แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
"ไล่รื้อที่"ชุมชน ตีแผ่ความเจ็บช้ำรัฐรังแกประชาชนด้วยคำว่า"พัฒนา"
ทุกวันนี้เราอาจจะไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไรนักกับปัญหาการไล่รื้อที่ดิน เพราะเราอาจจะเห็นประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยในรูปแบบของ “ม็อบ” เสียจนชินตา วัตถุประสงค์ของการไล่รื้อนั้นมีหลากหลายบนความแตกต่างของแต่ละที่พื้นที่ ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมามีทั้งชุมชนที่ลุกขึ้นต่อสู้ต่อกับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมของภาครัฐ บ้างก็ก้มลงยอมแพ้แต่โดยดี เพราะไร้ซึ่งทางออก และขาดพลังมวลชนในการต่อสู้
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ชุมชนบนผืนแผ่นดินไทยกว่า 6,000 ชุมชนนั้น ใช่ว่าจะมีปัญหาไล่รื้อที่ดินเฉพาะเพียงภาคส่วนของเขตชานเมืองหรือต่างจังหวัดเท่านั้น แต่กลับพบว่า 2,000 กว่าชุมชนในเขตเมืองหลวง อย่าง “กรุงเทพมหานคร” ก็พบประสบปัญหาประเภทนี้เช่นเดียวกัน
ซ้ำร้ายกว่านั้นยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐแต่อย่างใด
ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการด้านที่ดิน ทรัพยากรและน้ำ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) นำโดยม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์, รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม, ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ และนายบัณฑร อ่อนดำ ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาและข้อเสนอต่อการจัดการที่ดิน และการไล่รื้อที่อยู่อาศัยในเขตชุมชนเมืองกรุงเทพฯ ใน 5 พื้นที่
เริ่มต้นที่ ชุมชนย่านกุฎีจีน วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เขตธนบุรี ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานถึง 185 ปี ชาวบ้านอาศัยผืนดินแห่งนี้สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ครั้นเมื่อสร้างวัดกัลยาณมิตรฯ ชุมชนแห่งนี้ก็ก่อตั้งขึ้นมาไล่เลี่ย
ปัจจุบันชาวบ้านกว่า 54 หลังคาเรือน กำลังประสบปัญหาที่ไม่นึกไม่ฝันมาก่อนในชีวิต เมื่อ “วัด” อันเป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน ประกาศยกเลิกสัญญาเช่า และไล่รื้อที่ดิน ตั้งแต่ปี 2550 ด้วยคำสั่งไล่รื้อที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม เหตุการณ์นี้เริ่มต้นเมื่อปี 2546 เมื่อวัดกัลยาณมิตรฯ มีเจ้าอาวาสคนใหม่ ครั้นมาถึงก็เริ่มทุบทำลายวัตถุโบราณอันล้ำค่าหลายชิ้น จนชาวบ้านทนไม่ได้ที่ของคู่บ้านคู่เมืองถูกทำลายไปทีละชิ้นสองชิ้น จึงส่งจดหมายร้องเรียนไปยังกรมศิลปากร ผู้ซึ่งมีหน้าที่ดูแลประวัติศาสตร์ชาติไทยทั่วประเทศ
การที่ชาวบ้านรุกคืบหนักเช่นนี้ เจ้าอาวาสคนใหม่ซึ่งมีอำนาจยืนอยู่ในนาม “เจ้าของพื้นที่” จึงเริ่มมาตรการไล่ผู้อยู่อาศัยอย่างชาวบ้านออกเสีย ด้วยอ้างว่าจะบริหารจัดการพื้นที่เสียใหม่ (ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านและบริเวณที่ทุบทำลายโบราณวัตถุ) เพื่อเปลี่ยนให้เป็น “อุทยานการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงการแผนพัฒนาปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์
