ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยชำนาญ จันทร์เรือง
ผู้อ่านที่เป็นชาวเมืองหลวงเห็นหัวข้อบทความนี้อาจจะมองข้ามผ่านเลยไปเพราะไม่รู้สึกถึงผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของตนเอง และคุ้นเคยต่อการบริหาราชการแผ่นดินที่มีเพียงการบริหารราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่นโดยไม่มีราชการส่วนภูมิภาคมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีมาแล้ว
แต่ในทางกลับกันกระแสของการรณรงค์เพื่อยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในต่างจังหวัดกลับคึกคักเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ถึงกับมีการยกร่างระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครขึ้นมาโดยเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ซึ่งเป็นการยกร่างกฎหมายที่ให้มีการบริหาราชการส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่โดยยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคไปเลย โดยมีแผนการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวในปี ๒๕๕๕ ซึ่งหลายๆพรรคการเมืองเริ่มให้ความสนใจนำไปเป็นนโยบายในการหาเสียงบ้างแล้ว
การณรงค์ให้ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในต่างจังหวัดนั้นเป็นไปด้วยความคึกคักเป็นอย่างยิ่งในบางจังหวัด เช่น ที่อำนาจเจริญถึงกับมีการขึ้นคัตเอาท์เพื่อขอจัดการตนเองเลยก็มี เหตุผลของการรณรงค์ในเรื่องนี้นั้นด้วยเหตุเนื่องเพราะแต่ละพื้นที่ได้เห็นถึงสภาพปัญหาของการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางและแบ่งอำนาจเพียงเล็กน้อยไปสู่ส่วนภูมิภาค ทำให้ปัญหาต่างๆไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีในพื้นที่ ปัญหาเล็กๆน้อยๆถูกโยนเข้าไปสู่ส่วนกลาง โดยตัวแทนของส่วนภูมิภาคในพื้นที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย มิหนำซ้ำกลับเป็นการเพิ่มขั้นตอนของการอนุมัติอนุญาตต่างๆของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมให้มากขึ้นไปอีกแทนที่จะสามารถติดต่อได้โดยตรงกับการบริหารราชการส่วนกลางที่มีอำนาจโดยตรง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในเบื้องต้นเสียก่อนว่าการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นที่พูดถึงนั้นของไทยเราหมายความถึงอะไร
การบริหารราชการส่วนกลาง
หมายถึงกระทรวง ทบวง กรมต่างๆที่มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทั้งหลายเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในแต่ละกระทรวง ซึ่งรวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีฐานะเป็นกระทรวงๆหนึ่งแต่ไม่เรียกว่ากระทรวงเท่านั้นเอง และมีนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีเป็นเจ้ากระทรวงและมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ
การบริหาราชการส่วนภูมิภาค
หมายถึงจังหวัดและอำเภอซึ่งเป็นการแบ่งอำนาจของราชการส่วนกลางบางส่วนลงไปในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในจังหวัดและมีนายอำเภอซึ่งสังกัดกรมการปกครองเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในอำเภอ ซึ่งทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีอำนาจเฉพาะเพียงที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลางและตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ และที่สำคัญทั้งจังหวัดและอำเภอไม่มีงบประมาณเป็นของตนเองแต่อย่างใด ต้องอาศัยการจัดสรรจากราชการส่วนกลางลงไปในพื้นที่
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการกระจายอำนาจปกครอง ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นนิติบุคคลแยกอิสระออกจากการบริหารราชการส่วนกลาง ทำให้มีสิทธิและอำนาจในการทำนิติกรรมและสัญญาต่างๆ ตลอดจนเป็นเจ้าของหรือถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในท้องถิ่น โดยมีเจ้าหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณและรายได้เป็นของท้องถิ่นเอง มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง ซึ่งของไทยเรามี ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบทั่วไปได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กับรูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
เหตุใดจึงต้องมีการรณรงค์ให้ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
