แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
16 ปี จาก “ประเวียน” ถึง “ทองนาค” : อิทธิพลมืดปลิดชีพแกนนำชาวบ้าน
จากปี 2538 ที่กระสุนปืนปลิดชีพ "ครูประเวียน" มีอีกหลายชีวิตนักต่อสู้ชาวบ้านที่ดับลงจากอิทธิพลมืด ล่าสุด 28 ก.ค.54 คือชีวิตของ "ทองนาค"… กว่า 2 ทศวรรษการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนในกรณีต่างๆ มีแกนนำชาวบ้านถูกสังหารไม่น้อยกว่า 28 ชีวิต …
"…กู่เรื่องราวนี้ให้ก้องหล้า ครูประเวียนถูกฆ่า เพราะนำพาต้านโรงโม่หิน กฎหมู่เหนือกฎหมาย ลูกผู้ชาย ผู้หนึ่งดับดิ้น เลือดล้างเลือดไม่สิ้น พื้นแผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ถึงคุณผู้ปกครอง…"
เป็นส่วนหนึ่งของบทเพลง "ครูประเวียน" ที่แอ๊ด คาราบาว เขียนแด่แกนนำชาวบ้านที่ถูกลอบสังหารจากการต่อสู้คัดค้านโรงโม่หินที่ อ.วังสะพุง จ.เลย เวลาล่วงไปแล้ว 16 ปีแต่เสียงกระสุนปลิดชีพยังคงดังขึ้นอีกหลายนัดในหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านลุก ขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโครงการที่สร้างผลกระทบกับชุมชน พร้อมๆกับบทเพลงรำลึกวีรบุรุษชุมชน จนถึงปัจจุบันคือชีวิตของ "ทองนาค เสวกจินดา" แกนนำคัดค้านโรงงานถ่านหิน สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 54 รวมแล้วไม่น้อยกว่า 28 ชีวิต… (ดูรายละเอียดได้ใน "นักสิทธิฯ ระบุ 16 ปี 28 ศพ แกนนำชาวบ้านคัดค้านโครงการกระทบชุมชน" http://www.isranews.org /community-news/กระแสชุมชน/item/3050-นักสิทธิมนุษยชนระบุ-16-ปีมีแกนนำชาว บ้านตาย-27-ศพ-จากการคัดค้านโครงการกระทบชุมชน.html)
ปี 2538 : กรณีคัดค้านโรงโม่หิน อ.วังสะพุง จ.เลย
การตายของ "ครูประเวียน" นับเป็นกรณีแรกๆที่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ ในเรื่องราวการสังหารผู้นำชุมชนที่ลุกขึ้นมางัดข้อกับกลุ่มทุนที่ทำโครงการ ซึ่งก่อผลกระทบชุมชน ซึ่งขณะนั้นพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย มีการสัมปทานโรงโม่หิน 3 แห่ง คือโรงโม่หินบริษัทสุรัตน์การศิลา จำกัด โรงโม่หินบริษัทสหศิลาเลย จำกัด และ โรงโม่หินห้างหุ้นส่วนจำกัด บุญยงค์กิจ ซึ่งมีการผิดสัญญาสัมปทานโดยระเบิดหินนอกเขตพื้นสร้างผลกระทบต่อชุมชนอย่าง หนัก ทั้งมลพิษทางเสียง ฝุ่นละออง และแหล่งต้นน้ำที่ถูกทำลาย
ชาวบ้านได้รวมตัวคัดค้านภายใต้การนำของ "ครูประเวียน" ซึ่งขณะนั้นเป็น "ผู้ประสานงานสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน" เพื่อต้องการให้รัฐหามาตรการแก้ไขปัญหา และได้เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น (พลตรี สนั่น ขจรประสาท) โดย ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ปิดโรงโม่อย่างถาวร 2.ให้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากส่วนกลางไปรักษาความปลอดภัยให้ชาวบ้าน 3.ให้ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปรักษาชาวบ้านที่ป่วยจากฝุ่นละอองจากโรงโม่
กลุ่มคัดค้านถูกขัดขวางจากกลุ่มสนับสนุนโรงโม่ โดยถูกทุบทำลายรถยนต์ขณะกลับบ้าน ซึ่งได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ภายหลังไปให้ปากคำ "ครูประเวียน" ถูกยิงขณะเดินทางออกจากโรงพัก
จากกรณีดังกล่าว ทำให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงโม่หินทั้ง 3 แห่ง แต่เมื่อความขัดแย้งซบเซาลง กิจการโรงโม่หินที่ อ.วังสะพุง ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง ขณะที่คดีลอบสังหารครูประเวียนกลับไม่สามารถสาวไปถึงผู้บงการที่อยู่เบื้อง หลังได้
ปี 2536 -2541 : กรณีคัดค้านเหมืองหินผาจันได จ.หนองบัวลำภู
ไม่ เพียงพื้นที่จังหวัดเลยเท่านั้น หากแต่ยังมีความขัดแย้งระหว่างโครงการสัมปทานแร่กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เช่นปี 2536 มีการสำรวจพื้นที่บริเวณภูผาจันได ภูผาฮวก และภูผาน้ำลอด ในเขต ต.ดงมะไฟ เพื่อขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรม ก่อสร้าง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมกลุ่มคัดค้าน ต่อมาแกนนำชาวบ้าน 2 คนถูกยิงเสียชีวิต