นายชัยสิทธิ์ กิตติวณิชพันธ์ แกนนำองค์กรชุมชนรักษ์กัลยา ในฐานะประธานชุมชนอันเป็นศูนย์รวมในการขับเคลื่อนของชาวบ้าน เล่าให้ฟังด้วยความขื่นขมว่า วัฒนธรรมไทยอันสืบทอดกันมาอย่างยาวนานข้อหนึ่งสอนให้เรารู้ว่า วัดวาอารามเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน หากชาวบ้านมีเรื่องทุกข์ร้อนข้องใจก็หันหน้าหาวัด ปรึกษาพระได้เสมอ เหตุการณ์นี้คงต้องกลับมานั่งคิดตรองดูว่า สุดท้ายวัดเป็นอย่างที่กล่าวไว้หรือไม่
"หากวัดต้องการที่จะสร้างอุทยานการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์จริง นั่นคือสถานที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต ชาวบ้านเห็นด้วยและพร้อมที่จะช่วยเหลือ แต่การที่ทางวัดทุบทำลายโบราณวัตถุอันเป็นเครื่องบอกเล่าเรื่องราวในอดีตทิ้งเสีย แล้วจะนำประวัติศาสตร์ที่ไหนมาเล่าสืบต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานฟัง” แกนนำองค์กรชุมชนรักษ์กัลยา ผู้ซึ่งยังมีคำถามค้างคาใจต่อการกระทำของวัด
ถัดมาเป็นคิวของชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน เขตพระนคร ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งอยู่บนเขตตัวเมืองชั้นใน สมัยก่อนชาวบ้านที่นี่ถูกกวาดต้อนขึ้นมาจากเมืองปัตตานี เพื่อมาสร้างเมือง ณ บริเวณนี้
เมื่อหลายสิบปีก่อน ชุมชนแห่งนี้แทบจะสูญสลายไปกับเหตุการณ์ไฟไหม้ แม้จะเสียบ้านไม้ทรงโบราณไปมากมาย แต่คนในชุมชนก็ผนึกหัวใจเป็นหนึ่งเดียว พลิกฟื้นพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กลับมาสวยงามดังเดิมอีกครั้ง แต่เหมือนมรสุมร้ายจะยังไม่พัดผ่านไป ล่าสุดชุมชนมุสลิมที่อยู่อาศัยกันราว 60 หลังเรือน กำลังถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัยไปกว่าครึ่ง เหตุการณ์คล้ายๆ กัน คือ มีโครงการพัฒนาพื้นที่รอบวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
วัดต้องการจะพัฒนาพื้นที่รอบๆ และโรงเรียนเสียใหม่ เพื่อให้ภูมิทัศน์น่าอยู่และงามตา ขีดเส้นตายให้ย้ายออกภายในสิ้นปีนี้ !!
ขณะที่ ชุมชนแพร่งภูธร ถ.บำรุงเมือง ชุมชนเก่าแก่ที่ได้รับมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้แบ่งพื้นที่ส่วนพระองค์ทำเป็นตึกแถว โดยพระราชทานชื่อ “แพร่งภูธร” ตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 24 ของพระองค์
ปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 125 ห้อง ทำมาค้าขายกันในถิ่นฐานย่านนั้นเป็นหลัก ก็กำลังพบกับปัญหาการเวนคืนที่ดิน โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งสืบเนื่องมาจากโครงการแผนพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์และอาคารที่อยู่อาศัยของกทม. แม้ว่ารัฐจะมีนโยบายให้สำรวจพื้นที่ซ่อมบำรุงก่อนเป็นเวลา 5 ปี ยืดเวลาให้อยู่ต่อในถิ่นฐานบ้านเกิดได้อีกเพียงระยะสั้นๆ และโปรยยาหอมยินดีจ่ายค่าซ่อมแซมให้ในอัตราที่สูงถึง 70% แต่กระนั้นก็มีข้อแม้ว่า ชาวบ้านต้องย้ายออกจากชุมชนไปอยู่ที่อื่นนานถึง 8 เดือน
คำถามจึงตามมาว่า แล้วจะทำมาหากินอะไร ?