การบริหารราชการส่วนภูมิภาคนั้นเป็นการนำหลักการของการแบ่งอำนาจมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยหลักการแบ่งอำนาจการปกครองนั้นอันที่จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของหลักการรวมอำนาจปกครอง เพียงแต่ขยายไปยังราชการส่วนภูมิภาค โดยมีหลักการสำคัญ คือ
1) ใช้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง
2) บริหารโดยใช้งบประมาณจากส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติ
3) บริหารงานภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลกลาง
ซึ่งผู้ที่เห็นด้วยกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาคมักจะให้เหตุผลว่ามีข้อดีคือ
1) เป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจ
2) การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
3) ทำให้มีการประสานงานระหว่างการบริหารราชส่วนกลางส่วนกับส่วนท้องถิ่นได้ดี ยิ่งขึ้น
4) เหมาะสำหรับสังคมที่ประชาชนยังมีสำนึกในการปกครองตนเองต่ำ
แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ให้เหตุผลว่ามีข้อเสีย คือ
1) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางด้านการเมืองและการปกครองเพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่ไว้วางใจประชาชนในท้องถิ่น
2) เกิดความล่าช้า เพราะเป็นการเพิ่มขั้นตอน
3) ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อท้องถิ่น เพราะถูกบริหารจัดการจากเจ้าหน้าที่ที่มาจากที่อื่น ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มี “แก๊งค์แต่งตั้ง”เกิดขึ้น ในบางจังหวัดปีเดียวมีการย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดตั้ง ๒-๓ หน
ผู้ที่อยากให้ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคให้เหตุผลโต้แย้งข้อดีของการแบ่งอำนาจว่าในเรื่องของการเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจนั้นก็อาจจะเป็นจริงหากเป็นในยุคสมัยเริ่มแรกในรัชกาลที่ ๕ หรือว่าร้อยกว่าปีมาแล้ว แต่จวบจนบัดนี้ยังไปไม่ถึงไหนเลย ทั้งๆที่ฝรั่งเศสที่เราไปลอกแบบเขานั้นจังหวัดกลายเป็นบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ปี ๑๙๘๒ แล้ว
ในส่วนของเหตุผลที่ว่าการดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นนั้นได้รับการคัดค้านอย่างแข็งขันจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะแทนที่จะเร็วกลับช้าหนักเข้าไปอีกเพราะเป็นการเพิ่มขั้นตอนขึ้นมาอย่างไม่จำเป็น ถ้าเป็นสมัยก่อนที่การเดินทางลำบากยากเข็ญจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพต้องล่องเรือกันเป็นเดือนๆล่ะก็ไม่ว่ากัน แต่ปัจจุบันติดต่อสื่อสารกันได้เพียงชั่วกระพริบตาเท่านั้นไปได้ทัวโลกแล้ว
ข้อดีที่ว่าทำให้มีการประสานงานระหว่างการบริหารราชการส่วนกลางส่วนกับส่วนท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้นนั้นยิ่งน่าขำเพราะทุกวันนี้การบริหารราชการต่างๆแม้กระทั่งการให้ความเห็นชอบข้อบัญญัติท้องถิ่นต่างๆถูกแช่แข็งอยู่ที่จังหวัดเสียเป็นอันมาก
ส่วนเหตุผลที่ว่าเหมาะสำหรับสังคมที่ประชาชนยังมีสำนึกในการปกครองตนเองต่ำนั้น สำหรับไทยเราเมื่อก่อนอาจจะใช่แต่เดี๋ยวนี้ในพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเขาไม่คุยกันเรื่องละครน้ำเน่ากันแล้วล่ะครับ เดี๋ยวนี้เขาคุยกันในเรื่องการเมืองกันอย่างออกรสชาติ ไม่เชื่อลองเข้าไปคุยกับแม่ค้าในตลาดดูสิครับ เผลอๆได้ข้อมูลเชิงลึกที่ไม่ปรากฏตามสื่อกระแสหลักเสียด้วยซ้ำไป
สำหรับข้อกังวลที่ว่าเดี๋ยวก็ได้นักเลงมาครองเมืองหรอกนั้นมันจะแตกต่างจากปัจจุบันตรงไหนเพราะการแต่งตั้งก็มาจากนักเลงกันเสียเกือบทั้งนั้น แต่ข้อแตกต่างคือเราสามารถดุด่าว่ากล่าวผู้ที่เราเลือกตั้งเข้าไปได้ ถึงเทอมก็ต้องไปเพราะมีการดำรงตำแหน่งเป็นวาระ และผมก็ไม่เห็นว่าผู้ว่า กทม.คนไหนเป็นนักเลงสักคน มีแต่อดีตรัฐมนตรีหรือนักการเมืองระดับชาติทั้งนั้นที่มาลงสนาม
ในเรื่องของการซื้อเสียงขายเสียงนั้นก็คงไม่แตกต่างกับระดับชาติเท่าใดนัก แต่ข้อแตกต่างของการซื้อเสียงในระดับท้องถิ่นนั้นไม่ได้หมายความว่าคนจ่ายมากจะได้รับการเลือกตั้งเสมอไป เพราะในเขตเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นเราเห็นๆกันอยู่ว่าใครเป็นอย่างไร ลูกเต้าเหล่าใคร พ่อแม่มันมีความประพฤติอย่างไร ฯลฯ
ถึงเวลาแล้วล่ะครับที่เราจะต้องปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่ให้เหมือนดั่งนานาอารยประเทศทั้งหลาย อย่ามัวแต่ท่องคาถาว่า “เรายังไม่พร้อมๆ”เลย เพราะที่ว่า ”ไม่พร้อมๆ” นั้นใครไม่พร้อมกันแน่ แต่ที่แน่ๆประชาชนนั้นพร้อมแล้ว ไม่เชื่อลองสำรวจประชามติกันไหมล่ะครับ
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554