แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เลียบ"ค่ายดอนมะจ่าง" ผนึกภูมิปัญญา "นศ.-ชาวบ้าน" เพิ่มตลาดผ้าทอมือ
เมื่อคิดได้ว่าห้องเรียนไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง ช่วงปิดเทอมเล็กตุลาคมที่เพิ่งผ่านไปจึงเร็วไวปานกามนิตหนุ่ม ถึงเช่นนั้นวันคืนที่หมดกับชีวิตนอกตำราก็หาได้ถูกทิ้งขวางอย่างไร้ประโยชน์
อย่างน้อยที่สุด แหวง-นิวัฒน์ อินแสงแวง นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ก็นิยามตุลาคมที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆนี้ว่า เวลาแห่งการเก็บเกี่ยว-บ่มเพาะประสบการณ์ครั้งใหม่
ย้อนไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ท่ามกลางบรรยากาศกิจกรรมการอบรมเยาวชนแบบธรรมเนียมนิยมทั่วไป พร้อมเบื้องหลังที่มาคือถูกครูบังคับให้เข้าร่วม กลางดึกคืนหนึ่ง “แหวง” เปิดบทสนทนากับเพื่อนรุ่นพี่ว่า “ทำกิจกรรมไปแล้วจะได้อะไร”
เขา สรุปเอาว่า แม้คำตอบที่ได้จากรุ่นพี่กลุ่มนั้นจะไม่ได้ช่วยให้เข้าใจอะไรมากนัก แต่กับข้อสงสัยนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในหัว เฝ้าถามตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่รอช้าจับปากกาเขียนโครงการส่งให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิโกมลคีมทองพิจารณา เพื่อขอพาตัวเองมาแสวงหาที่“ค่ายอาสาศึกษาปัญหาสังคม”
“หากเราอยากรู้มันก็ต้องลอง วิธีการนี้ดีกว่านั่งอยู่เฉยๆเพื่อรอฟังจากคนอื่นแน่นอน จะได้รู้สักทีว่าแท้จริงแล้วการทำกิจกรรมเป็นอย่างไร การออกค่ายเพื่อค้นหาตัวเองและช่วยสังคมไปด้วยอย่างที่เขาพูดกันนั้นคืออะไร”เขาบอก
แม้จุดเริ่มต้นจะดูเป็นพล็อตเรื่องง่ายๆ ตามแบบฉบับการค้นหาประสบการณ์แปลกใหม่ของเด็กวัยรุ่นแต่กับโปรเจคของ “แหวง” ภายใต้ชื่อยาวๆ “โครงการศึกษาเรียนรู้ชุมชนพอเพียงด้วยจิตอิสระ อาสา ชุมนุมเขียดน้อยงอยกะโป๊ะ ม.นครพนม” ซึ่งออกค่ายที่บ้านดอนมะจ่าง จ.นครพนม ก็ใช่ว่าจะราบเรียบอย่างที่คิด ด้วยโจทย์ที่ถูกตั้งไว้ในโครงการนี้อยู่บนหลักการที่ว่า “เราไม่ใช่ค่ายที่มุ่งแต่สร้างวัตถุ” ดังนั้นกรรมวิธีการออกแบบกิจกรรมของชมรมเขียดฯจึงดูเป็นอะไรผนวกทั้งความอดทนและความคิดมากกว่าการใช้แรงงานหรือเงินเพียงอย่างเดียว
“หนึ่ง-พวกเราลงไปศึกษาปัญหาที่บ้านดอนมะจ่าง อ.ศรีสงคราม เพื่อให้รู้ว่าพวกเขามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร อะไรคือความต้องการและปัญหาที่มีอยู่ สอง-พวกเราและชาวบ้านมีความรู้และภูมิปัญญาอะไรบ้างที่สามารถถ่าย-โอนกันได้เพื่อขจัดปัญหาและสนองความต้องการนั้น สาม-กระบวนการที่จะตอบสนองสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำอย่างไรได้บ้าง” แหวงขมวดวิธีการมองประเด็นทำค่าย
นามธรรมในชุมชนบ้านดอนมะจ่างจึงเริ่มคลายตัวพร้อมก่อร่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจับหลักสำคัญได้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วชุมชนนี้ยังคงมีลักษณะทางกายภาพด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่อิงเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน ปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้ดำรงชีวิตตามขนบวิถีชีวิตชนบท ขณะเดียวกันตัวชุมชนเองก็มีความพยายามสร้างรายได้พิเศษด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน นั่นคือการทำผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ
“ผ้าที่ชาวบ้านทำมีความงามในตัวเองอยู่แล้ว แต่เมื่อมองไปที่ขั้นตอนต่อจากนั้นกลับพบว่า ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะรองรับภูมิปัญญาเหล่านั้น ทั้งการหาตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า หรือกระทั่งการใส่ถุงบรรจุภันฑ์ที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ เพราะเท่าที่เห็นในตอนแรกผ้าย้อมสีธรรมชาติกลับถูกบรรจุลงในถุงหิ้วพลาสติก”
