แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ตุ้มโฮม บุญผะเหวด บ้านศรีสำราญ ใช้ “ราก”ชุมชนลดความขัดแย้ง
ถึงจะออกตัวว่าไม่เชี่ยวชาญเรื่องข้อมูลที่มา แต่พอร้องให้ช่วยอธิบายพอเข้าใจ “ดิว” ลดาวัลย์ มั่นเรืองศรี โรงเรียนสามหมอวิทยา จ.ชัยภูมิ ก็เล่าถึง “บุญผะเหวด” ได้น่าฟังไม่แพ้ใคร
อาจเป็นเพราะงานบุญมหาชาติรอบนี้ ที่บ้านนามน-บ้านสำราญ-บ้านนาฮี จ.ชัยภูมิ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีความหมายกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
“เป็นการกลับมาจัดงานใหญ่อีกครั้งหลังจากชุมชนของเราไม่ได้จัดไปช่วงหนึ่ง อีกทั้งพอมีงานครั้งนี้เกิดขึ้นคนในชุมชนก็วางข้อตกลงไว้ว่าจะจัดต่อเนื่องกันไป2-3ปี ตามธรรมเนียมที่สมบูรณ์”
ท้าวความไม่นานพอเชื่อมโยงให้งานบุญรอบนี้พิเศษกว่าครั้งไหนๆ “ทรงศิริ นราพงษ์” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสำราญ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ อธิบายว่า ชุมชนของพวกเขากำลังประสบปัญหาความขัดแย้งจากสาเหตุการแบ่งฝักฝ่าย หลังผ่านการเลือกตั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นหลายครั้ง
“มีการเลือกตั้งทีไร ชาวบ้านเหมือนต้องเลือกข้าง ต่างฝ่ายต่างแข่งขันกัน แม้พอเลือกตั้งจบก็จริง แต่ความแบ่งพวกมันยังอยู่จึงเรื่องที่ทุกคนต้องเผชิญและร่วมแก้ปัญหา”เขาว่า
เมื่อได้ไปร่วมอบรม“สุขแท้ด้วยปัญญา” กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายพุทธิกา แนวทางหลักแห่งการสร้างสุขแบบไม่พึงวัตถุจึงถูกประยุกต์เป็นกิจกรรม “ปัญญาดี ศรีสำราญ” เพื่อสอดคล้องกับปัญหาที่เผชิญอยู่
“เมื่อความทุกข์ของชุมชนเราคือการที่สังคมถูกแบ่งฝ่าย การสร้างกิจกรรมสมานรอยร้าว สร้างความสามัคคีจึงเริ่มขึ้น พร้อมๆกับการทำความเข้าใจหลักการประชาธิปไตย”นายกเล็กศรีสำราญอธิบาย
“โดยประเด็นหนึ่งที่เราเห็นร่วมกันว่าน่าจะช่วยให้เราหันกลับมามองตัวเองคือการค้นหาเชื่อมโยงวัฒนธรรม ประเพณี ความดีงาม ที่เคยมีในอดีตแต่เลือนหายไปในปัจจุบันให้กลับมาและ“บุญผะเหวด”เป็นชื่อแรกที่วงระดมสมองสร้างกิจกรรมนึกถึง”
“ชาวบ้านจะคิดได้ว่าชุมชนของเรานั้นมี“ราก” บอกวิถีชีวิต ซึ่งรากชนิดเดียวกันนี้เอง ที่อธิบายว่า ชุมชนศรีสำราญอยู่มาได้อย่างมีความสุขก่อนจะรู้จักการเลือกตั้งด้วยซ้ำ หรือมีอำนาจใดๆด้วยซ้ำ”
“ตุ้มโฮม บุญผะเหวด” ของบ้านศรีสำราญรอบนี้จึงคึกคักกว่าที่เคย ด้วยมีชาวบ้าน เด็กนักเรียน สมาชิกอบต.ร่วมวง พร้อมกับแห่ขบวนไปรอบเมือง
กล่าวถึงงาน“บุญผะเหวด “ดิว” อ้างอิงคำบอกเล่าจากญาติและคำสอนครูว่า เป็นหนึ่งใน ฮีตสิบสองของชาวอีสานว่าด้วย การเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียว และจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยะเมตไตรย์ แต่ถ้าหากตั้งบูชาไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดอาเพศและสิ่งไม่ดีต่างๆ ตามมาทุกคนในหมู่บ้าน ให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก”
“อีกประการหนึ่งคือเพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า กิจกรรมนี้จึงเป็นเหมือนกับนำสัญลักษณ์ของความเสียสละการให้ หรือการมีจิตอาสาของคนในสังคม มาร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งจะโยงไปถึงความร่วมไม้ร่วมมือที่จะเกิดในระดับตำบลด้วย”
ส่วน“เนย” ภัสสร เบิบชัยภูมิ นักเรียนโรงเรียนสามหมอ ซึ่งแสดงเป็นนางมัทรี มารดาของพระกัณหา-ชาลี ตัวละครหนึ่งในเทศน์มหาชาติ พระเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นเรื่องราวอ้างอิงของงานบุญผะเหวด มองว่า กิจกรรมที่พวกเธอทำอยู่นี่มีมากกว่าเรื่องความเชื่อในชุมชน ด้วยเมื่อมี “งานบุญ”เป็นผู้ประสาน ชาวบ้านในชุมชนจะไม่ปฏิเสธที่จะร่วมงานด้วย
“จากที่ได้แค่มองกัน ไม่เคยคุยกัน เขม่นกันตอนหาเสียงเลือกตั้งก็กลับมาพูดกันอีกครั้ง”เนยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงที่พบเห็น
เช่นเดียวกับที่ให้ชาวบ้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานพัฒนาชุมชนได้มีส่วนเรียนรู้ปัญหาของชุมชนตนเอง การให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมผ่านประเพณีเก่าแก่ จากผู้เฒ่าในชุมชนแทนการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
“ที่สำคัญคือเน้นการเสียสละ-การให้ ในเทศน์มหาชาติตอนหนึ่งพระเวสสันดรต้องมอบโอรส-ธิดา ให้ชูชกไป ซึ่งแม้นางมัทรีภรรยาจะเสียใจ แต่นั่นก็เพื่อบำเพ็ญบุญบารมี การให้ครั้งนั้นนำไปสู่การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ สามารถช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้มากกว่า”
เมื่อลองตั้งโจทย์ว่า กรณีเช่นนี้จะเกี่ยวกับความขัดแย้งในชุมชนศรีสำราญได้อย่างไร เนย หยุดคิด ก่อนจะว่า คล้ายกันในเรื่องของการยึดถือประโยชน์ส่วนรวม
“หากเราใช้ปัญญา ยึดส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ความอยากจะเอาแต่ใจตัวเองก็คงไม่เกิด ไม่ต้องทะเลาะกันบนความรู้สึกอยากเอาชนะ”
บุญผะเหวดรอบนี้จึงมีความหมายกว่าครั้งไหน