แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ปานเทพ ฉะการเมือง-ราชการ ถ่วงดัชนีโปร่งใสไม่กระเตื้อง ดึงเครือข่ายช่วยตรวจสอบ
ป.ป.ช.เชิงรุก สร้างเครือข่ายระดับจังหวัด ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น เชื่อมโยงส่วนกลาง ยัน กม.ใหม่ ป.ป.ช.ไม่ขี้ไก่ เชื่อจัดการทุจริต-ระบบอุปถัมภ์ได้ถึงแก่น
วันที่ 6 สิงหาคม สำนักป้องกันการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดโครงการพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล กิจกรรม “รวมพลคนต้านการทุจริต” โดยเชิญภาคีเครือข่าย กว่า 500 คน เข้าร่วมกิจกรรม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และส่งเสริมสมาชิกเครือข่าย โดยมี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความโปร่งใสกับการพัฒนาสังคมไทย”
นายปานเทพ กล่าวตอนหนึ่งว่า ความโปร่งใส เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เกิดความสนับสนุน ศรัทธา ความไว้วางใจประชาชนจะมีให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ เป็นเสมือนสิ่งที่ช่วยให้เกิดความร่วมมือ ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาร่วมกัน เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศ
“หากกล่าวถึงความโปร่งใสในกิจกรรมของรัฐ การบริหารงานภาครัฐต้องชัดเจน แจ่มแจ้ง ไม่ตุกติก ทุกกิจกรรมของรัฐที่เกี่ยวของกับสาธารณะชนต้องบอกกับประชาชนชัดเจนว่าจะทำอะไร มีแนวทาง วัตถุประสงค์และกฎเกณฑ์อย่างไร ใครเป็นผู้เสีย-ได้ประโยชน์ ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร งบประมาณมาจากไหนและที่สำคัญมีการป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นอย่างไร”
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ความโปร่งใส แฝงตัวอยู่ในธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหลักในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เช่นเดียวกับที่ภาคเอกชนต้องยึดหลักบรรษัทภิบาล เพื่อให้การจัดการ การปกครองและการบริหารงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความถูกต้องตามทำนองครองธรรม สร้างประสิทธิภาพให้องค์กร หน่วยงานและประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น ในปี 2558 ที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สิ่งแรกที่ต้องเริ่มต้นคือการสร้างธรรมาภิบาล ซึ่งประกอบด้วย 6 เสาหลัก ได้แก่ 1.หลักนิติธรรม 2.หลักคุณธรรม 3.หลักความโปร่งใส 4.หลักการมีส่วนร่วม 5.หลักความรับผิดชอบ 6.หลักความคุ้มค่า โดยที่เรื่องของความโปร่งใสเป็นเสาหลักที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก
“ความโปร่งใสอยู่ในกฎหมาย รัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ฉะนั้น การสร้างความโปร่งใสในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งเป็นโครงการเชิงนโยบาย ต้องให้ประชาชนรับทราบกระบวนการก่อนดำเนินการ เพราะการทำโครงการในเชิงนโยบายใหญ่ๆ ใช้งบประมาณมากๆ อาจมีการเอื้อประโยชน์ จึงต้องให้ประชาชนได้รับทราบทุกขั้นตอน” นายปานเทพ กล่าว และยกกรณีโครงการเชิงนโยบายใหญ่ๆ ต้องเปิดเผยทีโออาร์ การจัดทำข้อมูลรายละเอียด ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลางและรายละเอียดในการคำนวณราคากลางลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบดูได้ เพื่อป้องกันการสมยอม ซึ่งเป็นสิ่งที่ ป.ป.ช.ตระหนักและให้ความสำคัญ โดยระบุไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
“เรามีกฎหมาย ซึ่งเป็นเครื่องมือบังคับแล้ว แต่จะไม่สามารถบังคับใช้ได้เต็มและไม่เกิดประโยชน์ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและหน่วยงานของรัฐ ทำให้เกิดความโปร่งใสในระบบราชการ”
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามดำเนินการหลายเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต เพื่อให้ดัชนีความโปร่งใสของประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้น เช่น เป็นรัฐภาคีในอนุสัญญารัฐป้องกันการทุจริต ป.ป.ช.จัดงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการป้องกันการทุจริต แต่ดัชนีชี้วัดความโปร่งใสก็ยังไม่ดีขึ้น ต้องยอมรับว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยยังไม่ได้ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเมืองและภาคราชการ ยังเป็นตัวถ่วง ต้องปรับปรุงแก้ไขอีกมาก
“ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ยังมีความไม่พร้อมอีกหลายด้าน เช่น ความอ่อนด้อยทางภาษา กฎหมายที่เอื้อในการธุรกิจยังยุ่งยาก กฎหมายสำคัญๆ หลายฉบับยังคลอดล่าช้า ต้องยอมรับว่าการคอร์รัปชั่นยังเป็นปัญหาสำคัญที่ลิดรอนความเจริญของประเทศ ดังนั้น ต้องทำความโปร่งใสให้เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นที่ความจริงใจของภาครัฐ และภาคส่วนอื่นๆ ช่วยกันผลักดันตรวจสอบ เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นสากลและความสง่างามต่อไป”
ขณะที่ ศ.พิเศษวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึง “เทคนิคการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยาน” ว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องผนึกกำลังทุกภาคส่วน ทำประกาศสงครามครั้งใหญ่ที่สุดกับพวกทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีอำนาจมากที่สุด ผ่านกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
“ตามตำรา ขงจื้อ ได้เขียนเรื่องทุจริตไว้ว่าเป็นปัญหาร้ายแรงและแก้ได้ยากที่สุดที่สังคมต้องเผชิญ หากเทียบกับการก่อการร้ายแล้ว การก่อการร้ายเปรียบเสมือนเด็กซนๆ เท่านั้น แต่การทุจริต เปรียบเสมือนยักษ์ใหญ่ ที่จัดการได้ยาก เนื่องจากมีความโลภ โกรธ หลงเข้าไปซึมลึกในจิตใจของผู้คน การต่อสู้กับการทุจริตจึงเป็นการต่อสู้กับตัวเอง”
ศ.พิเศษวิชา กล่าวต่อว่า การจะสร้างพลังต้องเชื่อมคน 3 รุ่น เข้าด้วยกัน นั่นคือ รุ่นที่กำลังจะผ่านไป รุ่นปัจจุบันและรุ่นที่กำลังจะมา จะปล่อยทิ้งคนรุ่นใหม่ให้อยู่กับขยะ อยู่กับความชั่วร้ายนี้ต่อไปไม่ได้ โดยระบบสำคัญที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะโรครุนแรง คือ ระบบอุปถัมภ์
“ประเทศไทยชินชากับระบบอุปถัมภ์ค้ำชูมายาวนาน แม้จะเป็นเรื่องดี แต่มักจะแยกไม่ออกระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนรวม เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก เหมือนคำกล่าวที่ว่า โกงไม่เป็นไร ขอแค่ให้ได้ประโยชน์ คือสิ่งที่อันตรายที่สุด หากปล่อยให้ความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ จะเป็นความพินาศของบ้านเมือง จะเกิดลัทธิยอมจำนน ปล่อยให้โรคมะเร็งเกิดขึ้นกับชุมชน จะสู้ได้สำเร็จต้องปฏิเสธอย่างเด็ดขาด” กรรมการ ป.ป.ช. กล่าว และว่า กฎหมาย ป.ป.ช.สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายระบบอุปถัมภ์โดยเฉพาะ เนื่องจากระบบนี้สร้างเครือข่ายความชั่วร้ายตั้งแต่รุ่นเล็กๆ ไปจนระดับชาติ และคนที่อยู่ในกระบวนการนี้ย่อมเกรงกลัวและเกรงใจอำนาจเงินและอำนาจอิทธิพลที่ขมขู่เอาชีวิต
“กฎหมาย ป.ป.ช.ระบุมาตรการในการคุ้มครองเร่งด่วน ช่วยเหลือพยาน ที่หมายรวมถึง คนชี้มูล ชี้เบาะแสและครอบครัว โดยไม่ต้องรอมติจากคณะกรรมการ ซึ่งคนกลุ่มนี้ระบบกฎหมายเดิมไม่รับฟัง ขณะนี้มีผู้มาให้ข้อมูลและร้องขอให้ ป.ป.ช.คุ้มครองหลายรายแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนพยานที่เป็นข้าราชการจะได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ เนื่องจากจะถูกกลั่นแกล้งโดยเจ้านายที่กระทำการทุจริตได้ง่าย และกรณีที่พยานอยู่ในวังวนของการทุจริต จะมีการกันไว้เป็นพยาน”
สำหรับหลักในการคุ้มครองพยาน กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า มี 2 หลักใหญ่ๆ คือ 1.จัดให้พยานได้รับการคุ้มครองตามสมควร ตามประเพณี ถิ่นที่อยู่ ไม่ก้าวก่ายเกินไป 2.สามารถร้องขอให้ปกปิด ไม่เปิดเผยชื่อตัว-สกุล ของพยานจนกว่าจะเข้าสู่กระบวนการศาล อย่างไรก็ตาม ต่อไปจะมีการพัฒนาไม่ให้เบิกความแบบเผชิญหน้ากับผู้ทุจริต หรือจัดให้มีการสืบพยานล่วงหน้า และให้รางวัลตอบแทนความดี
ศ.พิเศษวิชา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้จัดตั้ง ป.ป.ช.จังหวัด ใน 9 เขตพื้นที่ 9 จังหวัด และจะขยายเพิ่มเป็น 23 พื้นที่ 23 จังหวัด และให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในอนาคต เพื่อสร้างเครือข่ายทำงานเชื่อมโยงกับส่วนกลาง เป็นกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ทำงานเชิงรุกและมีกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน
“หลักสำคัญ 4 ประการที่ถือเป็นหัวใจของเครือข่าย ป.ป.ช. คือ 1.รอบรู้ รู้ลึก รู้จริง 2.กล้าหาญ ต้องกล้าหาญเพียงพอที่จะจัดการกับสิ่งไม่ดีไม่งาม 3.ความพอประมาณ ไม่มีอคติ เป็นกลาง ไม่มีความเกลียดชัง คนเป็นอุปกรณ์แห่งการทุจริต เราจึงเกลียดสิ่งที่ทุจริตไม่ได้เกลียดคน 4.ความยุติธรรม หรือความเที่ยงธรรม ต่อจากนี้กฎหมาย ป.ป.ช.ไม่ใช่กฎหมายขี้ไก่อีกต่อไป แต่จะสามารถจัดการกับทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพและถึงแก่นมากยิ่งขึ้น”