หันมาที่ชุมชนแม้นศรี นาคบำรุง บริเวณหลังศูนย์การค้าวรจักร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ชุมชนไทย - จีน ไม่ต่างกันเกิดข้อพิพาทระหว่างกรุงเทพมหานครกับชุมชน โดยรัฐอ้างว่าต้องการเวนคืนที่ดินเพื่อขยายถนนรองรับย่านการค้า ตามประกาศพระราชกฤษฏีกาเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่าง ถนนดำรงค์รักษ์กับถนนบำรุงเมือง ซึ่งจะทำให้ถนนดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อกับถนนจักพรรดิ์พงษ์และตรอกโรงเลี้ยงเด็ก
แต่กลับปรากฏว่าข้อมูลครัวเรือนในการโดนเวนคืน ไม่ตรงกับแบบแปลนที่สำรวจไว้ก่อนหน้า จึงสร้างความสับสน และความไม่แน่นอนให้กับชาวบ้านผู้อยู่อาศัย
นายเอกชัย ลำเหลือ ชาวบ้านในชุมชน ตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการขยายถนนเพิ่มขึ้นนั้นจำเป็นหรือไม่ และเห็นว่า การขยายถนนไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับชุมชนเลยแม้แต่น้อย เพราะที่ผ่านมาถนนที่ใช้เข้า – ออกชุมชนนั้นก็สะดวกสบายดี
“แม้ขณะเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้น รถดับเพลิงก็สามารถเดินทางเข้ามาในชุมชนได้ถึง 15 คัน คุ้มค่าหรือไม่กับการขยายถนนเพื่อการท่องเที่ยว แต่แลกกับการเวนคืนที่ดินจากชาวบ้านกว่า 30 หลังคาเรือน” ตัวแทนชาวชุมชนแม้นศรี ชี้ให้เห็นว่า โครงการขยายถนนใน 10 จุดบนพื้นที่ชุมชน ที่ต้องการขยายความกว้างถนนสายหลักในชุมชนจากเดิม 12 เมตรเป็น 30 เมตร สภาพ “ถนน” ไม่ได้มีความแออัดแต่อย่างใด
ส่วนชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ที่มีอายุเก่าแก่นับร้อยปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีบทเรียนและประสบการณ์การต่อสู้ กรณีข้อพิพาทที่ดินและที่อยู่อาศัยจากความสำเร็จของการต่อสู้ของชาวชุมชน
เริ่มเมื่อปี 2535 กรุงเทพมหานครได้ออกพระราชกฤษฏีกาเวนคืนที่ดิน ส่งผลให้ชุมชนต้องถูกไล่รื้อที่ดินเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็น "สวนสาธารณะ" ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาผ่านไปในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แค่เพียง 1 ปี กรุงเทพมหานครเปิดนโยบายดึงดูดความสนใจอีกครั้ง ด้วยการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมกับงัดไม้แข็งมาวางกองตรงหน้า ด้วยประกาศที่ว่า หากใครไม่ทำการรื้อถอนก็จะทุบทำลายทิ้งทันทีในปี 2538
จนชาวบ้านจำยอม ตกลงยอมรับค่าสินไหมทดแทน แล้วนำเงินส่วนนี้ไปซื้อที่ดินในโครงการเคหะฯ ฉลองกรุง ย่านมีนบุรี ของกรุงเทพมหานคร โดยที่ชาวบ้านไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้มาก่อน ปรากฏว่า เวลาผ่านไป 2 ปี โครงการดังกล่าวไม่มีแม้แต่ระบบสาธารณูปโภคดังที่จดแจ้งไว้ก่อนหน้า อีกทั้งการสัญจรไปมาก็ลำบาก ไม่มีรถเข้าออก ไม่มีสถานพยาบาล ที่สำคัญ ไม่มีแหล่งอาชีพรองรับชาวบ้าน
เหตุการณ์บานปลาย ปี 2545 กรุงเทพมหานครประกาศทำการรื้อย้าย ในขณะที่ชุมชนป้อมมหากาฬก็ปิดป้อม ปิดชุมชน ต่อสู้กับการไล่รื้อที่ไม่ชอบธรรม ชาวชุมชนหลายคนต้องออกจากงานมาเฝ้าระวังดูแลบ้านเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน
กรณีพิพาทนี้เกือบได้ยุติเมื่อมีการยื่นข้อเสนอพร้อมทั้งแบบตัวอย่างการจัดผังชุมชนแก่กรุงเทพมหานคร จากเนื้อที่ทั้งหมด 4 ไร่เศษ ชาวบ้านขอแบ่งปันพื้นที่เช่าในการปลูกสร้างบ้านเพียง 1 ไร่ ส่วนที่เหลือยินยอมที่จะสร้างสวนสาธารณะ พร้อมแสดงความพร้อมทางการเงิน ด้วยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยและเริ่มทำกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่า ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้เป็นอย่างดี
