แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ชีวิต เครือข่าย และสายน้ำ ตามไปดูกลุ่มคน 'อาสา' แห่งลุ่มน้ำตรัง
ปีนี้สถานการณ์ราคายางพาราพุ่งสูงมากเป็นประวัติการณ์ ...สูงกว่ากิโลกรัมละ 160 บาทแล้ว แน่นอนว่า ราคาที่ถีบตัวสูงขึ้นขนาดนี้ ความต้องการใช้พื้นที่ปลูก ก็คงต้องมากขึ้นตามเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะภาคใต้ ถึงขั้นมีการคาดกันว่า อีกไม่นานการบุกรุกทำลายป่าจะรุนแรงขึ้น
ช่วงเดินทางมาเยือน ถิ่นกำเนิดยางพารา ล่องแพไม้ไผ่ที่คลองบางพระ ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง เพื่อชมการจัดการอนุรักษ์ต้นน้ำ ในโครงการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนนั้น เราเห็นต้นยางพารา ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพลัดใบในฤดูแล้ง ปลูกเรียงรายลดหลั่นกันไปตามเนินเข้าเตี้ยๆ เต็มทั้ง 2 ฝั่งคลอง
หากจะไม่ไถ่ถามถึงเรื่องนี้ ก็กระไรอยู่...
“ชาวสวนยางกรีดยาง 3-4 วันแล้วก็จะหยุดเว้นช่วง เพื่อให้ต้นยางได้ซึมซับอาหาร” วัชระ อยู่ประเดิม รองนายก อบต.วังมะปราง อาสาทำหน้าที่มัคคุเทศก์นำทาง เริ่มอธิบาย พลางก็ชี้ไปที่ต้นยางบางต้นมีสายระโยงระยางแขวนอยู่ ก่อนจะพูดด้วยสีหน้าจริงจังว่า ชาวสวนบางคน ก็จะใช้วิธีอัดแก๊สฮอร์โมน เพื่อให้ไปกระตุ้นน้ำยางจะได้ไหลออกมาเยอะๆ จะได้ขาย ได้เงินมามากๆ แต่ทั้งนี้ชาวสวนก็จะต้องมีการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธีด้วย มิเช่นนั้นต้นยางอาจตายเร็วขึ้น
สนทนาไปได้สักพัก ไกด์จำเป็น ก็วกกลับมาพูดคุยถึง “แม่น้ำตรัง” กันต่อ
“แม่น้ำตรัง” แม่น้ำสายเลือดใหญ่ของคนตรังว่า ที่มีต้นกำเนิดที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ก่อนจะไหลผ่านหมู่บ้าน ตำบล แล้วไหลเข้าสู่ทะเลอันดามัน ที่ปากแม่น้ำตัง อ.กันตัง จ.ตรัง รวมระยะทางยาวประมาณ 123 กิโลเมตร ซึ่งผู้คนที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ ตระหนักรู้คุณค่าป่า และลำน้ำ
ด้วยว่า เมื่อป่าต้นน้ำถูกทำลาย แน่นอนก็เหมือนกับทำลายปลายน้ำ ไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเห็นถึงความจำเป็นต้องรักษาป่าต้นน้ำไว้ เพื่อจะได้ดูดซับน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี ซึ่ง “คลองบางพระ” ก็เช่นเดียวกัน คลองย่อยของคลองชี มีต้นน้ำมาจากห้วยด้ามขวาน ห้วยช่อนไช ในเขตอ.สิเกา และอ.บ่อหิน จ.ตรัง
ในอดีตเคยเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ มีการนำไม้ไผ่ สินค้าขึ้นชื่อของต.วังมะปราง รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรล่องแพไปขายยังปากน้ำกันตัง นอกจากนี้ริมคลองบางพระยังเป็นแหล่งอาหารราคาถูกสำหรับชาวบ้านแถบนี้
แต่จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ และธรรมชาติ มีผลทำให้คลองที่เคยอุดมสมบูรณ์ กลับเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว
“3-4 ปีที่ผ่านมา สายน้ำในคลองบางพระแห่งนี้ แห้งขอดในหน้าแล้ง ชาวบ้าน 2 ฟากคลอง ไม่มีน้ำทำการเกษตร ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลวังมะปราง จึงต้องระดมคนที่มีจิตใจอาสาจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา ก่อนจะเกิดข้อบัญญัติของอบต.วังมะปราง ปี 2553 เพื่อใช้ดูแลคลองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีตั้งแต่การกำหนดแนวอนุรักษ์จากหน้าฝายถึงสะพานควนดินแดงประมาณ 3 กิโลเมตร,อย่าให้มีการจับปลาด้วยวิธีการช็อตปลา การใช้สารเคมี,กำหนดเครื่องมือจับปลา เช่น การจับด้วยโพงพาง อวนตาถี่จับปลา และห้ามชาวบ้าน 2 ฝั่งคลองดันต้นไม้ลงในลำคลอง ที่สำคัญ ขอให้เว้นพื้นที่ระหว่างจากคลองถึงพื้นที่ของชาวบ้านประมาณ 3 เมตร จากนั้นให้มีการปลูกต้นไม้เพื่อยึดหน้าดิน ”
รองนายก อบต.วังมะปราง หนึ่งในผู้รับผิดชอบเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลเรื่องป่าไม้และลุ่มน้ำ ค่อยๆ เล่า ที่ไปที่มาของการรวมตัวเป็น “เครือข่ายองค์กรชุมชนคลองบางพระ” ขณะที่แพโบราณก็กำลังลัดเลาะ ล่องไปตามคูคลอง อย่างช้าๆ รวมระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ที่คดเคี้ยวเลี้ยวลด เพื่อพาเราชมเขตอนุรักษ์วังปลา และป่าริมน้ำ มีทั้งไผ่ป่า ต้นปรง เคียน หว้าน้ำ ตะกู เพกา ฯลฯ
กระทั่งมาสิ้นสุดที่จุดลงแพ หน้าฝายกั้นน้ำ โดยมีเด็กน้อยเจ้าของถิ่นกลุ่มหนึ่ง ยืนรอต้อนรับ พร้อมโชว์ปลาไหล ที่ได้จากการดักเบ็ดในคลองบางพระ
“บุญเปี่ยม เข็มทอง” รองประธานกลุ่มอนุรักษ์คลองบางพระ วัย 46 ปี มีอาชีพหลัก คือการทำสวนยาง เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่ทางภาครัฐ จะเข้ามาสร้างฝายน้ำล้นแบบถาวรตรงจุดนี้ และธรรมชาติถูกฟื้นฟูกลับมาสมบูรณ์แบบนี้นั้น ตั้งแต่จำความได้ธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์น้ำ ในคลองบางพระมีชุกชุม เจอปลาแทบทุกชนิด
"พ่อได้เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนคลองแห่งนี้ คือเส้นทางสัญจรทางน้ำ ขนสินค้าจากที่นี่ไปขายและแลกเปลี่ยนที่ อ.กันตัง กระทั่งมีคนเริ่มเข้ามาตั้งรกรากมาก ๆ เข้า มีการจับจองที่ดิน รุกล้ำคูคลอง พยายามฉกฉวยทุกสิ่งมาเป็นของตัวเอง จนไปทำลายธรรมชาติ สุดท้ายปี 2538 คลองบางพระ ที่เคยลึกถึง 7 เมตร น้ำก็เริ่มแห้งขอดในหน้าแล้ง”
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เองทำให้ชาวบ้านต้องมาพูดคุยแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งร่วมมือกันสร้างฝายขึ้นมาหลายจุด กระทั่งภาครัฐ เข้ามาหนุนเสริมอีกแรง ทว่า เมื่อคลองบางพระ ถูกคนพลิกฟื้นให้คืนกลับมามีสภาพแบบดั่งเดิม ปัญหาก็ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ “บุญเปี่ยม” บอกอีกว่า วิธีการหาปลา ก็ยังผิดวิธีแบบสุดๆ ใช้อวนตาถี่ ใช้ไฟฟ้าช็อตปลา
“ผมทำอะไรไม่ได้ เพราะรวมตัวกันแค่ไม่กี่คน จึงต้องล้มเลิกไป ต่อมาได้ร่วมกันตั้งกลุ่ม “เครือข่ายองค์กรชุมชนคลองบางพระ” ขึ้นมา โดยมีพี่ชาย คือ นายสมบูรณ์ เข็มทอง เป็นประธาน สร้างกฎกติการ่วมกันระหว่างสมาชิก”
แม้ที่ผ่านมาโครงการจะล้มลุกคลุกคลาน มีบางครั้งต้องหยุดชะงักไปบ้าง แต่กฎ กติกาที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนในชุมชนเอง ก็ทำให้ชาวบ้านเข้าใจและให้ความร่วมมือ ร่วมพัฒนาอนุรักษ์คลองบางพระให้เป็นสายคลองที่คนในตำบลสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ทั้งน้ำใช้เพื่อการเกษตร ปลาในลำคลอง และแหล่งอาหาร หรือไม่ว่า จะเป็นพืชสมุนไพร หน่อไม้ เห็ดชนิดต่างๆ
“การเข้ามาร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์คลองบางพระ ผมทำเพื่อลูกหลาน ผมอยากให้เขาเห็นสิ่งที่เคยมีมาก่อน ที่ผมเคยเห็น ต้นไม้อุดมสมบูรณ์ ปลาหลากหลายพันธุ์ในคลองแห่งนี้” รองประธานกลุ่มอนุรักษ์คลองบางพระ กล่าวทิ้งท้าย
ด้วยแนวคิดที่ว่า เรื่องของชุมชน ชุมชนย่อมมีสิทธิในการรวมกลุ่มแก้ปัญหาของตนเอง และจะต้องได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน “รอเก็ก หัดเหม” ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำตรัง และหัวหน้าโครงการฯ ยืนยัน คือการพัฒนาที่เดินมาถูกทาง
พร้อมกับบอกด้วยว่า งานพัฒนาลุ่มน้ำตรัง ต้องมองภูมินิเวศน์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะแยกส่วนไม่ได้ หากปลายน้ำมีการรักษาแม่น้ำตรังเป็นอย่างดีแล้ว แต่กลางน้ำ และต้นน้ำ มัวแต่ใช้สารเคมี ตัดต้นไม้ทำลายป่า โยนขยะลงคูคลอง ทำท่าทรายโดยไร้ขอบเขต สุดท้ายงานพัฒนาดังกล่าวก็ไร้ความหมาย
ดังนั้น การต่อยอดรวมตัวกันเป็นเครือข่ายระดับใหญ่ขึ้น จึงสำคัญ
ณ วันนี้ 9 องค์กรชุมชน ได้แก่ เครือข่ายฟื้นฟูสายน้ำคลองชี องค์กรชุมชนตำบลเขาวิเศษ องค์กรชุมชนตำบลท่าสะบ้า องค์กรชุมชนตำบลวังมะปราง กลุ่มองค์กรชุมชนตำบลหนองตรุด กลุ่มองค์กรชุมชนตำบลย่านซื่อ กลุ่มองค์กรชุมชนตำบลบางเป้า กลุ่มคนรักษ์คลองน้ำเจ็ด และกลุ่มคนรักคลองลำพู-บางหมด จับมือกันเหนียวแน่น รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง” ดำเนินโครงการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติฯ จนส่งผลให้เกิดเครือข่ายลุ่มน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ...
10 พันธกิจ ของเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง
ภายใต้พันธกิจ 10 ข้อ ที่ภาคีและองค์กรชุมชนเข้มแข็งจัดทำขึ้น ประกอบด้วย
1.แก้ไขปัญหาจากภัยธรรมชาติ
2.พัฒนาแหล่งเรียนรู้ของชุมชน
3.ผูกเกลอและสานสัมพันธ์คนกลุ่มน้ำตรัง
4. มีฐานข้อมูลลุ่มน้ำที่ครอบคลุมโดยชุมชน
5.พัฒนาลุ่มน้ำตรังสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
6.ออมทรัพย์สวัสดิการกลุ่มเครือข่ายที่เข้มแข็ง
7.เฝ้าระวังภัยและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลุ่มน้ำตรัง
8.อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน
9.สนับสนุนงานภูมิปัญญาประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น
10.เสริมพลังภาคีความร่วมมือในระดับจังหวัดและภูมิภาค