เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่องปฏิรูปการศึกษา เดินหน้าอย่างไรจึงจะไปให้ถึง จาก เวทีปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย” ครั้งที่ ๑๑ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๒
ปฏิรูปการศึกษา เดินหน้าอย่างไรจึงจะไปให้ถึง
เสรี พงศ์พิศ
โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต www.lifethailand.net
เอกสารประกอบการสัมมนา
เวทีปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย” ครั้งที่ ๑๑ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๒
ปฏิรูปการศึกษารอบแรกเหมือนกับยังไม่ได้เริ่ม เราก็พูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษารอบสองแล้ว และรัฐบาลชุดนี้ก็ดูจะมีความมุ่งมั่นทางการเมืองในเรื่องนี้ไม่น้อย ประเด็นอยู่ที่ว่า ความปรารถนาดี วิธีการต้องดีด้วย จะเดินหน้าอย่างไรจึงจะไปให้ถึง
ถ้าจะเดินไปข้างหน้าต้องถามหา “พลัง” ที่จะขับเคลื่อน พลังสำคัญที่สุด คือ พลังทางปัญญา ซึ่งต้องมาจากวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าเราต้องการบรรลุเป้าหมายที่เป็นภาพฝัน หรือการศึกษาในอุดมคติอะไร การศึกษาในอุดมคติเพื่อสังคมไทยในอุดมคติอะไร วิสัยทัศน์เป็นความสามารถในการมองทะลุ มองใกล้ มองไกล มองกว้างมองลึก มองแบบเชื่อมโยงไม่แยกส่วน มองเห็นทั้งป่าและต้นไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพในป่านั้น
อยากได้วิสัยทัศน์ดี ต้องมีคำถามนำที่ดี เช่น การศึกษาแบบไหนจึงจะแก้ปัญหาความทุกข์ของคนทั้งแผ่นดิน จัดการศึกษาอย่างไรจึงจะแก้ความยากจน หนี้สิน การแตกแยก ความรุนแรง การโกงกิน ความไม่เป็นธรรมในสังคม โครงสร้างระบบที่ไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ครอบครัวอ่อนแอ ชุมชนที่ล่มสลายได้
เมื่อได้พลังปัญญาที่เป็นแสงส่องทาง ลองมาส่องดูที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ว่าจะทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาขึ้นมาได้หรือไม่และอย่างไร เอาแสงสว่างไปส่องการศึกษาที่ทำกันอยู่ว่าทำไมจึงแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น ในบางส่วนการศึกษายังเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา หรือรวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาอีกด้วย
เรื่องความคิดเกี่ยวกับการศึกษา หรือสัมมาทิฐิทางการศึกษา ซึ่งต้องเป็น “มรรคะ” ไปสู่เป้าหมาย ซึ่งเป็นอะไรมากกว่าเพียงแค่ทำให้ “การศึกษาดีขึ้น – มีคุณภาพมากขึ้น”
การปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า มาจากการเปลี่ยนฐานคิดหรือวิธีการมองโลกมองชีวิตของคนที่เกี่ยวข้อง คำใหญ่ๆ ที่เราใช้ คือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ซึ่งเป็นเรื่องที่มองข้าม (take it for granted) แบบเหมาเอาว่ารู้แล้วไม่ได้ เพราะในความเป็นจริง ความคิดเรื่องการศึกษาของไทยเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบกลไก แบบแยกส่วน แบบที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ รายได้มากกว่าคุณภาพชีวิต อยากมีความสุขแต่เอาเงินเป็นเป้าหมาย
