รายงานทีดีอาร์ไอ เรื่อง แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน:เสรีนิยม ประชานิยม หรือรัฐสวัสดิการ ฉบับที่ 73 เดือนสิงหาคม 2552 จาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
รายงานทีดีอาร์ไอ เรื่อง แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน:เสรีนิยม ประชานิยม หรือรัฐสวัสดิการ
ฉบับที่ 73 เดือนสิงหาคม 2552
จาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เผยแพร่ “รายงานทีดีอาร์ไอ” (มีชื่อเดิมว่า “สมุดปกขาว
ทีดีอาร์ไอ”) มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2536 โดยคัดสรรกลั่นกรองงานวิจัยต่างๆ มานำเสนออย่างเรียบง่ายเพื่อ
จุดประกายให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์
“รายงานทีดีอาร์ไอ” มีโอกาสรับใช้สังคมไทยเป็นระยะๆ แบบรายสะดวก อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงทาง
เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อนขึ้น “รายงานทีดีอาร์ไอ” จึงจะมาพบกับผู้อ่านเป็นรายเดือนด้วยรูปเล่มกะทัดรัดซึ่งห่อหุ้มเนื้อหาที่แน่นกระชับ และยังคงนำเสนอเรื่องราวต่างๆ อย่างเรียบง่ายแบบเป็นมิตรต่อความสนใจใคร่รู้ของผู้อ่านทั่วไป
นอกจากนี้ จะมีการนำงานวิจัยจำนวนหนึ่งซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวเนื่องกันมาจัดทำเป็น “รายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับ
พิเศษ” เป็นครั้งคราวด้วย
บทนำ
ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศไทยยึดถือนโยบายเศรษฐกิจที่เรียกอย่างกว้างๆว่านโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม โดยรัฐบาลชุดต่างๆ มิได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ นอกจากหวังว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีอานิสงส์ไปถึงคนในระดับฐานราก และจะทำให้ความยากจนลดลงไปเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แล้ว แนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมไม่ได้รับการยอมรับเหมือนที่ผ่านมา จึงเปิดโอกาสให้พรรคไทยรักไทยนำเสนอแนวนโยบายใหม่ที่ต่อมาเรียกกันว่า “ประชานิยม” เพื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2544 แนวนโยบายประชานิยมนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างท่วมท้น นับเป็นการเปิดมิติใหม่ทางการเมืองและทางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ บทความนี้นำเสนอแนวนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยยุคต่างๆ นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งแบ่งได้เป็นสองกลุ่มหลักคือ นโยบายเสรีนิยมและนโยบาย ประชานิยม จากนั้นเป็นการนำเสนอแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งพยายามจะให้สวัสดิการแก่ประชาชนในรูปแบบที่ถาวรและยั่งยืนกว่าแนวนโยบายที่ผ่านมา ในตอนท้ายเป็นบทสรุป และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนของไทย