จดหมายตอบข้อซักถามรัฐบาล ในประเด็น "การจำกัดเพดานถือครองที่ดินและนิติบุคคล"
การจำกัดเพดานถือครองที่ดินและนิติบุคคล
คณะกรรมการปฏิรูป
๗ มีนาคม ๒๕๕๔
สืบเนื่องจากที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อซักถามถึงการนำมาตรการการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน ๕๐ ไร่ ที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอจะมีผลบังคับใช้สำหรับนิติบุคคลหรือองค์กร รวมถึงมีหลายฝ่ายในสังคมก็ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการถือครองที่ดินสำหรับการเกษตรขนาดใหญ่ คณะกรรมการปฏิรูป จึงขอนำเสนอคำตอบข้อซักถามของนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำกัดเพดานถือครองที่ดินกับนิติบุคคล เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและพิจารณาไปพร้อมกันด้วย โดยคำตอบข้อซักถามดังกล่าวมีเนื้อหาข้อความดังต่อไปนี้
๑) รูปแบบการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ทั้งส่วนบุคคล สหกรณ์ บุคคลที่ทำพันธะสัญญากับบริษัท และบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐด้วย ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้นี้มีทั้งเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล
๒) ข้อเสนอจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรครัวเรือนละไม่เกิน ๕๐ ไร่ มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ที่ถือครองที่ดินทุกกลุ่มดังกล่าวข้างต้น ได้ทำการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างแท้จริง อันจะส่งผลให้เกิดแรงจูงใจในการผลิต การเพิ่มผลผลิต การบริหารจัดการในระบบการผลิตและการตลาดที่ดี มีความก้าวหน้า มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรรายใหญ่และกลุ่มธุรกิจการเกษตรให้เหลือน้อยลง และมีความสามารถในการแข่งขัน โดย มิประสงค์ที่จะไปทำให้บุคคลหรือองค์กรกลุ่มใดต้องเสียหาย โดยเฉพาะนิติบุคคลในรูปบริษัท สหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นๆ ที่เขาทำดีอยู่แล้ว
๓) คณะกรรมการปฏิรูปเห็นว่าขนาดการถือครองที่ดินขนาดเล็กหรือใหญ่ มิได้บ่งชี้ถึงผลิตภาพการเกษตร และไม่ได้บ่งชี้ว่าประเทศจะขาดแคลนผลิตผลการเกษตรเพื่อส่งออกสร้างรายได้ แต่ความเข้มแข็งและความสามารถของเกษตรกรและภาคธุรกิจต่างหากที่จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและความมั่งคั่งของประเทศชาติในอนาคตอันใกล้
๔) การปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรจึงมุ่งเน้นกระจายการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรให้กับผู้ที่ทำการเกษตรด้วยตนเองอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมสนับสนุนการเกษตรทั้งระบบอย่างครบวงจรให้ประสบความสำเร็จ ด้วยการจำกัดเพดานการถือครองที่ดินให้เป็นมาตรฐานเดียว และทำให้จริงจังไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องครอบคลุมนิติบุคคล องค์กร บริษัทขนาดเล็กขนาดใหญ่ต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มิฉะนั้นจะเป็นช่องว่างให้มีการ หลบเลี่ยงได้ และการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรโดยรวมประเทศก็จะไม่ได้ผล
๕) การทำการเกษตรขนาดใหญ่ในรูปสหกรณ์หรือบริษัท ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่งนั้น ก็สามารถกระทำได้และพัฒนาได้ เพียงแต่จะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอ* หรือสามารถปรับปรุงวิธีการจัดการเสียใหม่ โดยแทนที่จะถือครองที่ดินจำนวนมากแล้วใช้วิธีจ้างเกษตรกรเป็นลูกจ้างทำแทนโดยจ่ายค่าแรงราคาถูก ก็สามารถปรับเปลี่ยนมาเป็นวิธีกระจายที่ดินออกไปให้เกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่นเป็นผู้ถือครองที่ดิน แล้วบริษัทใช้หลักธุรกิจในการบริหารจัดการให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เสนอแผนการผลิตการตลาดที่จูงใจเกษตรกรทำการผลิต ทำสัญญาว่าจ้างที่เป็นธรรมและไม่เอารัดเอาเปรียบ และได้ผลตอบแทนจากการผลิตและการตลาดที่เป็นธรรมด้วย วิธีการใหม่นี้จะช่วยให้ทั้งบริษัทและเกษตรกรรายย่อยเป็นเจ้าของกิจการด้วยกัน ทำกิจการร่วมกัน รับภาระความเสี่ยงที่ทัดเทียมกัน และช่วยกันแก้ไขปัญหาอุปสรรค จะได้เติบโตก้าวหน้าไปพร้อมๆกัน ถึงจะเร็วบ้างช้าบ้างก็เป็นไปตามความรู้ความสามารถของตนแต่ไม่ใช่ร่ำรวยเพราะมีอำนาจเหนือผู้อื่นและใช้อำนาจนั้นอย่างไม่เป็นธรรม ในกรณีสหกรณ์ซึ่งใช้หลักการบริหารจัดการร่วมกันอยู่แล้ว ก็สามารถใช้เพดานการถือครองที่ดินเป็นหลักในการจัดสรรที่ดินให้สมาชิกทำกินได้ ตัวอย่างเช่น หากสหกรณ์มีสมาชิกเกษตรกรทั้งหมด ๒,๐๐๐ คน แต่มีสมาชิกที่ทำกินในที่ดินด้วยตนเองจำนวน ๑๐๐ คน ต้องการถือครองที่ดินเพื่อทำการเกษตรในนามสหกรณ์ สหกรณ์ก็จะถือครองที่ดินในนามสมาชิก ๑๐๐ คนๆละ ๕๐ ไร่ รวมกันได้ไม่เกิน ๕,๐๐๐ ไร่ เป็นต้น
เกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวโดยไม่เลือกปฏิบัติลักษณะนี้เชื่อว่าจะทำให้การเกษตรทุกกลุ่ม ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ เติบโตได้ โดยไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เกษตรกรรายใหญ่หรือบริษัทขนาดใหญ่ไม่สามารถใช้อำนาจทุนและอำนาจรัฐเหนือในการจัดสรรทรัพยากรและอยู่เหนืออำนาจตลาด เกษตรกรรายย่อยมีอำนาจต่อรอง เพราะมีการกระจายที่ดินให้เกษตรกรผู้ผลิตเป็นเจ้าของที่ดิน กลุ่มธุรกิจการเกษตรหรือบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่และเกษตรกรรายย่อยจะมีฐานะเป็นหุ้นส่วนเพื่อนร่วมงาน ซึ่งต่างจากสภาพนายจ้างลูกจ้างในไร่นาดังที่เคยเป็น จึงเป็นการส่งเสริมรูปแบบสหกรณ์หรือความร่วมมือกันเพื่อสร้างผลผลิตสร้างรายได้และกระจายรายได้ให้ทั่วถึงและเป็นธรรมทั่วหน้ากัน