แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
อัมมาร์ ซัดนโยบายอุดหนุน-ตรึงราคา ช่วยคนรวย ชี้คนไทยเสพติดประชานิยม
นักวิชาการวิพากษ์นโยบายตรึงราคาไม่ช่วยคนจนจริง ถูกบิดเบือนเสมอ แนะค่อยๆ ปรับลดการอุดหนุน แจงไทยไม่มีเงินพอให้ใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หวั่นฝืนกลไกตลาดนาน ศก.ชะงักงัน
วันที่ 7 สิงหาคม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับสถาบันทรัพยากรมนุษย์ สำนักเสริมศึกษาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาโต๊ะกลม "นโยบายอุดหนุนและตรึงราคา : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย" ณ ห้องภาพยนตร์ F401 ชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยมี ดร.อัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อ.คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. และคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ผู้บริหารกลุ่มยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย และดร.สุกานดา ลูวิส อ.คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนา
ดร.อัมมาร์ กล่าวถึงนโยบายอุดหนุนและตรึงราคา โดยยกกรณีนโยบายจำนำข้าวว่า รัฐบาลมักจะกล่าวเสมอว่าเป็นนโยบายที่ช่วยชาวนาที่ยากจน แต่ที่จริงแล้วชาวนาที่ยากจนไม่ได้ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ งบประมาณ 3 แสนล้านบาทจากนโยบายจำนำข้าวไปไม่ถึงชาวนาที่ยากจน เมื่อนโยบายยังต้องอาศัยกลไกตลาด อาศัยโรงสีและพ่อค้าทำให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่รั่วไหลไปสู่ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้
"ในเงิน 100 บาทที่รัฐบาลใช้โดยสุทธิแล้ว 63 บาท ตกอยู่กับเหล่าพ่อค้าและโรงสี ไม่ใช่คนจน อีกที่เหลือ 37 บาทตกอยู่กับเกษตรกร-ชาวนาจริงๆ และหากแยกย่อยลงไปถึงชาวนาแล้ว สมัยนี้ชาวนามีวิวัฒนาการ สถิติตั้งแต่ปี 2551 พบว่า กว่าครึ่งของชาวนาจนจริง 30% (คำนวณจากกลุ่มคนระดับล่างสุดของประชากรทั้งประเทศ) แต่เงินในส่วน 37 บาทนี้ กลับตกอยู่กับคนกลุ่มที่จนจริงๆ เพียง 17%"
ดร.อัมมาร์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าการยกระดับราคาข้าวจะกระเทือนไปถึงคนยากจนในภาคอื่นๆ อีกมาก รัฐบาลจะเห็นแค่ชาวนที่ยากจนไม่ได้ ในกลุ่มของชาวนามีกลุ่มที่ร่ำรวยอยู่ 13% (คำนวณจากกลุ่มบนของประชากรทั้งประเทศ) เช่น กลุ่มชาวนาภาคกลาง ซึ่งเป็นผู้ประโยชน์จากนโยบาย 41% ฉะนั้น โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ทำให้คนยากจนลำบากขึ้นอย่างแท้จริง แม้จะมีคนยากจนที่ได้ประโยชน์ แต่ก็น้อยมาก
"การใช้นโยบายราคาสินค้า เพื่อช่วยเหลือคนจนเป็นเรื่องที่มีปัญหา ยิ่งเป็นนโยบายการช่วยเหลือสินค้าที่คนจนผลิตมักจะถูกบิดเบือนเสมอ ไม่ใช่บิดเบือนกลไกราคา แต่บิดเบือนกลไกการกระจายรายได้ หากกดราคาโดยอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือไม่ให้คนจนเดือดร้อนก็จะมีปัญหา ในทางเศรษฐศาสตร์การบริโภคสินค้าใดๆ ก็ตามพิสูจน์แล้วว่า คนที่มีรายได้มากจะบริโภคสินค้ามากกว่าคนที่รายได้น้อย ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือด้านราคาสินค้าใดก็ตามคนรวยจะตักตวงได้มากกว่าคนจน" ดร.อัมมาร์ กล่าว และว่า การใช้นโยบายราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าบริโภคจึงเป็นเรื่องที่ช่วยเหลือคนรวยทั้งสิ้น
"คนไทยมีแหล่งรายได้ที่กระจัดกระจายมาก รายได้มาจากภาคที่ไม่เป็นทางการมากถึง 2 ใน 3 ทำให้การบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจยุ่งยากและซับซ้อนมากเป็นพิเศษ ไม่สามารถมีนโยบายประกันสังคมที่ทั่วถึงได้ นักการเมืองจึงอ้างตลอดเวลาว่าช่วยคนจน และประชาชนจะบ่นว่าตัวเดือดร้อนเสมอ แต่ตัวเองได้อะไรไม่เคยบ่นว่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน เช่น เรื่องข้าวที่ส่งผลให้ภาษีอากรแพงขึ้น แต่ไม่ยอมให้นักการเมืองขึ้นภาษี ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐบาลเดือดร้อนตลอดเวลา ทำให้การคลังอยู่ในฐานะเดือดร้อนตลอดเวลา"
ดร.อัมมาร์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาคนไทยเสพติดประชานิยม มีแนวคิดเกี่ยวกับประชานิยมที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง เป็นเช่นนี้ทุกพรรคการเมือง เห็นได้จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทุกพรรคแข่งกันประชานิยม นั่นคือการเสพติดที่แท้จริงและอันตรายมาก เอาแต่ได้จากรัฐบาล ให้รัฐบาลช่วยทุกเรื่อง โดยไม่คิดว่ารัฐบาลจะนำเงินมาจากไหน พอถึงเวลาจะหาเงินก็ไม่ยอม