ความคิดพื้นฐานแบบนี้ทำให้เราจัดการศึกษาที่มุ่งแต่ไปรับใช้อุตสาหกรรม งานบริการ งานที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ละเลยส่วนอื่นๆ เช่น ชนบท เกษตรกรรม การศึกษาแบบนี้ไม่ได้ทำเพื่อท้องถิ่น แต่ทำให้คนทิ้งถิ่น ทิ้งบ้านเรือนไร่นาให้รกร้างว่างเปล่า ขายทรัพยากรธรรมชาติหมดแล้วก็ไปขายแรงงาน คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดได้ในท้องถิ่นของตนเอง
การปรับกระบวนทัศน์การศึกษาจากคิดแบบแยกส่วน แบบกลไก มาคิดแบบองค์รวมหมายถึงการให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนของชีวิต ไม่ได้เน้นการแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการจัดการศึกษา ”แบบอุตสาหกรรม” ผลิตคน “สำเร็จรูป” ออกไปรับใช้สังคมแบบนั้น แต่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต ของคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนชนบท คนที่ด้อยโอกาส ให้ความสำคัญกับภาคเกษตร สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความมั่นคงและสวัสดิการ ให้ความสำคัญกับความสมดุลของชีวิต สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ส่งเสริมการปลูกพืชเดี่ยว ใช้สารเคมีเพราะต้องการผลผลิตมากๆ จะได้ส่งออกมากๆ มีเงินเข้าประเทศมากๆ
เพราะต้องการนักท่องเที่ยวเข้ามามากๆ จะได้มีรายได้เข้าประเทศมากๆ ก็มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม น้ำเน่า หาดเน่า อย่างที่เกิดที่เกาะช้างและอีกหลายเกาะหลายหาด หลายป่าหลายภูเขา
การศึกษาแบบไหนจึงจะทำให้คนมีจิตสำนึกเรื่องการพัฒนายั่งยืน ถ้าหากการปฏิรูปการศึกษาไม่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน เราก็ยังมุ่งผลิตคนไป “สร้างรายได้” ให้ประเทศ “ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ “ อย่างที่ทำกันอยู่
การปรับกระบวนทัศน์ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การ “ทุบกระถาง” ที่ครอบต้นไม้การศึกษาต้นนี้ออกไป กระถางที่ว่านี้ คือ กระทรวงศึกษาธิการ ครู สถานศึกษา เหมือนกับที่ก่อนนี้คนคิดถึงสุขภาพก็คิดถึงมดหมอ หยูกยา ไม่ได้คิดเรื่องการกินเป็น อยู่เป็นอย่างที่กำลังเปลี่ยนไปวันนี้ที่มีการปฏิรูประบบสุขภาพ
ทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่า การศึกษาไม่ใช่เรื่องของครู ของโรงเรียน ของสถานศึกษา แต่เป็นเรื่องของ “การเรียนรู้” ที่เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา อยู่ทีว่าเราจะช่วยให้คนได้รู้ “วิธีการเรียนรู้” แบบนี้ได้อย่างไร อันนี้ก็มองข้ามไม่ได้ (take it for granted) เป็นเรื่องใหญ่เพราะเกี่ยวกับการเปลี่ยนอย่างน้อย 3 ประเด็น
1. วัฒนธรรมการเรียนรู้ ต้องเปลี่ยนการเรียนรู้ “แบบรับ” มาเป็น “แบบรุก” แบบท่องจำมาเป็น
