นายกฯ แถลงแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแถลงข่าวแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ภายใต้หลักการวางแนวทางการดำเนินงานปรับปรุงฟื้นฟูระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ สร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่สำคัญ พร้อมบูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
วันนี้ (20 ม.ค.55) เวลา 10.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เป็นประธานการแถลงข่าวแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ร่วมกับ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น นายกิจจา ผลภาษี ประธานคณะอนุกรรมการด้านการวางระบบบริหารจัดการน้ำระยะยาวและอย่างยั่งยืน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ กยน. โดยมีคณะรัฐมนตรี สื่อมวลชน ร่วมรับฟังการแถลงข่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. สาเหตุและความเสียหายจากอุทกภัยในปี 2554 เกิดจากปริมาณฝนที่ตกมาก ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ต.ค. 54 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 39% และ 22% ในภาคเหนือ และภาคกลาง ตามลำดับ จากพายุโซนร้อนไหหม่านกเตน เนสาด และนาลแก ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักของภาคเหนือในเดือน ส.ค. 54 มากกว่า ส.ค. 53 ถึง 9,000 ล้านลบ.ม.และส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ก่อให้เกิดอุทกภัยและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน จำนวน 4,213,404ครัวเรือนและมีผู้เสียชีวิต 676 ราย สูญหาย 3 คน
โดยที่สาเหตุของอุทกภัยในครั้งดังกล่าว มาจากการที่พื้นที่ป่าไม้ลดลง ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย องค์กรที่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบยังไม่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ การขาดแผนหลักและงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว ตลอดจนระบบข้อมูลทรัพยากรน้ำของประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพกฏหมายด้านการจัดการทรัพยากรน้ำไม่ทันสมัย และการขาดความพร้อมในการเผชิญอุทกภัยขนาดใหญ่ เป็นต้น
จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งดังกล่าว ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งที่เป็นมูลค่าความเสียหายและค่าเสียโอกาสจากการเกิดอุทกภัยด้านการจัดการน้ำ การสาธารณูปโภคสาธารณูปการ แหล่งศิลปวัฒนธรรม ภาคเกษตร อุตสาหกรรม ความสูญเสียด้านสังคม บ้านเรือนประชาชนและความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม รวม 1.42 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นความเสียหายภาครัฐ 0.14 ล้านล้านบาท และภาคเอกชน 1.28 ล้านล้านบาท สถานประกอบการ 28,679 แห่ง นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง และแรงงาน 993,944 คนได้รับผลกระทบ
2. การดำเนินงานของรัฐบาล รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญ เร่งด่วนของปัญหาดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ขึ้น เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ป้องกัน บรรเทา และลดผลกระทบจากอุทกภัยในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เกษตรกร ภาคธุรกิจ และนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนสร้างความมั่นคงของประเทศ และภาคการประกันภัย โดยได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
3. สาระสำคัญของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ของรัฐบาล)
3.1 หลักการแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีหลักการในการวางแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ด้าน คือ (1) ปรับปรุงและฟื้นฟูระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ (2) สร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญและ (3) บูรณาการการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำให้ลงสู่ทะเลโดยเร็ว
3.2 แนวคิด การบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ต้นน้ำ จะให้ความสำคัญกับการซับน้ำ ชะลอน้ำ มิให้ไหลบ่าอย่างรุนแรงในขณะที่พื้นที่กลางน้ำจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำเช่น ทางระบายน้ำหลาก (Floodway) แก้มลิง และพื้นที่ปลายน้ำ จะให้ความสำคัญกับการเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเลอย่างรวดเร็วตามลำดับ
3.3 เป้าหมายระยะสั้น ได้แก่ การลดระดับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอุทกภัยในปี 2555 ระยะยาว ได้แก่ การปรับระบบการบริหารจัดการอุทกภัยอย่างบูรณาการและยั่งยืน
