บทความ เรียนฟรี 15 ปี แล้วเด็กไทยและสังคมจะได้อะไร โดย ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เรียนฟรี 15 ปี แล้วเด็กไทยและสังคมจะได้อะไร
โดย ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จาก แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (tuhpp)
ข่าวผลการสอบเอเน็ตหรือคะแนนทดสอบทางศึกษาระดับชาติขั้นสูงเมื่อต้นเดือนเมษายนทำให้ผู้อยู่ในวงการศึกษาห่อเหี่ยวลงไม่น้อย เมื่อพบว่าค่าเฉลี่ยของความสัมฤทธิผลในปี 2552 ซึ่งมีผู้เข้าสอบกว่า 170,000 คน ลดลงจากปี 2551 โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับตํ่ากว่าร้อยละ 35 ในเกือบทุกวิชา วิชาสำคัญๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ค่าเฉลี่ยตํ่ากว่าวิชาด้านภาษาเสียอีก กล่าวคือ คณิตศาสตร์ มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 22.6 วิทยาศาสตร์ร้อยละ 29.4 ภาษาไทยร้อยละ 40.7 ภาษาอังกฤษร้อยละ 30.7 ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการได้ทำการปฏิรูปการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว การประกาศผลโอเน็ตสำหรับนักเรียนชั้น ม.6 ที่ตามมา ก็น่ากังวลใจพอกัน ค่าเฉลี่ยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาตํ่ากว่าร้อยละ 50 โดยที่ปี 2552 เด็กไทยที่จบชั้น ม.6 ได้คะแนนโอเน็ตเฉลี่ยใน 5 วิชาหลัก คือ ภาษาไทยร้อยละ 49.0 สังคมศึกษาร้อยละ 34.7 คณิตศาสตร์ร้อยละ 30.3 ภาษาอังกฤษร้อยละ 32.1 วิทยาศาสตร์ร้อยละ 34.3 กระทรวงศึกษาธิการคงต้องทำการวิจัยสักเล็กน้อยว่า คะแนนเหล่านี้แยกตามกลุ่มโรงเรียน เขตพื้นที่เมือง/ ชนบท ต่างกันอย่างไรเพื่อเตรียมตัวแก้ปัญหาในอนาคต
ผู้เขียนในฐานะผู้สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยมา 30 ปีแล้ว ก็มีความรู้สึกว่านักศึกษาในรุ่นหลังๆ มีความรู้พื้นฐานอ่อนลงตามลำดับ ลองเช็คกับเพื่อนอาจารย์ด้วยกันทั้งในกทม. และในต่างจังหวัดหลายคนก็มีประสบการณ์คล้ายกัน
ผู้เชี่ยวชาญในวงการหลายคนให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการสอบไว้หลายมิติด้วยกัน บ้างก็ว่าครูเก่งๆ แย่งกันเออร์ลี่รีไทร์ไปหมด ครูผู้สอนสอนไม่ตรงกับวุฒิที่ตัวเองจบ ทั้งครูและตำราไม่มีคุณภาพ กระบวนการผลิตครู (ก็คือมหาวิทยาลัย) และการพัฒนาครูมีปัญหา บ้างก็ว่าเราเน้นการลงทุนด้านวัตถุมากเกินไป เช่น เน้นที่ตึก ที่คอมพิวเตอร์ เน้นระบบอีเลิร์นนิ่งมากกว่าเน้นวิธีการสอนและเนื้อหาสาระ ระบบการวัดผลครูเน้นงานกระดาษเพื่อเสนอผลงานของครูมากกว่าจะเน้นที่ความรู้ของลูกศิษย์ การปฏิรูปการศึกษาทำให้ครูเข้าสู่เงินเดือนและวิทยฐานะใหม่ แต่ไร้ประสิทธิผลในด้านความรู้ของนักเรียน
ผู้เขียนอยากจะเสนอว่า ถ้ามองในแง่บวก ความสัมฤทธิผลเฉลี่ยที่ตํ่าลงอาจเกิดจากปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนเรียกว่า ฐานปีรามิดเข้าสู่ระบบการศึกษา คือ ลูกหลานรากหญ้าของเราเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น เนื่องจากระบบการศึกษาขยายไปในพื้นที่ห่างไกลย่อมมีความพร้อมน้อยกว่า ดังนั้นการขยายตัวย่อมทำให้ผลสัมฤทธิ์โดยเฉลี่ยตํ่าลง นโยบายประชานิยมล่าสุดให้เรียนฟรี 15 ปี (ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี) ก็จะทำให้ฐานปีรามิดเข้ามามากยิ่งขึ้น
ระบบการศึกษาที่ต้องรองรับคนที่มาจากภูมิภาคต่างกัน วัฒนธรรมท้องถิ่นต่างกันจะต้องเป็นอย่างไร แน่นอนว่าระบบการศึกษาคงต้องออกแบบมาให้สามารถรองรับความหลากหลายในระดับท้องถิ่นแต่สามารถคัดหางเสือให้เด็กที่มาจากสิ่งแวดล้อมต่างกัน ในที่สุดแล้วต้องมีโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เท่าเทียมกัน ในขณะที่กรุงเทพฯ เจริญสุดๆ ซื้อรถเมล์ทีละหมื่นๆ ล้าน เด็กในชนบทจำนวนมากไม่เคยเห็นแบงก์พัน แล้วเราจะต้องพัฒนาเด็กเหล่านี้อย่างไรเพื่อให้มีโอกาสเท่าเทียมกันในวันข้างหน้า เราจะต้องออกแบบการศึกษาให้ต่างไปจากปัจจุบันอย่างไร การสร้างศักยภาพในการเรียนรู้และตัดสินใจบนฐานข้อมูลน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญ ดังนั้นจึงต้องมีการวางรากฐานที่สำคัญตั้งแต่แรกเริ่ม การเรียนฟรีที่ดีจะต้องได้คุณภาพอีกด้วย อย่าให้การเรียนฟรีเป็นแค่นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น
การอบรมบ่มเพาะกุลบุตรกุลสตรีจากรากหญ้าให้เข้าสู่มาตรฐานศึกษาสากล (ในเอกลักษณ์ไทย) ไม่ใช่จะสอนกันแค่คัลคูลัส หรือภาษาอังกฤษตามตำราเท่านั้น แต่ต้องปูพื้นฐานมารยาทหลายๆ อย่างเพื่อให้ไปสมาคมในโลกกว้างได้ ในประเทศสิงคโปร์ต้องสอนมารยาทบนโต๊ะอาหารด้วย โรงเรียนไทยสอนลีลาศสากล สอนภาษาต่างประเทศในโรงเรียน แต่ปล่อยให้เด็กไปซื้ออาหารในโรงอาหารแย่งกันกินแย่งกันซื้อกันเจี๊ยวจ๊าว ไม่ได้ทั้งมารยาทการกินและมารยาทการคอย ซึ่งที่จริงแล้วหลายเรื่องที่ควรจะสอนในโรงเรียน เช่น มารยาทการเข้าแถว (แบบธนาคาร) มารยาทบนโต๊ะอาหาร มารยาทการใช้ห้องนํ้าเมื่อใช้ร่วมกันระหว่างชายหญิง มารยาทการนั่งรถ มารยาทการกด ATM ฯลฯ ควรเริ่มในโรงเรียนประถมด้วยซํ้า ไม่ควรปล่อยให้กลายเป็นประเด็นความน้อยเนื้อตํ่าใจระหว่างชนชั้นเหมือนที่แสดงออกในละครนํ้าเน่าของไทย เช่น นางเอกสาวลูกทุ่งถูกนางร้าย (ที่เป็นคนรวย) ดูถูกว่าใช้มีดใช้ส้อมไม่เป็น ปัญหาก็คือผู้ออกแบบการศึกษาเป็นชนชั้นกลางที่คิดว่าเรื่องพวกนี้ไม่ต้องสอนเพราะเป็นสามัญสำนึก แท้ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะในการดำรงชีวิตต่างหาก
ดังนั้นคำถามใหญ่ก็คือ เด็กไทยจะได้อะไรจากการศึกษาฟรีและสังคมไทยจะได้อะไร แน่นอน ท้ายที่สุดแล้วระบบการศึกษาที่ดีต้องผลิตคนที่คิดเป็น แก้ปัญหาได้ มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม และมีความพร้อมที่จะเข้าสู่โลกกว้าง (ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ความไร้ซึ่งธรรมาภิบาลและอุปสรรคอีกด้วย ฯลฯ)
แต่การศึกษาเดี๋ยวนี้เป็นการศึกษาที่สาละวันเตี้ยลง เพื่อนอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายท่านบ่นว่า ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยยิ่งมาทำให้เด็กหนุ่มสาวกลายเป็นทารก แทนที่จะเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ทุกวันนี้ทุกมหาวิทยาลัยต้องให้ผู้ปกครองไปปฐมนิเทศ สมัยก่อนผู้เขียนต้องจัดการทุกอย่างด้วยตนเอง บางมหาวิทยาลัยแทบจะมีสมาคมผู้ปกครองกันแล้ว ในขณะที่ที่อื่นๆ ถือว่าอายุขนาดนี้ต้องหัดให้รู้จักรับผิดชอบชีวิตตนเองแล้ว สมัยนางนาคพระโขนงอายุขนาดนี้ผู้หญิงก็มีลูกไป 2 คนแล้ว แต่มหาวิทยาลัยยังให้ผู้ปกครอง (รวมทั้งนายกฯ ) มาปฐมนิเทศกันอยู่
นี่โชคดีนะที่เรียนฟรีแค่ 15 ปี ถ้าให้เรียนฟรีมากกว่านี้ เราคงได้เห็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยหอบหิ้วขวดนมส่วนตัวไปรับปริญญาด้วย!!
สำหรับลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ หน้า 6
ฉบับวันพุธที่ 10 มิถุนายน 2552