การสร้างความรู้ใหม่ การจัดการความรู้ ซึ่งมาจากฐานคิดที่ว่า ความรู้ที่มีพลัง ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้นต้องเป็นความรู้ใหม่ที่เราสร้างขึ้นมาเอง ทำให้ “ระเบิดจากข้างใน” ทำให้คนเปลี่ยน ชุมชนเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน เพราะความรู้แบบนี้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เป็นความรู้ “มือหนึ่ง” ส่วนความรู้ที่อยู่ในตำราเป็นความรู้ “มือสอง” ซึ่งก็มีคุณค่า แต่ไม่ใช่เอามา “บูชา” หรือเอามาเป็นคำตอบสำเร็จรูป
วัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ต้องทำให้ผู้เรียนตั้งคำถามเป็น ไม่ใช่หาแต่คำตอบ (สำเร็จแล้ว) โดยเชื่อว่าคำตอบนั้นถูกต้องแล้ว เพราะมีคนบอกไว้ เขียนไว้ อ้างไว้ คนไทยจึงไม่ชอบถามในห้องเรียน ห้องประชุมสัมมนา เพราะถ้าถามคนอื่นจะหาว่าโง่ แทนที่จะถามบางคนจึงอภิปรายแสดงความรู้เสียเลย
วัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ต้องส่งเสริม “สังคมอัตนัย” มากกว่า “สังคมปรนัย” อย่างแรกสอนคนให้คิดเป็น ให้วิเคราะห์สังเคราะห์ อย่างหลังทำให้คนคิดไม่เป็น เรียบเรียงอะไรไม่ได้ แยกแยะเชื่อมโยงไม่เป็นเขียนหนังสือไม่เป็น ย่อความไม่เป็น ทำเป็นอย่างเดียว คือ ขีดถูกขีดผิด ตอบได้อย่างเดียว คือ ใช่และไม่ใช่ ชอบแต่ดูทีวี ดูหนังฟังเพลง ไม่ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งช่วยสร้างจินตนาการ สร้างสรรค์ความคิดได้มากกว่า
2. บรรยากาศการเรียนรู้ ต้องเปลี่ยนจากการเรียนทุกอย่างในห้องสี่เหลี่ยมไปสู่การเรียนในชีวิต
จริง ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การออกไปจากห้องเรียน แต่หมายถึงการออกไปจากวิธีคิดเรื่องการศึกษาแบบเดิมๆ คือ การท่องจำสูตรต่างๆ ที่สำเร็จรูป ซึ่งใช้เพียงกระดานดำก็พอ ไม่ต้องออกไปสัมผัสกับชีวิต กับความเป็นจริง ไม่ต้องปฏิบัติทดลองก็ได้ เด็กไทยส่วนใหญ่จึงเรียนวิทยาศาสตร์บนกระดาน วิชาชีพที่มีการปฏิบัติมากๆ ก็ยังเรียนในห้องเรียน สอบก็เน้นการท่องจำ เด็กที่ “ทำเก่ง” จำนวนมากสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ (แบบที่สถาบันอุดมศึกษาอาชีวะแห่งหนึ่งในกรุงเทพที่เด็ก 500 คน สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แค่คนเดียว เพราะสอบแต่ในกระดาษ เหมือนกับต้องการเด็ก “จำเก่ง” มากกว่าเด็ก “ทำเก่ง” )
เด็กเรียนเรื่องป่าโดยไม่เคยเข้าป่า เด็กเรียนเรื่องข้าวโดยไม่เคยเห็นทุ่งนา เห็นแต่ข้าวในจาน เด็กเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษโดยไม่เคยไปเก็บข้อมูลขยะ แยกขยะ กำจัดขยะด้วยตนเอง ฯลฯ ผู้ใหญ่เรียนเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นโดยอาจารย์ไม่เคยไปหมู่บ้าน ไม่เคยทำงานพัฒนา ได้แต่อ่านจากตำรา จึงให้ผู้เรียนท่องตำราไปสอบว่า แผนแม่บทชุมชนคืออะไร วิสาหกิจชุมชนคืออะไร กองทุนหมู่บ้านคืออะไร
ไม่ได้ตั้งคำถามว่า เรียนอย่างไร ถ้าหากหมู้บ้านไม่มีข้าวกินจะได้มีข้าวกิน และมีกินจริงๆ หลังจาก เทอมนั้นหรือปีนั้นที่มีการลงไป “ทำจริงๆ“ ทำให้ชาวบ้านแก้ปัญหาขาดแคลนข้าวได้ รวมกลุ่มกันทำวิสาหกิจชุมชนได้ แก้ปัญหาการบุกรุกป่า ที่สาธารณะของชุมชนได้ คานอำนาจอิทธิพลท้องถิ่นได้