ปัญหาข้อพิพาทการจัดการที่ดินที่อยู่อาศัยระหว่างโครงการพัฒนาของรัฐกับสิทธิชุมชนในพื้นที่ ที่คิดว่าจะลงเลยด้วยดี กลับปะทุขึ้นอีก เมื่อปี 2551 มหาวิทยาลัยศิลปากรบันทึกความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อวิจัยศึกษาการจัดการเรื่องชุมชนบ้านไม้โบราณ แต่หลังจากโครงการเสร็จสิ้น ท่าทีความชัดเจนของกรุงเทพมหานครก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างเหตุผลร้องเรียนจากประชาชนทั่วไปที่ร้องเรียนการทำงานที่เพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฏหมายในกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ ทำให้สถานการณ์ชุมชนกลับเข้าสู่ช่วงวิกฤติอีกครั้ง ครั้งนี้กรุงเทพมหานครกำหนดเส้นตายให้ชุมชนป้อมมหากาฬ จะต้องรื้อถอนภายในเดือนมกราคม 2554
นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ยืนยันหนักแน่น แม้จะเกิดการไล่รื้อที่อีกกี่ครั้ง ก็พร้อมที่จะผนึกหัวใจของชาวบ้านในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อไป เพราะเป็นที่ดินที่อยู่กินกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด หากคนในชุมชนไม่เข้มแข็ง ไร้ซึ่งความสามัคคี แนวทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมก็จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
ตัวอย่าง 5 ชุมชนเมืองข้างต้น ที่คณะอนุกรรมการด้านที่ดิน ฯ เลือกชิมลางไปรับฟังปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ดินของรัฐนั้น ล้วนเป็นปัญหาที่รัฐ "รังแก" ประชาชนด้วยการพัฒนาต่างๆ โดยไม่ได้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์เดิมของพื้นที่ มองข้ามวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และสิทธิชุมชนทั้งนั้น...
ข้อเสนอต่อการจัดการที่ดิน-การไล่รื้อที่อยู่อาศัยในเขตชุมชนเมือง
ตั้งสภาชุมชนเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อน
ชุมชนย่านกุฎีจีน วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารนำเสนอถึงการจัดตั้งสภาชุมชน เพื่อสร้างพลังเครือข่ายในการต่อสู้ เพราะเชื่อว่าเมื่อเกิดการรวมตัวกันของสภาชุมชนที่มากขึ้น แม้ว่าทุกชุมชนจะมีความแตกต่างกันในส่วนของปัญหาก็ตาม แต่ถ้าทุกคนช่วยกันไข ช่วยกันคิดหาทางออก ก็จะส่งผลให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนเป้าหมายต่อไป
ประชาชนต้องมาก่อนเศรษฐกิจ
ชุมชนมัสยิดบ้านตึกดินชี้ถึงประเด็นที่น่าสนใจว่า อำนาจรัฐเป็นสิ่งที่ประชาชนตัวคนเดียวสู้ไม่ได้ ซึ่งต้องมีแนวทางในการจัดการร่วมกัน หากทุกคนสนใจเพียงแต่ปัญหาของตัวเองประชาชนธรรมดาก็คงไม่สามารถต่อสู้กับภาครัฐได้ ที่สำคัญในการนำเสนอนโยบายของภาครัฐแต่ละครั้ง ควรปรึกษาหารือกับภาคประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาและเหตุผลของผู้อยู่อาศัย แทนที่จะคำนึงถึงแต่ภาคเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว การดำเนินนโยบายใดก็ตามควรให้ประชาชนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
พิจารณากฏหมายเวนคืนที่ดินใหม่
ชุมชนแม้นศรี นาคบำรุง บริเวณหลังศูนย์การค้าวรจักรเสนอว่าต้องมีการพิจารณากฏหมายเวนคืนที่ดินเสียใหม่ อยากให้ประชาชนทุกคนมองดูชุมชนของตนเป็นตัวอย่างว่า แม้จะมีที่ดิน มีอาคารบ้านเรือนเป็นของตนเอง วันหนึ่งกฏหมายเวนคืนก็มีโอกาสทำร้ายประชาชนได้อยู่ดี เพราะทุกวันนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ปัญหาบุกรุกพื้นที่เพียงอย่างเดียว ที่สำคัญชุมชนต้องรวมตัวกันเพื่อลดอำนาจของรัฐลง เพราะรัฐใช้กฎหมายในเอารัดเอาเปรียบประชาชนมากเกินไป