ปลายปี 2541 กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้แหล่งหินเขาภูผาจันไดเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม และวันที่ 20 ม.ค. 2542 มีประกาศเรื่องการขอประทานบัตร ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียต้องยื่นคัดค้านภายใน 20 วัน หนังสือคัดค้านลงวันที่ 27 ม.ค. 42 แต่ทางราชการอ้างว่าไม่มีการคัดค้าน จึงอนุญาตให้ดำเนินการต่อ จากนั้น "กำนันทองม้วน คำแจ่ม" และเพื่อนแกนนำกลุ่มคัดค้านถูกยิงเสียชีวิตอีก
กรณีความขัดแย้งครั้งนี้ มีชาวบ้านถูกยิงตาย 4 คน ขณะที่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำตัดสินคดีที่ชาวบ้านฟ้องให้เพิกถอนประทาน บัตรโครงการ แต่ศาลฎีกาพิพากษาตัดสินจำคุกชาวบ้าน 2 คนคดีที่นายทุนฟ้องว่าวางเพลิงในเขตพื้นที่ประทานบัตร ซึ่งเป็นเพียงเพิกพักขนาดเล็ก
ปี 2547 : กรณีคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์
การโหมพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรม ได้สร้างผลกระทบในหลายพื้นที่ ช่วงเวลาเดียวกับการคัดค้านเหมืองหินในภาคอีสานตอนบน ภาคตะวันออกก็มีการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน บ่อนอกมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาทของบริษัทกัลฟ์พาวเวอร์เจเนอเรชั่นจำกัด เริ่มตั้งแต่ปี 2538 นำโดย "เจริญ วัดอักษร" ประธานกลุ่มอนุรักษ์บ่อนอก-กุยบุรี ซึ่งยังเรียกร้องให้ตรวจสอบการบุกรุกที่สาธารณะของนายทุนท้องถิ่น ต่อมาถูกยิงเสียชีวิต 21 มิ.ย.47
ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้คัดค้านได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ทบทวนและยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้า ถ่านหิน แต่รัฐบาลเพิกเฉย การชุมนุมจึงยืดเยื้อนำไปสู่การปิดถนนเพชรเกษมบริเวณสี่แยกบ่อนอก ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ก่อนเรื่องราวทั้งหมดจะจบลงด้วยการย้ายที่ตั้งโรงไฟฟ้า อาจนับเป็นชัยชนะของชาวบ้านที่แลกมากับการสูญเสียผู้นำชุมชน แต่ปัจจุบันกลับยังมีการลงไปสำรวจพื้นที่เพื่อทำโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณ อ.บางสะพานน้อย
ปีปัจจุบัน 2554 : กรณีคัดค้านโรงงานถ่านหินในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร
ปัจจุบันหลายโรงงานในสมุทรสาคร เริ่มหันมาพลังงานถ่านหินเพื่อแทนพลังงานเชื้อเพลิงที่มีราคาสูง จึงมีคลังสินค้าถ่านหินอยู่ 3 จุดในพื้นที่เพื่อขนถ่ายโดยรถบรรทุกไปยังผู้ซื้อ ทว่าการขนย้ายถ่านหินทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษฝุ่นละออง การปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลของโรงงาน จึงสร้างความเดือดร้อนให้ทั้งชาวบ้านทั่วไปและชาวประมง
13 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการชุมนุมปิดถนนพระราม 2 เพื่อกดดันให้ ผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการถ่านหินทุกรายยุติการดำเนินงาน ซึ่งผู้ว่าฯมีคำสั่งให้กลุ่มทุนถ่านหินยุติขนถ่านหิน เปรียบเหมือนเป็นชัยชนะของชาวบ้าน แต่พบว่ายังมีการลักลอบดำเนินการ กระทั่งวันที่ 28 ก.ค.54 "ทองนาค เสวกจินดา" ถูกยิงเสียชีวิต
ล่าสุดตำรวจจับทีมสังหารได้ 2 คน และมีการซัดทอดถึงนายทุนผู้เสียผลประโยชน์ แต่ต้องจับตาดูว่าครั้งนี้จะสาวถึงตัวบงการได้ หรือหายไปกับสายลมเหมือนกรณีที่ผ่านๆ มา
บทเรียนจากความสูญเสีย
สุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้ง ข้อสังเกตุว่าความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโครงการขนาดใหญ่ สะท้อนว่าปัญหาการแย่งชิงฐานทรัพยากรนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆทั้งที่ดิน น้ำ ป่า แร่ และเมื่อชาวบ้านรวมตัวกันลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิชุมชนและฐาน ทรัพยากรท้องถิ่นจากโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลประโยชน์มหาศาล ความขัดแย้งนำไปสู่ความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า
นักสิทธิมนุษยชน ยังกล่าวว่าบทเรียนจากการสูญเสียนักต่อสู้เหล่านี้ว่า สะท้อนถึงความเพิกเฉยของรัฐต่อสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ กฏหมาย นโยบาย กฏระเบียบต่างๆ ก็ไม่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยปกป้องประชาชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตน ซึ่งมีหลายกรณีที่ชาวบ้านร้องทุกข์มายืดเยื้อยาวนาน แต่รัฐไม่ได้ยื่นมือเข้าไปรับฟังและช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ จนนำไปสู่การสูญเสียรุนแรง หลายกรณีกลับจับกุมผู้กระทำผิดไม่ได้ ส่วนที่จับกุมส่วนใหญ่สาวไม่ถึงผู้บงการ ซึ่งสะท้อนกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรา
ผ่านมามีหลายคดีที่ดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของชาวบ้าน เช่น กรณีคัดค้านโรงโม่หิน จ.พิษณุโลก ที่ "พิทักษ์ โตนวุธ" แกนนำชาวบ้านถูกยิงเสียชีวิต และนำไปสู่การยกเลิกประทานบัตรโครงการ แต่ต่อมาก็มีกลุ่มทุนเข้าไปเปิดกิจการที่สร้างผลกระทบกับชุมชนอีกมากมายใน พื้นที่
ด้าน นางกรอุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญ วัดอักษร บอกว่า ประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าประชาชนไม่สามารถพึ่งกระบวนการ ยุติธรรมและกลไกรัฐได้เลย เพราะภาครัฐมีทัศนคติต่อผู้คัดค้านว่าถ่วงความเจริญของประเทศชาติ
"บทเรียนจากคดีเจริญ แม้จะจับมือปืนได้ แต่ก็สาวไม่ถึงผู้บงการ ผู้กระทำผิด 1 คนถูกตัดสินประหารชีวิต ผู้ต้องหาอีก 2 คนถูกยกฟ้อง อีก 2 คนเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ระหว่างกระบวนการศาล"
กรอุมา ยังอธิบายว่า เมื่อถามว่า "คุ้มไหมกับการสูญเสียเจริญ" ตอบว่า "ไม่คุ้ม" แต่สิ่งหนึ่งที่ได้มาคือทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันว่า "การต่อสู้คือการเสียสละ" ตั้งแต่ เวลTาในการทำมาหากิน อิสรภาพ และแม้กระทั่งชีวิต เพื่อแลกกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม
ส่วนการสูญเสีย "ทองนาค" จอมขวัญ เสวกจินดา ให้สัมภาษณ์ในข่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาชาวบ้านเคยคลื่อนไหวคัดค้าน และได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ สามีของตนถูกข่มขู่มาตลอดเพื่อให้ยุติการคัดค้าน กระทั่งโดนสังหาร ทั้งนี้อยากฝากให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองชาวบ้านและแกนนำอีก 10 กว่าคนซึ่งถูกข่มขู่เช่นเดียวกัน
ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน กล่าว ว่าแม้ศาลปกครองจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการดำเนินกิจการถ่านหิน ในพื้นที่สมุทรสาคร แต่คดีความยังไม่ถึงที่สุดเพราะชาวบ้านยื่นฟ้องให้เพิกถอนกิจการถ่านหินทั้ง หมดในจังหวัด
ทั้งนี้การเสียชีวิตของแกนนำชาวบ้านจะเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวบ้านตื่นตัว ออกมาปกป้องสิทธิของตนเองกับโครงการที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ส่วนจะทำให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่บังคับใช้กฏหมายปฏิบัติหน้าที่อย่าง เคร่งครัดอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
……………………………..
16 ปีการสูญเสีย "ครูประเวียน" ถึง "ทองนาค" ส่ง เสียงถึงสาธารณะว่าการแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นยังคงทวีความรุนแรงขึ้น เรื่อยๆ โครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชนชนตลอดมา แม้ว่าหลายครั้งจะแลกมาด้วยการสูญเสีย ซึ่งในหลายกรณีรัฐและกระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่สามารถเยียวยาบาดแผลที่เกิด ขึ้นได้ .