ปฏิรูปการศึกษาต้องไม่แยกการศึกษาจากการพัฒนา จากการเปลี่ยนสำนึกของคน ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เอาตำราเป็นตัวตั้งและท่องกันเอาเป็นเอาตาย แต่เอาชีวิต เอาปัญหาท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง เอาศักยภาพของท้องถิ่นเป็นฐาน เป็นทุนเพื่อการพัฒนาที่ชุมชนเป็นเจ้าของ เป็นผู้ลงมือจัดการและพัฒนาตนเองโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ไม่ว่าในระบบ นอกระบบ หรือตามอัธยาศัย
3. กระบวนการเรียนรู้ การเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการเรียนการสอน จากการคิดว่าคน “โง่ จน เจ็บ”
เป็นการคิดว่า คนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้และพัฒนาทุกคน ขาดแต่โอกาสเท่านั้น ถ้าได้ดินดี น้ำดี แดดดี ปุ๋ยดี เมล็ดพันธุ์นี้ก็จะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ได้ คิดแบบนี้ทำให้ครูไม่ใช่ผู้สอน แต่เป็นผู้ช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ ช่วยสร้างเงื่อนไขดีๆ สร้างบรรยากาศดีๆ สิ่งแวดล้อมดีๆ ทำให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ทำให้คนได้พัฒนาตนเอง เปลี่ยนแปลงตนเองจากข้างใน ไม่มีใครเปลี่ยนใครได้จากข้างนอก
กระบวนการเรียนรู้ใหม่เน้นการเรียนผ่านการปฏิบัติ ผ่าน “โครงงาน” ผ่านการ “วิจัยและพัฒนา” มากกว่าไปท่องตำราเล่มเดียวของอาจารย์ ค้นหาความรู้ทุกแหงที่มีความรู้และผู้รู้ ไม่ใช่ฟังแต่ครูคนเดียว
การสอนที่เป็นการถ่ายทอดความรู้ (transfer of knowledge) จึงล้าสมัยแล้ว เพราะผู้เรียนอาจจะมีประสบการณ์ มีความรู้มากกว่าผู้สอนก็เป็นได้ โดยเฉพาะในกรณีผู้ใหญ่ แม้แต่เด็กเองก็สามารถหาความรู้ได้มากมายหลายทาง มากกว่าที่ครูมีเสียอีก ถ้าหากเข้าไปหาทางอินเทอร์เนท ห้องสมุด กับผู้รู้ต่างๆ ซึ่งมีมากมาย วิธีคิดเรื่องการเรียนการสอนจึงต้องจำที่เปาโล แฟรร์บอกไว้ว่า “ไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง ไม่มีใครไม่รู้อะไรเลย มีแต่คนที่รู้บางเรื่องและไม่รู้บางเรื่อง” ทำอย่างไรให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดการความรู้ให้เป็น
สิ่งที่สำคัญกว่าตัวความรู้ คือ วิธีการเรียนรู้ ซึ่งนักศึกษาที่เรียนจบไปแล้วสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต เขาจะเรียนรู้ไปตลอดชีวิต เพราะเขาไม่ใช่ “ไม้ในกระถาง” ที่คอยให้คนรดน้ำ แต่เติบโตเป็นตัวของตัวเอง เขาได้เรียนการ “คิดเป็น” (conceptualize) รู้คอบแซปต์ต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือให้จัดการความรู้ แยกแยะเชื่อมโยงได้ สร้างความรู้ใหม่ได้ เขาจะมีความสุขกับการเรียนที่สร้างความรู้ใหม่ด้วยตนเอง
กระบวนการเรียนรู้ที่ดีมาจากวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า เราต้องการให้คนไปทำอะไร พัฒนาอะไร สร้างอะไร แก้ปัญหาอะไร ถ้าเป็น “สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” จริงอย่างที่เขียนไว้ในพรบ.ของสถาบันอุดมศึกษาอย่างมหาวิทย่าลัยราชภัฎก็ต้องกลับมาพิจารณาเรื่องกระบวนการเรียนรู้ที่ทำกันวันนี้ว่า ทำให้คนอยู่ “อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่น” ได้หรือไม่ เรียนแล้ว “ช่วยตัวเองได้ ช่วยคนอื่นได้” หรือไม่ หรือเรียนแล้วต้องวิ่งไปหางานทำในเมือง แม้แต่เรียนเรื่องการเกษตรจบแล้วก็ทำการเกษตรไม่เป็น อยากไปรับราชการ รับจ้างบริษัท ไปนั่งในห้องแอร์มากกว่าไปตากแดดตากฝน
