การรักษาเสถียรภาพราคายาง
วันที่ 24 มกราคม 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้นสำหรับยางแผ่นรมควันของสถาบันเกษตรกรที่ยังไม่สามารถขายได้
2. อนุมัติงบช่วยเหลือโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 15,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามโครงการฯ
3. อนุมัติงบกลางปีงบประมาณ 2555 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้นสำหรับยางแผ่นรมควันของสถาบันเกษตรกรที่ยังไม่สามารถขายได้ วงเงินรวม 1,335.937 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 ได้พิจารณาเรื่องการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา และมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง แนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น สำหรับยางแผ่นรมควันของสถาบันเกษตรกรที่ยังไม่สามารถขายได้ แนวทางการช่วยเหลือเงินทุนหมุนเวียนผู้ประกอบการยางพารา และกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานเพิ่มเติม ดังนี้
1. โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง
1) วัตถุประสงค์
(1) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยดำเนินการชะลอการจำหน่ายยางออกสู่ตลาดในช่วง ที่ราคายางผันผวน
(2) เพื่อพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรในการรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยสนับสนุนวงเงินกู้ใช้รับซื้อน้ำยางสด หรือยางแผ่นดิบ หรือยางก้อนถ้วย มาแปรรูป หรือส่งขายให้องค์การสวนยาง นำไปแปรรูปเป็นน้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่งรมควันอัดก้อน ยางแท่ง ทำให้สถาบันเกษตรกร และ หรือองค์การสวนยาง สามารถเก็บรักษายางไว้ได้เอง รอจำหน่ายเมื่อราคาเหมาะสม หรือเมื่อสิ้นสุดโครงการ
2) เป้าหมาย ลดอุปทานยางเพื่อให้มีราคารับซื้อที่เหมาะสมและยั่งยืนอยู่ที่ระดับประมาณ 120 บาทต่อกิโลกรัม
3) ระยะเวลาของโครงการ 1 ปี 3 เดือน (มกราคม 2555 – มีนาคม 2556)
4) วิธีการดำเนินงาน
(1) ประชุมชี้แจงโครงการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ทราบและดำเนินการในส่วนที่ เกี่ยวข้อง
(2) ประชาสัมพันธ์และรับสมัครสถาบันเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ
(3) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ให้แก่สถาบันเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการและผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการบริหารโครงการระดับจังหวัด และให้แก่องค์การสวนยาง ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ยกเว้น สถาบันเกษตรกรที่เคยได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำมาแล้วสามารถได้รับการจัดสรรได้ทันที
(4) ให้ความรู้การแปรรูปยางแผ่นรมควัน การอัดก้อน และการเก็บรักษายางแก่สถาบันเกษตรกรที่ซื้อยางจากสมาชิกมาผลิตและเก็บรวบรวม
(5) สถาบันเกษตรกร และองค์การสวนยาง ซื้อยางจากสมาชิก ผลิตและเก็บรวบรวม โดยการแนะนำและตรวจสอบคุณภาพยางให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งเก็บรักษายางไว้ในโกดังของสถาบันเกษตรกร หรือสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือของกรมวิชาการเกษตร หรือจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม
(6) แนะนำวิธีการปฏิบัติทางบัญชีของโครงการและตรวจสอบบัญชีของแต่ละสหกรณ์ รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขายยาง
(7) ตรวจสอบสต๊อกยางอย่างสม่ำเสมอ
(8) ติดตามและประเมินผลโครงการ
จัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและดำเนินงาน การบริหารโครงการฯ ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกำกับ ดูแล ตรวจสอบ ติดตามและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ซึ่งคณะกรรมการบริหารโครงการสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม
5) หน่วยงานที่รับผิดชอบ
(1) หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร องค์การ สวนยาง สำนักงานดองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร
(2) หน่วยงานสนับสนุน ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
2. แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้นสำหรับยางแผนรมควันของสถาบันเกษตรกรที่ยังไม่สามารถที่ ขายได้
1) มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 2,000 ล้านบาท (สองพันล้านบาท) โดยใช้ผลผลิตยางพาราจำนำเป็นประกัน ทั้งนี้ ให้สถาบันเกษตรกรเป็น ผู้รับภาระดอกเบี้ย
2) รัฐจะรับภาระดำเนินการเรื่องประกันวินาศภัย โดยจะขอรับการสนับสนุนงบกลางประจำปีงบประมาณ 5555 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 13.333 ล้านบาท
3. ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา
3.1 โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง
1) วงเงินดำเนินงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน
(1) เงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะให้กู้เป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 เพื่อให้สถาบันเกษตรกร และองค์การสวนยางใช้ในการรับซื้อยางนำไปแปรรูปและรอขายในราคาที่เหมาะสมในวงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท ใช้เงินจากงบช่วยเหลือโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจะจัดสรรให้สถาบันเกษตรกร 5,000 ล้านบาท องค์การสวนยาง 10,000 ล้านบาท
(2) งบค่าใช้จ่ายของโครงการ ซึ่งจะขอรับการสนับสนุนจากงบกลางประจำปีงบประมาณ 2555 จำนวน 1,322.604 ล้านบาท แยกเป็น
- งบบริหารโครงการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และองค์การสวนยาง (อัตราร้อยละ 3 ต่อปี) เป็นเงิน 450 ล้านบาท
- เงินค่าชดเชยต้นทุนเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ (อัตราดอกเบี้ย FDR + 1.5 ซึ่งปัจจุบันรวมเป็นเท่ากับ ร้อยละ 3.9 ต่อปี) เป็นเงิน 731.25 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายดำเนินการเรื่องการประกันวินาศภัย 100 ล้านบาท สำหรับผลผลิตยางที่มีการรับซื้อไว้และถูกใช้เป็นหลักประกัน
- งบบริหารและดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวม 7 หน่วยงาน เป็นเงิน 41.354 ล้านบาท
3.2 แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้นสำหรับยางแผ่นรวมควันของสถาบันเกษตรกรที่ยังไม่สามารถขายได้
1) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนสินเชื่อ จำนวน 2,000 ล้านบาท สถาบันเกษตรกรเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ย
2) รัฐรับภาระดำเนินการเรื่องประกันวินาศภัย โดยขอรับสนับสนุนเงินงบกลางประจำปีงบประมาณ 2555 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 13.333 ล้านบาท