คอ.นธ.เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองว่าด้วยความสามัคคี และความสมานฉันท์ของคนในชาติ
การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองว่าด้วยความสามัคคี และความสมานฉันท์ของคนในชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะรัฐมนตรีในวันเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 มีความตอนหนึ่งว่า “โลกนี้มีความวุ่นวายพอแล้ว ขอให้รัฐบาลทำให้ประเทศไทยมีความสงบเรียบร้อย เป็นที่อยู่ที่สบายในโลก” พระราชดำรัสนี้ถือว่า พระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทยทั้งชาติ พึงน้อมรับไว้และปฏิบัติตาม โดยช่วยกันทำให้ประเทศปราศจากความวุ่นวาย และให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยการนำความสามัคคีและความสมานฉันท์มาสู่คนในชาติ ด้วยการยึดแนวทางข้างต้น
คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) จึงขอเสนอหลักการและวิธีการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองดังนี้
--------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ข้อ 1. เสนอให้การปกครองประเทศเป็นการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยที่แท้จริง ให้เป็น ที่ยอมรับของสังคมโลกในปัจจุบัน ที่รับรองหลักประชาธิปไตยว่า เป็นการปกครอง ประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
ข้อ 2. เป็นการปกครองโดยอาศัยเสียงข้างมากของประชาชนเป็นหลัก แต่ต้องให้ความสำคัญและ คุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย
ข้อ 3. เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อ 4. เป็นการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้น ทางรัฐสภาคณะรัฐมนตรีและศาล เพียงสามทางเท่านั้น
ข้อ 5. การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่องค์กรอัยการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
ข้อ 6. ความหมายของ “หลักนิติธรรม” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง โดยสรุปได้แก่ การปกครองบ้านเมืองต้องปกครองโดยกฎหมาย กฎหมายที่ใช้ปกครองต้องเป็นกฎหมายที่ดี และมีความเป็นธรรม กฎหมายที่ดี คือ กฎหมายที่ไม่ขัดต่อหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม กฎหมายต้องให้ความ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความ เสมอภาคของบุคคล กฎหมายต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับ แก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง “ โดยยึดหลักการสำคัญ ที่ว่า ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ” ห้ามออกกฎหมายย้อนหลังไปลงโทษ หรือเพิ่มโทษ ไม่ว่าจะเป็นโทษทางอาญา หรือโทษทางด้านสิทธิพลเมือง (ได้แก่การจำกัดสิทธิ ทางการเมือง) หลักการที่ใช้ในการลงโทษในกรณีมีบางคนในคณะได้กระทำความผิด จะลงโทษได้เฉพาะ ผู้กระทำความผิดเท่านั้น บุคคลอื่นๆ ในคณะนั้น อาจต้องรับผิดร่วมด้วย ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลคณะนั้นได้มอบหมายเห็นชอบ ร่วมรู้เห็นหรือยินยอมกับการกระทำ ความผิดนั้นซึ่งกรณีนี้ถือเป็นข้อยกเว้นของหลักทั่วไปที่ว่า “บุคคลจักได้รับผลร้ายก็เฉพาะ จากการกระทำความผิดของเขาเอง”
โดยสรุป การปกครองโดยหลักนิติธรรม ได้แก่ “การปกครองตามทำนองคลองธรรม” เท่านั้น การใดๆ ที่ขัดต่อหลักการปกครองตามทำนองคลองธรรม ถือว่าเป็นการปกครองหรือเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักนิติธรรมทั้งสิ้น
ข้อ 7. เนื่องจากการพิจารณาว่า การปกครองประเทศ ดำเนินไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ จะต้อง พิจารณาถึงกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศในขณะนั้นๆ เป็นหลักพิจารณา เมื่อได้พิจารณาถึงที่มา และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยละเอียดแล้ว เห็นว่าแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติบางส่วนเป็นบทบัญญัติที่ดี เพราะยึดมั่นในหลักนิติธรรม แต่ก็มีบทบัญญัติหลายส่วนที่ลบล้างและขัดแย้งกันเอง และ มีบทบัญญัติหลายบทหลายมาตราที่ขัดกับหลักนิติธรรมอย่างแจ้งชัด นอกจากนั้นยังคงให้ คณะบุคคลบางคณะที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในศาลรัฐธรรมนูญ และในองค์กร อิสระซึ่งเป็นองค์กรที่กำหนดชะตากรรมของประเทศ และของประชาชน ของพรรคการเมือง ของประชาชน ของสมาชิกรัฐสภา ที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะปฏิวัติ ซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชน เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และ อำนาจอธิปไตยกลับคืนมาเป็นของประชาชนแล้ว บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ สำคัญของบ้านเมือง โดยคณะปฏิวัติจึงต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในทันที และให้มี กระบวนการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้ตำแหน่งสำคัญทุกตำแหน่งดังกล่าว ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชอำนาจ โดยเฉพาะ และให้สอดคล้องกับประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ด้วยเหตุผลสำคัญข้างต้น ประกอบกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของ ประเทศที่สนับสนุนพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายว่า ถ้าได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็น เสียงข้างมากแล้ว จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที เมื่อผลการเลือกตั้งได้แสดง ถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของประชาชนแล้ว จึงต้องดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ กับประชาชนโดยทันที ก่อนที่จะมีเหตุอันทำให้บ้านเมืองเสียหายไปมากกว่านี้เกิดขึ้น โดยผลพวงของกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่ง หรือโดยการกระทำของบุคคลหรือคณะ บุคคลที่ยังทำหน้าที่อยู่ โดยขัดต่อกฎหมายและขัดต่อหลักนิติธรรม เช่น ยังมีอำนาจในการ ยุบพรรคการเมือง หรือ การวินิจฉัยสถานภาพการเป็นสมาชิกรัฐสภา เป็นต้น ซึ่งจะก่อให้เกด ความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองอย่างมาก