3.4 แนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วยแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในปี 2555 และแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยแบบบูรณาการและยั่งยืน ดังนี้
3.4.1 แผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในปี 2555 ซึ่งมีเป้าหมายคือการลดระดับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำท่วมในปี 2555 โดยใช้งบประมาณ 18,110 ล้านบาทซึ่งได้จัดสรรงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้วประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานในแต่ละด้าน ดังนี้
(1) การจัดทำระบบข้อมูล ระบบพยากรณ์ และระบบเตือนภัย ที่มีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพโดยการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติเพื่อพัฒนาระบบข้อมูล สร้างระบบพยากรณ์ และระบบเตือนภัยที่มีเอกภาพและประสิทธิภาพโดยจัดทำระบบการพยากรณ์สถานการณ์น้ำให้ทันเหตุการณ์จัดทำระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ ติดตั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ระบบดาวเทียม ระบบติดตามผลระยะไกล เป็นต้น
(2) การบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำโดยการเริ่มดำเนินปลูกป่าและพืชซับน้ำดำเนินการปลูกป่าและพืชซับน้ำตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง
- ปลูกป่าแบบไม่ปลูก
- คนอยู่กับป่า
- ปลูกป่าปลูกคน
(3) การบริหารจัดการพื้นที่กลางน้ำโดยบริหารจัดการการระบายน้ำของเขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ และเขื่อนชัยนาท เป็นต้น จัดทำเส้นทางรับน้ำและแก้มลิงขนาดใหญ่ปรับปรุงคันกั้นน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ คลองหกวา ฯลฯ ทำกำแพงป้องกันตลิ่ง เช่น คลองบางกรวย ปรับปรุงประตูน้ำ สถานีสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขุดลอกคูคลอง ประมาณ 100 แห่ง เช่น บางโฉมศรี ระพีพัฒน์รังสิต ฯลฯ
(4) การบริหารจัดการพื้นที่ปลายน้ำโดยการขุดลอกคลองและกำจัดวัชพืช เช่น คลองสามวา, คลองแสนแสบ, คลองทวีวัฒนา, คลองประเวศ ฯลฯ จัดทำและเสริมคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ เช่น คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ เป็นต้น ปรับปรุงและขุดลอกทางระบายน้ำ กรุงเทพฯ 37 แห่ง นครปฐม 9 แห่ง นนทบุรี 4 แห่ง ปทุมธานี 19 แห่ง สมุทรสาคร 3 แห่ง สิงห์บุรี 1 แห่ง สุพรรณบุรี 1 แห่ง ฯลฯ ขุดลอกคลองใต้สะพานรถไฟข้ามคลอง สายตะวันออก 9 แห่งสายวงเวียนใหญ่ มหาชัย 4 แห่งสายเหนือที่กม. 24 1 แห่ง ขุดลอกคลองสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนปรับปรุงประตูน้ำ สถานีสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ประมาณ 100 แห่ง เช่น ลาดพร้าว บางเขน บางซื่อ บางแก้ว มหาสวัสดิ์ พระยาบรรลือ เป็นต้น ตลอดจน ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ
(5) การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโดยการสร้างแนวป้องกันน้ำล้นตลิ่ง ปรับปรุงคันคลอง สร้างประตูน้ำ และสถานีสูบน้ำ ประมาณ 15 แห่ง เช่น คลองเชียงรากน้อย คลองพระองค์ฯ คลองหกบน สถานีสูบน้ำเปรมเหนือ บางปะอิน เป็นต้น เสริมถนนเป็นคันกั้นน้ำ รอบนิคมอุตสาหกรรม ปทุมธานี 3 แห่ง กม. 58 ทางหลวงหมายเลข 346 บางพูน และกม. 20 เสริมถนนเป็นคันกั้นน้ำ รอบนิคมอุตสาหกรรม พระนครศรีอยุธยา 5 แห่ง เช่น ทางหลวง 308 และ309 ประตูน้ำพระอินทร์ จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับนิคมฯ เพื่อจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม และระบบระบายน้ำด้วยตนเอง จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับนิคมฯ เพื่อจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำด้วยตนเอง และจัดตั้งกองทุนประกันภัย เพื่อช่วยเหลือการประกันวินาศภัยในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม
(6) พัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการ โดยการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการในลักษณะ Single Command เพื่อใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบปรับปรุงระบบเตือนภัยและแผนเผชิญเหตุ ปรับปรุงแผนช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระหว่างน้ำท่วมและน้ำลดปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป
3.4.2 แผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยแบบบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายคือการปรับระบบการบริหารจัดการน้ำท่วมอย่างบูรณาการและยั่งยืนประกอบด้วยการดำเนินงาน ดังนี้
(1) การพัฒนาระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และระบบเตือนภัยวงเงิน 3,000 ล้านบาท