“พวกเราที่ทำค่ายจึงมุ่งไปที่ประเด็นตรงนั้น และมองว่าตัวเองมีศักยภาพอย่างใดบ้างที่จะพัฒนาจุดตรงนั้นให้ดีขึ้นได้” ตัวแทนชาวค่ายรายนี้เริ่มเฉลย
แหวง บอกว่า เขาและเพื่อนจึงหาข้อมูลต่างๆ หลากหลายที่มา จนพบจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่ค้นพบในชุมชนดังกล่าวและละแวกข้างเคียงนั่นคือ “ใยสับปะรด”
“ใยสับปะรด และต้นกก คือวัตถุดิบที่พบได้มากในชุมชนละแวกนี้ และพวกเรารู้ว่ามันสามารถนำมาทำเป็นวัสดุประเภทถุงหิ้วได้ เพราะใยสับปะรดมีความหนาและแข็งแรงพอจะใส่ผ้าที่ชาวบ้านผลิตได้เรานำความรู้ทางวิศวกรรมของเรามาใช้ผนวกกับความรู้พื้นฐานที่ได้จากการเรียนวิชางานฝีมือ(หัวเราะ)นี่จึงเป็นที่มาของการทำถุงจากใยสับปะรดเพื่อใส่ผ้ายอมสีธรรมชาติ ซึ่งเข้าคอนเซปได้ดีและช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า”
“เช่นเดียวกับการตลาดที่จะกระจายสินค้าไปสู่วงกว้างมากขึ้น เราติดต่อไปที่สถาบันการศึกษาในกรณีที่มีการจัดงานเปิดร้านเพื่อนำสินค้าซึ่งมีที่มาจากภูมิปัญญาบ้านดอนมะจ่างนี้ออกสู่สายตาคนทั่วไป อย่างเช่นในงานเทศกาลไหลเรือไฟของจังหวัดปีนี้ ผ้าย้อมสีธรรมชาติของบ้านดอนมะจ่างได้มีโอกาสไปออกร้านด้วย”เขาบอก
อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุด แหวง มองว่า ไม่ได้อยู่ที่การได้มาซึ่งถุงธรรมชาติเพื่อใส่ผลิตภัณฑ์ชุมชน แต่กระบวนการเรียนรู้ ลงมือทำอะไรจริงจังของพวกเขาเองต่างหากที่เป็นผลลัพธ์อันล้ำค่า
“นี่คือการทำค่ายของตัวเองเป็นครั้งแรก มันคือความภูมิใจที่ช่วยเหลือผู้อื่น นี่ยังไม่พูดถึงบทเรียนที่ได้จากการสังเกต ได้มองดูการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้าน ได้เห็นความสุขที่เกิดจากหัวใจ มิใช่เพียงความเจริญทางวัตถุอย่างเดียว” แหวงกล่าวถึงตำราเรียนเล่มใหญ่ที่เพิ่งเปิดอ่านไปเมื่อไม่นาน
นอกจากนี้ใช่ว่า “ผล”ที่ได้จะเกิดเฉพาะกับตัวเยาวชนผู้ร่วมทำกิจกรรมค่ายเท่านั้น เพราะ “แม่ทม”นางทม สุพาทอง วัย 66ปี หัวหน้ากลุ่มทอผ้าบ้านดอนมะจ่าง ซึ่งคลุกคลีกับเยาวชนตลอดช่วง
กิจกรรม ได้มองว่า หากกระบวนการของกิจกรรมมุ่งไปที่การเรียนรู้ชุมชนในเชิงลึกจริงๆ ตัวชุมชนเองก็ได้ประโยชน์ อย่างน้อยๆในสายตาของเด็กๆก็ช่วยทำให้ผู้ใหญ่อย่างเธอมีห้วงเวลาของการมองโลกที่แจ่มใส และคิดอะไรในมุมใหม่ๆบ้าง
“อย่างเรื่องถุงนี่ แม่ก็ไม่เคยคิดมาก่อน พวกชาวบ้านผู้หญิงก็ทำผ้าไป ย้อมเอาจากสีธรรมชาติ จากต้นฝางบ้าง ต้นก่อบ้าง เป็นภูมิปัญญาที่สืบสานมานาน แต่เรื่องอื่นๆก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะเข้ากันหรือไม่ หรือจะทำให้ขายดีได้อย่างไร ดังนั้นนักเรียนที่มาก็ช่วยก็สามารถทำให้เรามองในจุดที่ไม่เคยนึกถึง”
เมื่อถามในฐานะชุมชนถึงมุมมองต่อเยาวชนที่พยายามเข้าไปหาประสบการณ์นอกตำรา แม่ทม บอกว่า จะคอยสังเกตพฤติกรรมตลอด ดูว่าเด็กมีความตั้งใจจริงหรือไม่ พยายามจะทำความเข้าใจจริงๆหรือเพียงหากิจกรรมทำฆ่าเวลา
“เมื่อเข้ามาเรียนรู้ แม่อยากให้มองมากกว่าแค่ว่าชุมชนนี้ทำอะไร ประกอบอาชีพอะไร เพราะเรื่องเหล่านี้คนทำสำมะโนครัวเขาถามไปหมดแล้ว แต่กับคนรุ่นใหม่ต้องคิดไปให้ลึกถึงว่าพวกชาวบ้านอยู่กันอย่างไรถึงอยู่มากันจนถึงขนาดนี้ วิถีชีวิตอย่างไรที่ทำให้มีความสุขกันได้โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีมากมาย และพวกตัวเยาวชนเองจะเอาความรู้ที่ได้จากโรงเรียนมาช่วยชุมชนให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง”แม่ทมสะท้อนประสบการณ์พร้อมตั้งโจทย์ข้อใหญ่ท้าทายเยาวชนทำค่ายที่จำต้องร่วมกันแสวงหาคำตอบ
หากไม่อยากให้วันเวลาต้องผ่านไปแบบไร้ประโยชน์