การปฏิบัติการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ
วันที่ 28 มีนาคม 2554 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้ร่างพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2)
2. กำหนดให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนซึ่งมิใช่ลูกจ้าง พ.ศ. 2537 (ร่างมาตรา 3)
3. กำหนดคำนิยามคำว่า “ผู้ประกันตน” “เงินสมทบ” และ “สำนักงาน” ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 4)
4. กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน โดยการสมัครเป็นผู้ประกันตนให้แสดงความจำนงต่อสำนักงาน (ร่างมาตรา 5)
5. กำหนดให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นรายเดือนโดยกำหนดให้จ่ายเดือนละครั้ง (ร่างมาตรา 6)
6. กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 100 บาท ได้รับประโยชน์ทดแทน 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย (ร่างมาตรา 7)
7. กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 150 บาท ได้รับประโยชน์ทดแทน 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ (ร่างมาตรา 8)
8. กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตาย ให้ทายาทหรือบุคคลที่ระบุไว้มีสิทธิได้รับค่าทำศพ (ร่างมาตรา 12 และร่างมาตรา 13)
9. กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย หากมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ในกรณีเดียวกัน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนได้เพียงกรณีเดียว (ร่างมาตรา 18)
10. กำหนดให้ในระยะเริ่มแรก ผู้ประกันตนที่เลือกสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 7 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราเดือนละ 70 บาท และผู้ประกันตนที่เลือกสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 8 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราเดือนละ 100 บาท ทั้งนี้ จนกว่าสำนักงานจะประกาศเป็นอย่างอื่น (ร่างมาตรา 20)
11. กำหนดบทเฉพาะกาลสำหรับผู้ประกันตนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนซึ่งมิใช่ลูกจ้าง พ.ศ. 2537 ให้ถือเป็นผู้ประกันตนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกานี้ (ร่างมาตรา 21)