แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
อนาคต สนง.อาเซียน ดร.สุรินทร์ ชี้ต้องมองแบบยุทธศาสตร์ อยู่ติดปชช.
ใกล้ครบวาระ 5 ปี นั่งเลขาฯ อาเซียน ดร.สุรินทร์ เล็งเสนอรายงานให้อาเซียนทำงานกับประเทศคู่เจรจาอย่างแข็งขัน เสริมบทบาทเอกชน และภาคประชาสังคมทุกประเทศต้องทำงานเชื่อมโยงกัน
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ถึงการดำรงตำแหน่งมาใกล้ครบวาระ 5 ปี ในปลายปี 2555 โดยเร็วๆ นี้เตรียมจะนำเสนอรายงานในวาระพ้นตำแหน่ง ซึ่งมีประเด็นคราวๆ ที่คิดอยู่ ดังนี้
"1. อาเซียน ต้องทำงานกับประเทศที่เป็นคู่เจรจาอย่างแข็งขัน จริงจัง อย่าให้ถูกชี้นำโดยประเทศคู่เจราจาเหล่านั้น 2.ภาคธุรกิจเอกชนในอาเซียน ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากจะต้องมีพื้นที่ (space) มีผลงาน (contribution) และหน้าที่ ภารกิจ (role) และ 3.ภาคประชาสังคมในประเทศอาเซียน คือกลไกที่สำคัญที่สุด ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน
"อาเซียนจะเป็นไปตามแบบของระบบราชการ (bureaucratic) ไม่ได้ เพราะจะเชื่องช้า อืดอาด และรีรอ ไม่กล้าเสี่ยง อาเซียนต้องมองแบบยุทธศาสตร์ (strategic) และอาเซียนจะต้องติดอยู่กับประชาชน จะต้องติดอยู่กับรากหญ้า"
เมื่อถามถึงบทบาทของสำนักงานเลขาอาเซียน ทำอย่างไรถึงจะมีสภาพเหนือรัฐสมาชิกมากขึ้น ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการอาเซียน เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล (intergovernmental organization) เมื่อประเทศสมาชิกยอมรับให้เป็นแค่นั้น ก็คงต้องเป็นแค่นั้น แต่ทั้งนี้ ในอนาคตหวังว่า สำนักงานเลขาอาเซียนจะให้พื้นที่ ให้ทรัพยากร (Resource) มากขึ้น รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มในเรื่องนโยบายหรือวิสัยทัศน์ของอาเซียน
"ที่สำคัญคือกฎบัตรเอง ยอมรับว่า สำนักเลขาธิการอาเซียนมีบุคลิก (character) ที่เป็นอาเซียน ที่เป็น Regional ส่วนอีก 10 สมาชิกนั้น เป็นผู้แทนผลประโยชน์เฉพาะ (particular) 10 ประเทศเฉพาะ 10 ส่วน ซึ่งบางทีอาจจะขัดแย้งกัน บางทีอาจจะเห็นไม่ตรงกัน แต่อาเซียนควรจะมองภาพรวม เห็นภาพทั้งภูมิภาค และปล่อยให้อาเซียนเป็นคนนำ เป็นคนชี้ เป็นคนเสนอมากขึ้น ซึ่งเท่าที่ผ่านมา สำนักงานเลขาอาเซียน ยังเป็นเรื่องของเมือง( capital) อยู่"
ทั้งนี้ ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นคนเวียดนาม กับบทบาทแก้ข้อพิพาททะเลจีนใต้ด้วยว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่า โมเมนตัมของอาเซียนในลักษณะที่เป็นครอบครัวจะไม่ทำให้ปัญหาใดๆ ผูกติดอยู่กับสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งที่จะเข้ามาเป็นเลขาธิการอาเซียน แม้ว่าจะมีความพยายามอยู่หลายระดับที่จะลดความข้อพิพาท และความตึงเครียดนี้
"โมเดลที่เราทำกับมาเลเซียขณะนี้ เป็นโมเดลหนึ่งที่จะพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน โดยที่ไม่มีการพูดกันถึงเรื่องอธิปไตย"