สถาบันอุดมศึกษาต้องแยะให้ชัดเจนว่า ต้องการจัดการศึกษาเพื่ออะไร เพื่ออุตสาหกรรม เพื่องานบริการ เพื่อชุมชน แต่จะจัดอย่างไรก็ต้องมีฐานคิดและกระบวนทัศน์ใหม่ การจัดการศึกษาวันนี้เป็นอะไรที่ “พอกะเทิน” หรือครึ่งๆ กลางๆ แม้ว่า พรบ.การศึกษา 2542 รวมทั้งที่แก้ไขเป็นอะไรที่ดีไม่น้อย แต่ไม่ได้มีการนำไปสู่การปฏฺบัติ บทเรียนที่ต้องมาคิดกันวันนี้ว่า ถ้าจะปฏิรูปการศึกษากันต่อไป (ไม่มีรอบ) จะต้องมีพลังขับเคลื่อนอีก 4 พลัง บนฐานของ “พลังปัญญา” อันมาจากวิสัยทัศน์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น
1. พลังของประชาชน การปฏิรูปการศึกษาต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ใช่เพียงให้
มายกมือรับรองอะไรที่ใครสี่ห้าคนร่างขึ้น แต่ให้มีเวทีให้ทุกคนมีส่วนร่วม เป็น “สมัชชาประชาชน” ทั้งระดับพื้นที่และประเด็น ทุกภาคส่วน ในชนบท ในเมือง ทุกสาขาอาชีพ ประชาชนทุกคนเกี่ยวข้องกับการศึกษา เป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์เรื่องการเรียนรู้ เรื่องชีวิต ต้องเปิดเวทีให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและเป็นเจ้าของการศึกษา นี่คือการคืนการศึกษาให้ประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่แค่กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำอย่างเดียว หรือเชิญชาวบ้านมาเป็นกรรมการสถานศึกษาก็นึกว่าพอแล้ว
2. พลังความรู้ การปฏิรูปการศึกษาต้องการความรู้ใหม่ ต้องการตัวแบบ ต้องการตัวกระตุ้น หรือ
คานงัด ซึ่งก็มีมากมายในประเทศต่างประเทศ ในโรงเรียนหลายแห่ง ทั้งประถม มัธยม มีการจัดการศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพทุกระดับ มีครู มีอาจารย์ มีนักการศึกษา มีปราชญ์ชาวบ้านชาวเมือง มีผู้รู้กระจายอยู่ในทุกวงการและทั่วแผ่นดิน มีชุมชนเข้มแข็งเพราะเป็นชุมชนเรียนรู้มากมาย มีหลักสูตร มีวิธีการจัดการเรียนรู้ดีๆ ไม่น้อย จะศึกษากรณีดีๆ คนดีๆ และเก่งๆ ชุมชนเข้มแข็ง กลุ่มบุคคล หน่วยงาน องค์กร เหล่านี้ (Best Practice) สังเคราะห์ความรู้และปัญญามาเป็นพลังในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษานี้ได้อย่างไร
3. พลังทางการเมือง หรือเจตจำนงทางการเมือง (political will) ของรัฐบาล ของสถาบันองค์กรที่
เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐจะแสดงความมุ่งมั่นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างไร ดูกรณีนายโทนี แบลร์ปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน และมีรัฐมนตรีศึกษาตาบอดแต่วิสัยทัศน์ดีชื่อ เดวิด บลังเคตต์เป็นคนเสนอโครงการปฏิรูปการศึกษาใหญ่ รัฐบาลอนุมัติเป็นงบประมาณถึงสามแสนกว่าล้านบาท หนึ่งในนั้นคือการนำคนที่กำลังทำงานอยู่กลับมาเรียนอุดมศึกษาให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50