"ที่น่ากลัวเฉพาะรัฐบาลนี้ คือ ซุกเงินเก่งมาก เงิน 3 แสนล้านบาทสำหรับซื้อข้าวในโครงการรับจำนำ ไม่มีเอกสารงบประมาณ สร้างกองทุนมากมาย และมีการลือกันว่า งบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานก็จะทำในรูปแบบกองทุน ซึ่งสามารถดัดแปลงให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบสำนักนายก อย่างที่เคยทำกับศูนย์ราชการมาแล้ว"
ขณะที่ศ.ดร.พรายพล กล่าวว่า นโยบายอุดหนุนและตรึงราคาที่รัฐบาลดำเนินอยู่นั้น หากทำในระยะสั้น ถือว่าเหมาะสม แต่ในขณะนี้ เห็นว่า การใช้นโยบายอุดหนุนด้านพลังงานเป็นเรื่องไม่สอดคล้อง และเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เห็นได้ชัดในการตรึงก๊าซแอลพีจี โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาสนับสนุน
"ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องปล่อยลอยตัวก๊าซแอลพีจี แม้จะกระทบต่อภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แต่สามารถใช้แนวทางการอุดหนุนภาคครัวเรือน เช่น การใช้วิธีการแจกคูปอง โดยการดึงข้อมูลจากครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าฟรี ที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านครัวเรือนมารับการอุดหนุนจากรัฐบาล เพราะในปัจจุบันต้องใช้เงิน 140 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งอุดหนุนมา 30 กว่าปี โดยหากสามารถปล่อยลอยตัวได้ เชื่อว่า จะลดภาระการใช้เงินจากกองทุนได้อย่างมากแน่นอน"
ด้านดร.ยรรยง กล่าวว่า หากรัฐบาลเริ่มต้นวางระบบข้อมูลต่างๆ จะประหยัดกว่าสิ่งที่ทำในปัจจุบัน ทั้งการตรึงราคา หรือนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลต้องพยายามสื่อสารกับประชาชน สิ่งสำคัญในการยกเลิกการอุดหนุนราคา ทั้งผู้วางนโยบาย นักวิชาการและภาคสังคมต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องว่าใครได้เสีย-ประโยชน์ สร้างความเข้าที่แท้จริงให้ประชาชน เชื่อว่าหากประชาชนมีข้อมูลที่ถูกต้อง ก็พร้อมที่จะเสียสละเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดในสำหรับประเทศในระยะยาว
"นโยบายเหล่านี้ที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่า ผลประโยชน์ไปกระจุกอยู่ที่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คนจนไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง และแม้จะช่วยคนจนจริงๆ ก็สามารถใช้เงินน้อยกว่านั้นได้ นอกจากนโยบายพลังงานแล้ว ยังมีเรื่องสินค้าเกษตร นโยบายสินค้าราคาแพง รัฐบาลล้วนใช้นโยบายตรึงราคาหมด ประเทศไทยมีเงินทุนในการแก้ปัญหาของเรา แต่ไม่มีเงินทุนพอที่จะอย่างไม่มีประสิทธิภาพ" ดร.ยรรยง กล่าว และว่า การอุดหนุนหรือตรึงราคาไม่ใช่ปัญหาเฉพาะประเทศไทยหรือรัฐบาลชุดนี้ นโยบายเหล่านี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลสามาถนำมาใช้ได้ เพราะระบบกลไกตลาดก็มีจุดอ่อน เช่น การผูกขาดตลาด แต่การแก้ต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา จึงจะเป็นการแก้ที่ยั่งยืนและสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจ
"หากใช้นโยบายตรึงราคาที่ฝืนกลไกตลาดนานเกินไป ยกตัวอย่าง การตรึงราคาค่าเงินในปี 1997 หรือการตรึงราคาน้ำมันในปี 2005 ซึ่งเกิดวิกฤติและความเสียหายเป็นแสนล้านบาท นำไปสู่เศรษฐกิจชะงักงัน ดังนั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่การใช้นโยบาย เพราะนโยบายตรึงราคามักจะมีต้นทุนซึ่งมองไม่เห็นและมีผลกระทบอีกมากมาย อย่างการตรึงราคาแอลพีจี ส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึงว่าเรากลายเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าแอลพีจีแล้ว"
ด้านดร.สุกานดา กล่าวว่า นโยบายอุดหนุนและตรึงราคาที่กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยมากที่สุด คือ นโยบายจำนำข้าว มีโอกาสขาดทุน 80,000 – 100,000 ล้านบาท และส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายนโยบาย เช่น เรื่องพลังงาน น้ำมัน แต่ละส่วนล้วนมีหนี้อยู่กว่าแสนล้านบาท เมื่ออุดหนุนแล้วจะเลิกเลิกอุดหนุนเด็ดขาดคงทำได้ยาก แต่ควรจะเลิก หากเลิกไม่ได้ควรจำกัดขอบเขตช่วยเหลือไปยังชาวนาหรือกลุ่มคนที่ยากจนจริงๆ ความสูญเสียจะลดลง หนี้สาธารณะจะลดลง เช่น การส่งเสริมเทคโนโลยี พิจารณาใหม่ว่าสมควรสนับสนุนให้ปลูกข้าวมากขนาดนี้หรือไม่ ให้ความรู้เกษตรกร หรือส่งเสริมอาชีพอื่นๆ