เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่องบ้านเรียนเข้าร่วมขบวนการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤต จาก เวทีปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย” ครั้งที่ ๑๑ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๒
เอกสารประกอบการสัมมนา
เวทีปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย” ครั้งที่ ๑๑ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๒
ยุทธชัย เฉลิมชัย
นายกสมาคมบ้านเรียนไทย
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือการศึกษาที่บ้าน ที่ฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ในสมัยของการปฏิรูปการศึกษา นิยมเรียกกันในกลุ่มครอบครัวผู้จัดว่า “บ้านเรียน” เพื่อบ่งบอกถึงการมี “บ้านเป็นฐานของการเรียนรู้” และความพยายามสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ขึ้นในครอบครัว
ดังที่ทราบกันว่า การศึกษาในอดีตที่ผ่านมาราวสองร้อยปี เป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันระหว่างบ้านกับวัด กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตครอบครัวและชุมชนแวดล้อม เริ่มต้นจากพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก ก่อนที่จะส่งลูกชายเข้าวัดบวชเรียน หรือให้ชุมชนฝึกฝนลูกสาวเป็นแม่ศรีเรือน
จนเมื่อมีการตั้งโรงเรียน ตามแบบอย่างชาติตะวันตก การศึกษาจึงกลายเป็นการกะเกณฑ์บังคับ พ่อแม่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียน สืบเนื่องมาจนเสมือนว่า การศึกษามีอยู่แต่เฉพาะในโรงเรียน เด็กที่ไม่ไปโรงเรียนคือเด็กที่ไม่มีการศึกษา พร้อม ๆ กันนั้น วัฒนธรรมการศึกษาเรียนรู้ที่บ้านก็ถูกลดคุณค่าลงไปเรื่อยๆ
ในข้อเท็จจริง ก่อนหน้า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีครอบครัวไทยจำนวนหนึ่งไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน พยายามจัดการศึกษาให้เองที่บ้านอยู่บ้างแล้ว ถึงแม้จะเป็นการขัดกับกฎหมายบ้านเมือง โดยใช้วิธีลงทะเบียนเป็นนักเรียนในโครงการโฮมสคูล โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี ของมูลนิธิเด็ก ต่อเมื่อ มีการประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งกำหนดให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่ประสงค์จะจัดการศึกษาให้กับบุตร ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนจัดการศึกษากับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ครอบครัวมีภูมิลำเนา โดยพ่อแม่อาจจะเป็นผู้สอนเองหรือมอบหมายให้มีผู้จัดการศึกษาให้ก็ได้ หลังจากนั้นมาการจัดการศึกษาโดยครอบครัวก็เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
จากการสำรวจล่าสุด ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ มีผู้จดทะเบียนจัดการศึกษาบ้านเรียน จำนวน ๑๐๖ ครอบครัว เป็นเด็กผู้เรียน ๑๔๔ คน ใน ๔๐ เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ แต่ละปีมีการขยายตัวเพียงเล็กน้อยและมีผู้ถอนตัวออกสม่ำเสมอ เท่ากับ ๔ ปีหลังประกาศกฎกระทรวงฯ หรือ ๙ ปีหลังพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เรื่องการศึกษาบ้านเรียนยังไปไม่ถึงไหน ยังไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างทางเลือกใหม่ทางการศึกษาให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา
หากพิจารณาถึงสาเหตุ ทางด้านครอบครัวโดยทั่วไปอาจจะยังขาดความเข้าใจและความเชื่อมั่นต่อรูปแบบการศึกษาใหม่นี้ ขณะที่ทางภาครัฐโดยเฉพาะสำนักเขตพื้นที่การศึกษาก็ยังขาดความเข้าใจถึงเจตนารมณ์การเปิดให้มีความแตกต่างกันระหว่างการศึกษาในระบบกับการศึกษาที่เป็นทางเลือก ตลอดจนหน่วยงานในส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการเองก็ยังไม่มีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างแท้จริง
การมีกฎหมายรองรับ มีสิทธิทางกฎหมายสมบูรณ์ จึงใช่ว่าทุกอย่างจะสำเร็จเรียบร้อยราบรื่นดีแล้ว จนถึงปัจจุบัน การจัดการศึกษาบ้านเรียนยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามนานาประการ ชนิดเป็นการตอกย้ำสัจจะความจริงที่ว่า งาช้างย่อมไม่มีวันงอกออกจากที่ๆ ไม่ใช่หัวช้าง
