เกษตรฯ เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การประมงเข้าสภา หลังครม.ไฟเขียวอนุมัติเห็นชอบ
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.....ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการทรัพยากรประมงของประเทศไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถนำทรัพยากรประมงที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งก็สอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ข้อ 3.3 ด้านนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการประมง ทั้งในการเพาะเลี้ยงและในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการฟื้นฟูทรัพยากรประมงและจัดระเบียบการทำประมงให้สมดุลกับศักยภาพการผลิตตามธรรมชาติ ขยายพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการประมงทะเลพื้นบ้าน ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แสวงหาลู่ทางการทำประมงในน่านน้ำต่างประเทศที่ไม่ขัดต่อระเบียบขององค์การระหว่างประเทศและประเทศที่นำเข้าโดยการพัฒนากองเรือประมงน้ำลึกและความร่วมมือกับต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาสินค้าประมงให้มีคุณภาพและปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนพัฒนากระบวนการตรวจสอบคุณภาพสัตว์น้ำตามมาตรฐานสากล
"ขั้นตอนการดำเนินการต่อไปหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวบังคับใช้โดยเร่งด่วนกระทรวงเกษตรฯ จะเสนอต่อคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยเร็วต่อไป” นายธีระ กล่าว
นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ........ จะเน้นให้เกิดความครอบคลุมทั้งด้านนโยบาย เศรษฐกิจ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการประมงในเชิงปฏิบัติ เช่น การกำหนดเขตการประมง สุขอนามัยสัตว์น้ำ การนำเข้า-ส่งออก การส่งเสริม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การกำหนดบทลงโทษ รวมถึงบริหารจัดการด้านการประมง ที่ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการประมงของประเทศ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และมีหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประมงร่วมเป็นกรรมการ
นอกจากนี้ จะเน้นการปรับปรุงข้อกำหนด ข้อบังคับปลีกย่อยให้มีความครอบคลุม ชัดเจนต่อการนำไปปฏิบัติและง่ายต่อการตรวจสอบของทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น อาทิ
1.กำหนดให้มีมาตรการในการบริหารจัดการการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ
2. กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ในการควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมง หรืออาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ
3.การกำหนดหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อให้ได้สัตว์น้ำที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการในการควบคุมสุขอนามัยของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ
4.การกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ในการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การออกหนังสือรับรองสุขภาพหรือคุณภาพสัตว์น้ำ หรือหนังสือรับรองคุณภาพด้านมาตรฐานสุขอนามัยของสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือหนังสือรับรองอื่นตามความต้องการของประเทศปลายทาง
5. กำหนดให้มีคณะกรรมการประมงนอกน่านน้ำไทย ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและนำเสนอการแก้ไขปัญหาการทำการประมงนอกน่านน้ำไทย และเสนอแนะนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการประมงนอกน่านน้ำไทยต่อคณะกรรมการประมงแห่งชาติ
และ 6.การกำหนดให้มีเขตประมงในน่านน้ำไทยเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตประมงทะเลชายฝั่ง เขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง และเขตประมงน้ำจืด ซึ่งเป็นการแบ่งเขตตามลักษณะของพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบกิจการประมงรายเล็กและรายใหญ่ รวมทั้งให้มีหลักเกณฑ์ในการควบคุมการทำประมงในเขตการประมงแต่ละเขต
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ได้จากการปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่ จะทำให้การประมงของไทยพัฒนาขึ้นได้ทั้งระบบตั้งแต่มาตรฐานการผลิต การรักษาระบบนิเวศน์ประมง การจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสามารถเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ปริมาณในน่านน้ำ 1-1.7 ล้านตัน/ปี และปริมาณนอกน่านน้ำ 1-1.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย