ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้
ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้
(Local Learning Enrichment Network)
แนวคิดและหลักการ
วิกฤตคุณภาพการศึกษาเป็นปัญหาสำคัญต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานจนปัจจุบัน ตัวบ่งชี้จากการประเมินของสถาบันทดสอบแห่งชาติชี้ว่า ผลสัมฤทธิ์การเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ( O-Net) ในปีที่ 2548-2551 ทุกวิชา ต่ำกว่าร้อยละ 50 ทั้งนั้น มีเพียงภาษาไทยที่ใกล้เคียงร้อยละ 50 (เฉพาะปี 2550) ส่วนปี 2551 พบว่า ในทุกวิชามีคะแนนเฉลี่ยลดลง คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 30.6 และ 33.7 ยกเว้นภาษาอังกฤษที่สูงขึ้นบ้าง แต่ค่าคะแนนเฉลี่ยก็ยังต่ำคือ ร้อยละ 36 และจากการประเมินผลสถานศึกษาขั้นพื้นฐานรอบแรกของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)พบว่า สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ สมศ. มีถึงร้อยละ 63.84 (จำนวน 19,145 โรง) และโดยภาพรวม มาตรฐานด้านผู้เรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ได้แก่ ด้านความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร ทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และมาตรฐานด้านครูที่ต่ำกว่ามาตรฐาน คือความสามารถในด้านการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เมื่อพิจารณาเทียบในระดับนานาชาติ การประเมินตามโครงการ PISA (Program for International Student Assessment) ร่วมกับOECD ซึ่งประเมินสมรรถนะ/การรู้เรื่อง(Literacy)ของนักเรียนอายุ 15 ปี ใน 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จากผลการประเมินในปีล่าสุดคือปี 2549 พบว่า เด็กไทยถึงประมาณร้อยละ 80 มีความสามารถอยู่ในระดับ 2 และต่ำกว่ารวมกัน ทั้ง 3 วิชา และจากการจัดอันดับสมรรถนะการศึกษาของ IMDในปี 2550 ไทยอยู่ในอันดับที่ 46 ใน 55 ประเทศ
การประเมินคุณภาพการศึกษาดังกล่าว ยังไม่รวมถึงการประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เช่น ความมีคุณธรรมจริยธรรม ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การมีทักษะชีวิตที่ดี ฯลฯ ซึ่งก็พบว่า สภาวการณ์เด็กและเยาวชนไทยยังเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ดังตัวชี้วัดหลายด้าน อาทิ การติดยาเสพติด การติดการพนัน ในกลุ่มวัยรุ่น รวมถึง การก่อปัญหาความรุนแรง การก่ออาชญากรรม เป็นต้น
ความพยายามในการปฎิรูปการศึกษายังไม่ประสบผลสำเร็จ การออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการศึกษาได้สร้างผลการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเฉพาะในเชิงโครงสร้างการบริหาร แต่ในส่วนของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แม้หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบได้มีความพยายามที่พัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยการอบรมและพัฒนาครู การปรับหลักสูตรและการเรียนการสอนโดยลงทุนด้านงบประมาณไปจำนวนมาก แต่ระยะเวลาที่ผ่านมา 10 ปีแสดงว่าทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างก็ดี ความพยายามในการพัฒนาคุณภาพโดยวิธีการเดิมๆ ก็ดี ยังไม่ส่งผลดีต่อผู้เรียนดังข้อมูลที่ได้กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ มีข้อที่น่าสังเกตว่า การพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนโดยระดมงบประมาณไปในการอบรมครูโดยไม่มองความเชื่อมโยงไปถึงการจัดการ เป็นประเด็นต่อคำถามเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการลงทุน ตัวชี้วัดที่สำคัญคือ ประเทศไทยได้ลงทุนเพื่อการศึกษาในสัดส่วนไม่น้อยเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ และเทียบกับอีกหลายๆประเทศ แต่ไม่อาจเปรียบเทียบกับผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศเหล่านั้นได้
ด้วยเหตุนี้ ประเด็นที่สำคัญที่ต้องคำนึงคือ หากจะเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของการการศึกษาระดับพื้นฐาน น่าจะต้องเปลี่ยนวิธีการจัดการใหม่โดยคำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่ในสังคมหรือในระบบการศึกษาเองแทนวิธีเดิมๆ และโดยที่สกว. ได้สะสมทุนการทำงานร่วมกับ โรงเรียน กลุ่มโรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เห็นแนวทางว่า หากได้มีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยซึ่งมีความรู้อยู่ไม่น้อย อีกทั้งมีทั้งทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีอุปกรณ์และวัสดุ แหล่งเรียนรู้อยู่มาก หากให้มหาวิทยาลัยมาช่วยหนุนเสริมการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน น่าจะเกิดประโยชน์ทั้งในด้านการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษา ซึ่งได้จากการระดมทุนในสังคมมาใช้เพื่อการพัฒนาการศึกษานอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน ในการนี้ มหาวิทยาลัยจะได้ประโยชน์ด้วย เพราะจะได้ผู้สำเร็จที่มีคุณภาพมาเรียนต่อ อีกทั้งยังได้นำประสบการณ์มาปรับปรุงการเรียนการสอนโดยเฉพาะในวิชาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
สกว.ในฐานะเป็นองค์กรหลักด้านการวิจัยและพัฒนา จึงได้ริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมและคิดค้นแนวทางการวิจัยและพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ โดยเน้นการระดมสรรพกำลังและการประสานเครือข่ายระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งพื้นฐานและอุดมศึกษาและองค์กรภาคีต่างๆในพื้นที่เพื่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน น่าจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน
ฐานทุนเดิมจากการพัฒนาโครงการและเครือข่าย
สกว.ได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัย 12 แห่งทำการศึกษาเบื้องต้น เพื่อสำรวจทุนการทำงานในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก กำแพงเพชร ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม เพชรบุรี และสุราษฎร์ธานีผลการสำรวจได้พบทุนทั้งที่เป็นโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านต่างๆ ของหลายหน่วยงานนอกกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงบุคลากร งบประมาณ และภาคีหรือองค์กรที่เข้ามาสนับสนุน/มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัด รวมทั้งแหล่งเรียนรู้ต่างๆในพื้นที่ รวมทั้งได้สำรวจสภาพปัญหาและความต้องการพัฒนานักเรียนและโรงเรียนในพื้นที่ และประเมินโอกาสและความเป็นไปได้ในการประสานความร่วมมือกับกลุ่มบุคคลหรือสถาบันเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการศึกษาสถานภาพการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรวม ผลการศึกษานอกจากจะทำให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ได้มีข้อมูลที่ทำให้เห็นสภาพปัญหาและสภาวการณ์การศึกษาในจังหวัดได้ชัดเจนขึ้นแล้ว ยังได้แสดงให้เห็นถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนและภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรสาธารณประโยชน์ รวมทั้งเห็นบทบาทของมหาวิทยาลัยในการระดมสรรพกำลังและพัฒนาเครือข่ายต่างๆในพื้นที่เพื่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนและการหนุนช่วยครูและโรงเรียนในพื้นที่ ตลอดจนการสนับสนุนให้มีศึกษาสถานภาพการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรวม ได้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาครูในรูปแบบเดิมไม่ส่งผลดีต่อการพัฒนาครูเท่าที่ควร
วัตถุประสงค์เชิงพัฒนา
1. เพื่อพัฒนาระบบจัดการที่มีมหาวิทยาลัยเป็นแกนหลักในการระดมสรรพกำลังทั้งความรู้ คน และเงินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับนักเรียนในพื้นที่
2. เพื่อสร้างเครือข่ายหนุนเสริมการพัฒนาศึกษาในพื้นที่
วัตถุประสงค์เชิงวิจัย
- เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และข้อจำกัดของแนวคิดในการบูรณาการความร่วมมือเชิงพื้นที่ (Area-based Integration) เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้สำหรับนักเรียนในพื้นที่
- เพื่อศึกษารูปแบบและแนวทางตลอดจนนวัตกรรมการจัดการในการสร้างเครือข่ายและระดมสรรพกำลังจากภาคส่วนต่างๆในพื้นที่เพื่อร่วมสนับสนุนการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่
- เพื่อศึกษาถึงขีดความสามารถ เงื่อนไขและข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการประสานเครือข่ายและระดมสรรพกำลัง
- เพื่อสังเคราะห์บทเรียนและองค์ความรู้จากโครงการเพื่อการขยายผลในวงกว้าง และจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนต่อผู้เกี่ยวข้อง
กรอบแนวคิด
แนวคิดในการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นแนวคิดที่มีการใช้กันมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะในโครงการความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศที่สนับสนุนการพัฒนาในประเทศต่างๆ เช่น อิหร่าน อาฟกานิสถาน โคโซโว อินโดนีเซีย และประเทศในอาฟริกาหลายประเทศ มิติของงานพัฒนาครอบคลุมหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตั้งแต่เรื่องการพัฒนาเด็ก สตรี การแก้ปัญหาความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ฯลฯ ในประเทศไทย สกว. ได้ริเริ่มการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน พัฒนาสังคมและสุขภาวะ ใน 21 จังหวัด และมีข้อค้นพบว่ากุญแจสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ได้นั้นจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ทุกฝ่ายมองเห็นร่วมกัน และมีกระบวนการพัฒนาให้เกิดกลไกจัดการปัญหาร่วมกัน โดยมีข้อมูลที่ทุกฝ่ายยอมรับและใช้ร่วมกันเป็นเครื่องมือ กระบวนการของการวิจัยจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงท่าทีความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างกันของภาคีในพื้นที่ และเกิดความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันได้
ในการพัฒนาด้านการศึกษา ความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาส่วนใหญ่มักจะติดกับวิธีคิดเชิง Function ไม่ว่ารัฐบาลหรือสังคมต่างมองว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้การดำเนินการหลายเรื่องติดอยู่ภายในกรอบของอำนาจสั่งการและทรัพยากรของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถดึงพลังจากภาคส่วนต่างๆมาร่วมแก้ปัญหาการศึกษาได้ การใช้แนวคิดระดมพลังเชิงพื้นที่ เป็นการเปิดกรอบแนวคิดใหม่ที่นำไปสู่การสร้างพื้นที่ทางสังคม (social space) ให้ฝ่ายต่างๆ สามารถเข้ามาปฏิสัมพันธ์และช่วยกันแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อนร่วมกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่
ภายใต้กรอบแนวคิดนี้ ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการความร่วมมือ โดยทดลองทำงานร่วมกับโรงเรียน ประมาณ 10-30 โรงในพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยดำเนินการประสานเครือข่ายที่เป็นทุนบุคคล ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัย จากภาคส่วนต่างๆ เช่น ครู/เครือข่ายครู บุคลากรจากหน่วยงานของรัฐ เอกชน ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุนด้านองค์กร เช่น โรงเรียนที่เป็นคู่พัฒนา มหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมวิชาชีพ สถานประกอบการ และใช้แหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น แหล่งวิทยาการในชุมชน แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ทางศาสนาวัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งจากสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็คโทรนิกส์ ในการหนุนเสริมการเรียนรู้ตามสาระและความต้องการในการพัฒนาเด็กจากโรงเรียนที่ร่วมโครงการ ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆที่เหมาะสมกับสาระเนื้อหาวิชาที่ต้องการพัฒนาโดยบูรณาการด้านการพัฒนาคุณลักษณะของเด็กด้วย
เป้าหมายและขอบเขต
• มหาวิทยาลัย จำนวน 10-13 แห่ง ใน 10-13 จังหวัด
(จากทุนเดิมของการพัฒนาโครงการได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก กำแพงเพชร ขอนแก่น อุบลราชธานี ศรีษะเกษ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม เพชรบุรี และสุราษฎร์ธานี )
• โรงเรียนที่เป็นเครือข่ายเป็นโรงเรียนที่สอนในระดับประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา
• ขอบเขตของการพัฒนาผู้เรียนเปิดกว้างให้เน้นได้ทั้งในเชิงความรู้ทักษะตาม 8 สาระวิชา และความรู้ทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ
การบริหารจัดการชุดโครงการ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1. ส่วนที่เป็นการประสาน จัดการ สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโครงการวิจัยต่างๆ รวมถึงเชื่อมโยงภาคีในส่วนกลางเพื่อหนุนเสริมและเติมเต็มให้กับโครงการในพื้นที่ ตลอดจนติดตามการดำเนินงานในชุดโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมาย และสังเคราะห์บทเรียนองค์ความรู้ ซึ่งทำสัญญาโดยตรงกับ สกว.
2. ส่วนที่เป็นโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการหนุนเสริมคุณภาพการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายต่างๆของมหาวิทยาลัยที่เป็นแกนประสานความร่วมมือระหว่าง โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา แหล่งความรู้ ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยและชุมชน โดยทำสัญญากับมหาวิทยาลัยที่ดำเนินโครงการโดยตรงกับสกว.
ผลผลิตและผลัพธ์ของชุดโครงการ
ผลผลิต
• รูปแบบ/นวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่โดยการประสานเครือข่ายที่มีมหาวิทยาลัยเป็นแกนหลัก ( 10-13 แห่ง) ในด้านคุณภาพการเรียนรู้ และด้านการบริหารจัดการ
• สื่อ/องค์ความรู้เพื่อการจัดการเรียนการสอน
• รายงานการสังเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานของโครงการต่างๆในพื้นที่เพื่อการนำไปสู่การขยายผลต่อไปได้
ผลลัพธ์
• ครูมีขีดความสามารถในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น
• ความสามารถของโรงเรียนในการจัดการทรัพยากรที่มาหนุนเสริมการจัดการเรียนการสอน
• มหาวิทยาลัยปรับภารกิจในด้านการบริการทางวิชาการแก่สังคมและชุมชน
จากผลผลิตและผลลัพธ์ดังกล่าว คาดหวังว่า จะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการคุณภาพที่ดีขึ้นของเด็กในด้านความสามารถทางการเรียนรู้และคุณลักษณะ และในระยะยาวจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยได้นักศึกษาในท้องถิ่นที่มีคุณภาพเข้าเรียนเพิ่มขึ้น
กลไกการดำเนินงาน
กลไกการดำเนินงาน ประกอบด้วย
1. คณะกรรมการกำกับทิศทาง (Steering Committee ) ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คำปรึกษา แนะนำทิศทางในการดำเนินงานรวมทั้งติดตามผล
2. ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ เนื้อหาสาระ (Subject ) / วิธีการจัดการเรียนการสอน (Pedagogy) นักการศึกษา นักจิตวิทยา นักพัฒนานวัตกรรมด้านสื่อ/การเรียนการสอน ฯลฯ ตามประเด็น(Theme) ที่แต่ละโครงการเสนอมา
3. การพิจารณาอนุมัติโครงการ ขึ้นอยู่กับผู้แทน สกว. และผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประสานงานจะประสานการปรับปรุงโครงการตามข้อเสนอแนะกับผู้รับผิดชอบโครงการ แล้วนำเสนอ สกว.ต่อไป
ระยะเวลา
2 ปี 5 เดือน (สิงหาคม 2552 – ธันวาคม 2554)
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. เกิดนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่เป็นแนวทางการปฏิรูปการเรียนการสอนจากฐานสถานศึกษาและที่นำไปปฏิบัติได้จริง
2. ก่อให้เกิดระบบการจัดการใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการทรัพยากรในรูปแบบที่หลากหลาย
3. ครู/อาจารย์ และผู้บริหารได้พัฒนาตนเองในการเพิ่มศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนโดยการมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ
4. ทำให้มีการระดมสรรพกำลังเพื่อการศึกษาในชุมชน/สังคมเพิ่มขี้น จากการประสานเครือข่ายระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนในพื้นที่เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน และภาคีเครือข่าย ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน
5. สถาบันอุดมศึกษาได้เพิ่มบทบาทในการบริการวิชาการแก่สังคมที่เป็นประโยชน์ในพื้นที่ และกระตุ้นการพัฒนาตนเองด้วย รวมทั้งได้ประโยชน์ในระยะต่อไปที่ได้เด็ก/เยาวชนในพื้นที่ได้ศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่