบาลย่อมจะมีน้ำหนักในความคิดเห็นมากกว่านิติกรฝึกหัดประจำแผนก เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ในทุกยุคทุกสมัยในรัฐบาลชุดต่างๆ จะมีนักกฎหมายที่มีฐานะและสถานภาพทางกฎหมายที่สูงส่งถูกใช้ให้เป็นนิติบริกรเพื่อสนับสนุนนโยบาย กิจกรรม หรือการกระทำบางอย่างของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือนักกฎหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเองใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปสนับสนุนหรือรับประกันความถูกต้องของกิจการใดกิจการหนึ่ง เช่นเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสัญญาให้การรับรองความถูกต้องของสัญญาที่ตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องหรือให้การสนับสนุนด้วยแต่ต้น ดังนี้เป็นต้น
ในขณะที่นิติบริกรมีส่วนช่วยสร้างความสนับสนุนทางกฎหมายให้แก่นโยบายกิจกรรมการการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสายตาของสังคมหรือประชาชนโดยทั่วไป ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลอาจจะได้รับบริการสร้างความชอบธรรมทางเศรษฐศาสตร์จากบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่า “เศรษฐบริกร” ในทำนองเดียวกันเราอาจจะให้คำนิยามของเศรษฐบริกรว่า คือ บุคคลผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ความรู้หรือความเชี่ยวชาญของตน สนับสนุนหรือคัดค้านนโยบาย กิจกรรมหรือการกระทำบางอย่างเพื่อประโยชน์หรือเป็นวัตถุประสงค์ของบุคคลหรือองค์กรที่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ผู้นั้นทำงานอยู่ หรือรับใช้อยู่
ทำไมเราจึงจำเป็นต้องใช้บริการของเศรษฐบริกรเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่นโยบายกิจกรรม หรือการกระทำทางเศรษฐกิจบางอย่าง? เหตุผลที่สำคัญและอาจจะถือได้ว่าเป็นสัจธรรมในทางเศรษฐศาสตร์ คือไม่มีกฎที่แน่นอนตายตัวที่นักเศรษฐศาสตร์จะเห็นพ้องต้องกันหมดในทุกเรี่อง ในทางตรงกันข้ามในเรื่องเดียวกันหรือข้อเท็จจริงเดี่ยวกัน นักเศรษฐศาสตร์แต่ละคนอาจจะเห็นแตกต่างกันออกไปได้ตามแต่ข้อสมมุติเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือความเปลี่ยนแปลงในสภาวะแวดล้อมที่อาจจะมีผลต่อผลลัพธ์ของเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์หนึ่งๆได้ ข้อสรุปที่จะได้จากการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่องใดก็แล้วแต่ อาจจะเกิดขึ้นได้จาก 2 ทาง คือ ด้วยวิธีการอนุมาน (deductive method) หรือวิธีการปริมาน (inductive method) (ศัพท์ชองผู้เขียนเอง) วิธีการอนุมานคือ การสรุปผลจากเหตุที่มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ส่วนวิธีการปริมานนั้นใช้วิธีเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหลายๆครั้งจนแน่ใจแล้วว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้จึงได้สรุปผลออกมา ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั้น การสรุปผลทางเศรษฐศาสตร์โดยวิธีการทดสอบในเชิงประจักษ์นั้น เป็นที่นิยมเพราะทำได้ง่ายและไม่ต้องถกเถียงกันมากเรื่องความสมจริงของข้อสมมติ แต่แม้กระนั้นก็ยังมีระดับของการยอมรับข้อสรุปดังกล่าว เช่นเรื่องบางเรื่อง มีข้อสรุปที่มั่นใจว่าถูกต้องเป็นอย่างมากมีโอกาสผิดพลาดไม่เกินร้อยละเท่านั้น เท่านี้ (เช่น ไม่เกินร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับข้อสรุปบางอย่างที่มีข้อผิดพลาดสูงกว่า ขนาดร้อยละ 20 เป็นต้น)
เมื่อมีความไม่แน่นอนเช่นนี้ ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง หรือมีการงานที่มีความสำคัญสูง หรือที่มีความสามารถที่จะอธิบายเรื่องต่างๆให้ผู้ฟัง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นคล้อยตามด้วย ก็ยอมจะมีน้ำหนักมากกว่าที่จะช่วยสนับสนุนนโยบาย กิจกรรม หรือการกระทำบางอย่างได้ พูดกันโดยหลักการแล้ว บทสรุปของการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์เอง โครงการทางเศรษฐศาสตร์โครงการใดก็แล้วแต่ สามารถจะให้ออกมาในลักษณะใดก็ได้ เช่นให้ออกมาในลักษณะที่ควรให้การสนับสนุน หรือควรให้การคัดค้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่านักเศรษฐศาสตร์ผู้นั้นจะใช้ข้อสมมุติอะไร? มีข้อจำกัดตรงไหน? การใช้บริการของเศรษฐบริกรที่ยินดีที่จะสนับสนุนกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ยากนัก
เมี่อใดก็ตามที่นิติบริกรและเศรษฐบริกรจับมือกันเพื่อสนับสนุนโครงการบางโครงการ โอกาสก็เป็นไปได้มาก ว่าโครงการนั้นจะประสบความสำเร็จในการได้รับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม แต่ความร่วมมือกันระหว่างนิติบริกรและเศรษฐบริกรก็อาจเป็นต้นตอของความเสี่ยงต่อความผิดพลาด หรือความล้มเหลวของโครงการนี้ได้เช่นเดียวกัน หากทั้งสองบริกรนี้จงใจที่จะสนับสนุนโครงการดังกล่าวโดยมิได้คำนึงถึงความเหมาะสมในทางเศรษฐศาสตร์และความถูกต้องในทางกฎหมายตามที่มันควรจะเป็น เรามักจะเห็นอยู่เสมอว่า นโยบายหลายนโยบาย หรือโครงการหลายโครงการที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของนิติบริกร และเศรษฐบริกรในขณะที่รัฐบาลหนึ่งๆ ยังดำเนินการอยู่ ได้ถูกตรวจสอบโดยหน่วยงาน หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ภายหลังที่รัฐบาลนั้นๆ หมดอำนาจลงแล้ว และมีการตรวจพบความผิดพลาดในลักษณะของการทุจริต หรือประพฤติมิชอบอยู่เนืองๆ เพราะฉะนั้นแนวทางปฏิบัติที่น่าจะเหมาะสมที่สุดคือ การที่นักกฎหมายและนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานในภาคสาธารณะยึดหลักคุณธรรม/จริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือทางการบริหาร หรือทางการเมืองของกลุ่มบุคคลใดหรือองค์กรใด ซึ่งหากทำได้เช่นนั้นแล้วความผิดพลาดจากการแสดงบทบาทของนิติบริกรและเศรษฐบริกรก็จะไม่เกิดขึ้น