วันนี้ สหราชอาณาจักรมีผู้เรียนอุดมศึกษาในวัยแรงงานร้อยละ 60 สิงคโปร์ร้อยละ 54 มาเลเซียร้อยละ 41 ไทยมีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น แล้วเราจะพัฒนาประเทศอย่างไรถ้าคน “ไม่มีการศึกษา” ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงปริมาณ แต่คุณภาพด้วย เพราะที่สำคัญ อุดมศึกษาตามทัศนะของเดวิด บลังเคตต์ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิด “ความยุติธรรมทางสังคม” และนี่คือสังคมประชาธิปไตย ที่คนมีความรู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ในการตรวจสอบ ก่อให้เกิดธรรมาภิบาลในทุกระดับ
การที่ชุมชนอ่อนแอวันนี้ ทั้งๆ ที่สมาชิกออกไปทำงานในเมือง ต่างถิ่น ส่งเงินกลับบ้านมากมาย เป็นเพราะชุมชนจะอยู่ได้อย่างมั่นคงไม่ใช่แต่ด้วยเงินอย่างเดียว แต่ด้วยความรู้ด้วยปัญญาในการพัฒนา “ทุน” ท้องถิ่นที่ยังมีอยู่ต่างหาก ถ้าหากผู้นำและสมาชิกชุมชนไม่มีความรู้ก็ต้องอยู่ในระบบอุปถัมภ์กันเช่นนี้ต่อไป ประชาธิปไตยก็แค่ไปเลือกตั้ง การศึกษาก็แค่ไปโรงเรียน การพัฒนาก็แค่การทำโครงการ
4. กลไกในการจัดการปฏิรูปการศึกษา เป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าหากไม่มีกลไก “พิเศษ” ขึ้นมาดำนิน
การเต็มที่ เต็มเวลา พร้อมด้วยงบประมาณ เครื่องมือต่างๆ เพียงพอ การปฏิรูปการศึกษาไม่เกิด การไป “ฝาก” งานปฏิรูปไว้กับคนโน้นคนนี้ก็จะได้แค่ผลงานฝาก ไม่มีใครมีเวลา มีสมาธิทำงาน เพราะงานตัวเองก็แทบจะไม่ไหวอยู่แล้ว และไม่นานรัฐบาลเปลี่ยน เดี๋ยวก็เลิกไปอีก
ตัวอย่างของการปฏิรูประบบสุขภาพทำให้เชื่อว่าสังคมไทยมีศักยภาพสูงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเรามีระบบสุขภาพที่ดีที่คนจากทั่วโลกชื่นชมและมาศึกษาดูงาน บทเรียนของการเกิดขึ้นของพรบ.ที่มาจากประชาชนจริงๆ และวิธีการดำเนินการจนประสบความสำเร็จในเรื่องการปฏิรูปสุขภาพ สมควรที่ฝ่ายปฏิรูปการศึกษาต้องไปขอเรียนรู้
ประมาณสิบปีที่แล้ว มีสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ (สปรส.) เกิดขึ้นเพื่อเตรียมเรื่อง พรบ.สุขภาพ และสำนักงานนี้ก็ทำงานมาจนถึงวันนี้ แม้ว่าจะได้พรบ.สุขภาพแล้ว แปรมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนงานต่อ ก่อให้เกิด “ธรรมนูญสุขภาพ” ตามพรบ.ที่บอกไว้ และทำให้เกิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทุกปี (ตามพรบ.)
สปรส.ได้ขับเคลื่อน “ประชาสังคม” ทุกระดับ ทุกภาคส่วนมาตั้งแต่ต้น เพื่อให้มีส่วนร่วมในการร่าง พรบ. จัดสมัชชาสุขภาพในระดับท้องถิ่น ตามพื้นที่ ตามประเด็น และจัดระดับชาติมาทุกปีก่อนที่จะมีพรบ.สุขภาพ
ความตั้งใจดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีวิสัยทัศน์ดี มียุทธศาสตร์ที่ดี และถ้ามีการผนึกพลัง (synergy) ทั้ง 4 ทั้ง 5 ได้ขบวนการประชาชนหนุน มีความรู้และปัญญานำ และมีกลไกในการทำงานที่ดี การปฏิรูปการศึกษาน่าจะไปถึงเป้าหมายได้