(2) การฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศวงเงิน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การปลูกป่า สร้างฝายแม้ว อนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก และการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนในลุ่มน้ำยม สะแกกรัง น่าน และป่าสัก
(3) การกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ วงเงิน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วยการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองในเขตเจ้าพระยาตอนบน และตอนล่าง ประมาณ 10 แห่ง การกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายเป็นกรณีพิเศษ การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานให้เป็นแก้มลิงประมาณ 2 ล้านไร่ ในฤดูน้ำหลาก
(4) การจัดสร้างและปรับปรุงโครงข่ายระบายน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ วงเงิน 177,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การจัดทำทางน้ำหลากหรือทางผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ไปทางตะวันออกหรือทั้ง 2 ฝั่ง การจัดทำโครงการจัดทำผังการใช้ที่ดิน/และการใช้ประโยชน์ที่ดินในผัง รวมทั้งจัดทำพื้นที่ปิดล้อม และโครงการปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำส่วนที่เหลือ
กรรมการและเลขานุการ กยน. กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยสรุปวันนี้มีแผนแม่บทแล้ว และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว โดยมีสองแผนปฏิบัติการคือแผนปฏิบัติการเร่งด่วนกับแผนปฏิบัติการในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม แผนแม่บทจะต้องมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันสมัยเมื่อมีข้อมูลเข้ามาเพิ่มเติม อย่างเมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.เชียงใหม่ ก็มีข้อเสนอจาก 8 จังหวัดภาคเหนือเข้ามา ฉะนั้นจะต้องนำมาวิเคราะห์ร่วมกับแผนแม่บทว่า ได้ครอบคลุมไว้แล้วหรือยัง
ทั้งนี้ แผนแม่บทในส่วนของแผนปฏิบัติการนั้นได้ระบุพื้นที่โครงการชัดเจน โดยเฉพาะแผนระยะสั้นที่เน้นพื้นที่ปลายน้ำ พื้นที่เศรษฐกิจ รอบกรุงเทพมหานคร รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเมื่อพื้นที่โครงการชัดเจนแล้วขั้นตอนการทำงานต่อไป คือ
ขั้นที่ 1. การนำข้อมูลทั้งหมดลงในแผนที่ ทำการระบุพิกัดของพื้นที่โครงการ นำขึ้นเว็บไซต์ ทำเป็นเอกสารเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
ขั้นที่ 2. ขั้นตอนการปฏิบัติที่คณะกรรมการ กยน. จะได้ประชุมต่อเนื่อง 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ประชุมหน่วยปฏิบัติทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการเพื่อทำความเข้าใจ ครั้งที่ 2 การลงไปดูรายละเอียดของพื้นที่ต้นน้ำ ว่าหน่วยราชการต่าง ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการแบ่งงานความรับผิดชอบในพื้นที่โครงการอย่างไร ครั้งที่ 3 การดูเรื่องของปลายน้ำ และครั้งที่ 4 การดูเรื่องของกลางน้ำ และ
ขั้นที่ 3. การติดตามประเมินผล ที่คณะผู้ตรวจราชการกระทรวงต่าง ๆ จะร่วมกันทำงาน รวมทั้งจะมีคณะตรวจติดตามของคณะกรรมการ กยน. ที่จะลงไปดูพื้นที่โดยไม่บอกล่วงหน้า ซึ่งพื้นที่โครงการที่ได้รับงบประมาณไปนั้นนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ไปดูด้วยตนเองร่วมกับคณะกรรมการฯ ฉะนั้นจึงให้ความมั่นใจได้ว่าเมื่อรับไปแล้วไม่ล่าช้า มีการทำจริง ทำตามที่บอกไว้ และประชาชนมีส่วนร่วมในพื้นที่โครงการตรงนั้น
ในช่วงการตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน ในประเด็นคำถามที่ว่า จากที่ได้มีแผนฯ แล้ว จะทำอย่างไรเมื่อจะทำตามแผนฯ แต่เกิดการต่อต้านจากมวลชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยประธานคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น กล่าวว่า ในระยะสั้น สิ่งที่ส่วนราชการจะทำได้ก็ต้องทำไปก่อน อะไรที่เป็นปัญหากับมวลชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยราชการ จะต้องเข้าไปช่วยกัน และจะต้องมีกลไกในการไประงับเหตุอย่างนั้น
ส่วนในระยะยาว ระบบของการอพยพหรือการให้ค่าตอบแทนคงจำเป็นจะต้องนำมาใช้ เช่นเดียวกับการย้ายชุมชนแออัดหรือย้ายตลาดสนามหลวง เป็นต้น คิดว่าจะต้องลองทำดูและแก้ไขปัญหาไปในขั้นตอนของการทำงาน หากตั้งป้อมว่า มีปัญหาตั้งแต่แรกก็จะไม่ได้เริ่ม ซึ่งคงต้องเริ่มเดี๋ยวนี้และมีปัญหาอะไรก็ต้องช่วยกันแก้ ทั้งนี้ สิ่งที่ตนคาดหวังไว้คือประชาชนที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการ จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา เพราะประชาชนจะต้องมีปัญหาเช่นกันหากโครงการไม่สามารถไปได้