ครอบครัวที่เจอปัญหาจะใช้วิธีกลับไปลงทะเบียนกับโครงการโฮมสคูล โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก และกับ กศน. เช่นเดิม โดยยอมละทิ้งสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายไป ซึ่งถึงเดือนมุถุนายน ๒๕๕๒ พบว่ามีจำนวน ๒๖ ครอบครัว เป็นเด็กผู้เรียน จำนวน ๓๕ คน ส่วนที่ลงทะเบียนกับ กศน. ไม่สามารถระบุจำนวนได้
หากจะพิจารณาว่า อะไรคือแรงผลักดันให้ครอบครัวต้องมาทำการศึกษาที่บ้านแทนการส่งลูกเข้าโรงเรียน กล่าวโดยสังเขปว่า มูลเหตุสำคัญมาจากความเสื่อมศรัทธาในระบบโรงเรียน (ความเสื่อมศรัทธานี้ขอไม่ลงรายละเอียด เชื่อว่าเป็นที่รับรู้ชัดเจนในที่ประชุมอยู่แล้ว)อีกด้านหนึ่งเนื่องมาจากความจำเป็นของครอบครัว ครอบครัวต้องย้ายภูมิลำเนาบ่อย ต้องไปทำงานต่างประเทศ ต้องอยู่ในชนบทห่างไกล หาโรงเรียนมีคุณภาพให้ลูกไม่ได้ เป็นต้น กับสาเหตุอันเกิดจากตัวลูก เด็กอาจเคยถูกทารุณกรรมในโรงเรียน หรือเด็กมีความต้องการพิเศษทั้งในทางขาดหรือเกินเด็กทั่วไป ซึ่งการศึกษาในโรงเรียนไม่สามารถช่วยพัฒนาศักยภาพตามความแตกต่างนี้ได้ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้แต่เดิมที่เคยตีบตันต้องฝืนทนอยู่ในโรงเรียน ถึงวันนี้ การศึกษาบ้านเรียนได้ถูกครอบครัวเลือกใช้เป็นทางออกจากทุกข์ร้อนดังกล่าว
มาถึงโจทย์สำคัญที่เป็นวาระของการประชุมครั้งนี้ บ้านเรียนจะสามารถร่วมขบวนเป็นการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤตได้อย่างไร
ประการแรก เมื่อบ้านเรียนได้กลายเป็นห้องปฏิบัติการของการปฏิรูปการเรียนรู้
ใช้ประโยชน์จากการหลุดออกจากข้อจำกัดของชั้นเรียนขนาดใหญ่ มาเป็นการเรียนรู้รายบุคคลที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือเป็นสำคัญได้อย่างแท้จริง ไปทำให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ตรงตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ ตามความแตกต่างตามลักษณะเฉพาะตัวของผู้เรียนได้ นอกจากนี้ ยังสามารถที่จะสร้างสรรค์วิถีการเรียนรู้ที่มุ่งในความจริงของชีวิต อาทิ วิชาการกับวิถีชีวิตเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นระบบของการลงมือปฏิบัติไม่ใช่แค่คำพูดคำสอน เรียนรู้ได้ทุกเวลาทุกสถานที่ เรียนรู้ได้ทั้งจากสิ่งชอบใจและไม่ชอบใจ เรียนรู้แล้วนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
ประการที่สอง เมื่อบ้านเรียนได้สร้างวัฒนธรรมครอบครัวเรียนรู้ร่วมกัน
จากการที่พ่อแม่เรียนรู้ไปพร้อมกับลูก พ่อแม่ลูกสามารถที่จะเรียนรู้จากกันและกัน ซึ่งผลลัพธ์ไม่ใช่แค่การเรียนการสอน แต่จะเป็นการปรับเปลี่ยนทั้งรูปการจิตสำนึกและวิถีทั้งหมดของครอบครัว และยังสามารถขยายไปยังญาติมิตร กลุ่มครอบครัวบ้านเรียน รวมทั้งครอบครัวทั้งหลาย กลายเป็นขบวนการบ้านเรียนไทย โดยวัฒนธรรมการเรียนรู้จะช่วยฟื้นคืนความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวแล้วแตกหน่อออกผลไปในสังคม เมื่อหน่วยพื้นฐานที่สุดคือครอบครัวมีความเข้มแข็ง ปัญหาทุกปัญหาในสังคมก็ย่อมแก้ไขได้
การสร้างวัฒนธรรมครอบครัวเรียนรู้ร่วมกันนี้ ต้องยกให้เป็นจุดเด่นของการศึกษาบ้านเรียนด้วย เนื่องจาก แม้โรงเรียนที่ชื่อว่ามีคุณภาพดีที่สุด ก็ยังทำเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะทุกโรงเรียนล้วนแยกเด็กออกมาจากครอบครัว ในระบบโรงเรียนเด็กไม่มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับพ่อแม่และครอบครัว
ประการสาม เมื่อบ้านเรียนได้ให้นิยามความหมายใหม่แก่ความสำเร็จของชีวิต
เปลี่ยนจากความคับแคบของการศึกษาแบบบริโภคนิยมที่มุ่งผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ภายใต้ค่านิยมการแข่งขันเอารัดเอาเปรียบกัน มาเป็นการสร้างแรงบันดาลใจของการเรียนรู้ด้วยอุดมคติและความตระหนักในคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เกิดปัญญามีศรัทธาในความจริง ความดี ความงาม และความมีอิสระในโลกที่สันติสุข มีความสุขจากการสร้างสรรค์ ได้เป็นบัณฑิตหรือบุคคลแห่งการเรียนรู้โดยแท้
ประการสุดท้าย เมื่อชาวบ้านเรียนไม่มัวรอให้ใครมาช่วยแก้ไข หากแต่ต้องลงแรงลงใจสร้างระบบการศึกษาที่ต้องการขึ้นใหม่ ด้วยตัวของตัวเอง