มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยดำเนินการออกกฎกระทรวง ฉบับ.... (พ.ศ.....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ดังนี้
1. มาตรการให้หักค่าลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้าน ให้หักค่าลดหย่อนภาษีโดยการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมรวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร หรือที่อยู่ในเขตอาคาร หรือห้องชุดในอาคารชุด และทรัพย์สินที่มีการประกอบติดตั้งติดกับตัวอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด รั้ว และประตูรั้ว แต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ทรัพย์สินที่ได้รับการซ่อมแซมนั้นต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และอยู่ในท้องที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย
(2) ผู้มีเงินได้ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น หรือเป็นผู้เช่าทรัพย์สินนั้น หรือเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการและใช้ประโยชน์อื่น และต้องเป็นผู้จ่ายค่าซ่อมแซมรวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และถ้าผู้มีเงินได้นั้นจ่ายค่าซ่อมแซมรวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินเกินกว่าหนึ่งแห่ง ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีรวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท
(3) ทรัพย์สินที่ได้ทำประกันภัยคุ้มครองจากเหตุอุทกภัย ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเฉพาะค่าซ่อมแซมรวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินในส่วนที่ได้จ่ายเกินกว่าค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัย แต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท
(4) ผู้มีเงินได้ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีในปีที่ได้จ่ายค่าซ่อมแซมรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สิน ในปีภาษี พ.ศ. 2554 หรือในปีภาษี พ.ศ. 2555 ถ้าใช้สิทธิยกเว้นในปีภาษี พ.ศ. 2554 และปีภาษี พ.ศ. 2555 ทั้งสองปีภาษี ให้ได้รับสิทธิยกเว้นรวมกันไม่เกินหนึ่งแสนบาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2. มาตรการให้หักค่าลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ ให้หักค่าลดหย่อนภาษีโดยการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ รวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ แต่ไม่เกินสามหมื่นบาท ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) รถยนต์ที่ได้รับการซ่อมแซมนั้นต้องเป็นรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกน้ำท่วมรถยนต์เนื่องจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554
(2) ผู้มีเงินได้ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับการซ่อมแซม และต้องเป็นผู้ที่อยู่ในท้องที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยโดยมีอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดที่ผู้มีเงินได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือเป็นผู้เช่า หรือเป็นผู้ใช้อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดเป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการ อยู่ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยนั้น
(3) ผู้มีเงินได้ต้องเป็นผู้จ่ายค่าซ่อมแซมรถยนต์รวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ โดยได้จ่ายในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และถ้าผู้มีเงินได้นั้นจ่ายค่าซ่อมแซมรวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์เกินกว่าหนึ่งคัน ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีรวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินสามหมื่นบาท
(4) รถยนต์ที่ได้ทำประกันภัยคุ้มครองจากเหตุอุทกภัย ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเฉพาะค่าซ่อมแซมรถยนต์รวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ ในส่วนที่เกินกว่าค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัย แต่ไม่เกินสามหมื่นบาท
(5) ผู้มีเงินได้ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ในปีที่ได้จ่ายค่าซ่อมแซมรถยนต์ในภาษีพ.ศ. 2554 หรือในปีภาษี พ.ศ. 2555 ถ้าใช้สิทธิยกเว้นในปีภาษี พ.ศ. 2554 และปีภาษี พ.ศ. 2555 ทั้งสองปีภาษี ให้ได้รับสิทธิยกเว้นรวมกันไม่เกินสามหมื่นบาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด