แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
“แกะรอย”บทบัญญัติท้องถิ่นฉบับแรก ผลงานชุมชน “ท่าศาลา”
วันนี้ “บังโฉด” หรือ สุพร โต๊ะเส็น ยืนมองแสงไฟวิบวับ ของเรือประมงชาวบ้าน ที่เคลื่อนไหวอยู่กลางทะเล อ่าวท่าศาลาอย่างสบายใจกว่าทุกวัน
“กว่าบ้านเราจะมีวันนี้ได้ เราต้องสู้กันเยอะ ลองผิด ลองถูกกันมาก็มาก ถึงมีแล้ว เราก็ยังต้องช่วยประคับประคองรักษามันเอาไว้ ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้”
บังโฉด กำลังจะพูดถึงข้อตกลงว่าด้วยการใช้ทรัพยากรในท้องทะเล ที่แกและชาวบ้าน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ช่วยกันกำหนดขึ้นมา และต่อมาได้มีการดำเนินการ จนสามารถออกมาเป็น บทบัญญัติท้องถิ่นที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาเอาไว้ซึ่งทรัพยากรทางทะเล ถือเป็นบทบัญญัติท้องถิ่นฉบับแรกของประเทศไทยเลยก็ว่าได้
บังโฉด เท้าความการเกิดเรื่องนี้ให้ฟังว่า ชายฝั่งทะเล อ.ท่าศาลานั้น เดิมที่เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรนานาชนิด ทั้งกุ้ง กั้ง หอยปู และปลา ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นชาวประมง มีหมู่บ้านที่อยู่ติดชายทะเลถึง 8 หมู่บ้านด้วยกัน ต่อมา เริ่มมีเรือประมงต่างถิ่น จาก จ.เพชรบุรี สมุทรสาคร ตราด ซึ่งเป็นเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้ลักลอบเข้ามาจับปลา ครูดหอยลายในพื้นที่อนุรักษ์ที่กฏหมายกำหนดเอาไว้ คือเข้ามาในพื้นที่ 3,000 เมตร จากชายฝั่ง ทรัพยากรเสียหายเกือบหมดทะเลแถบนี้
“พวกนี้ร้ายมาก จะใช้ตะแกรงขนาดใหญ่ไถคราดลงไปในท้องทรายใต้ทะเล กินเนื้อทรายลงไปเกือบ 1 ฟุต เพื่อตักเอาหอยลาย ยิ่งคราดได้ลึกเท่าไหร่ จะยิ่งได้หอยลายตัวโตขึ้น แต่นอกจากได้หอยลายแล้วแนวปะการังจะเสียหายไปด้วย น้ำขุ่น น้ำเน่า สัตว์เล็กสัตว์น้อย ที่ชาวประมงพื้นบ้านเคยหาได้หายไปหมด นอกจากนี้ยังมีเรืออวนลากคู่ ที่จะกวาดเอาปลาเล็กปลาน้อยที่ยังโตไม่เต็มที่ขึ้นไปด้วย คนพวกนี้เห็นแก่ตัวมาก ทำให้ทะเลที่เป็นแหล่งทำมาหากินมาแต่บรรพบุรุษของเราเสียหายหมด”
ช่วงที่เกิดเรื่องนี้ ชาวบ้านแก้ปัญหาโดยการแจ้งความที่สถานีตำรวจ แต่ก็จับผู้ร้ายไม่ค่อยจะได้ กว่าเรือตำรวจจะไปถึงเรือประมงเหล่านั้นก็หนีออกไปนอกฝั่งได้ก่อนทุกครั้งไป
พอทรัพยากรร่อยหรอ ชาวบ้านก็หากินฝืดเคือง หลายคนมีอันต้องเปลี่ยนอาชีพ ไปทำงานที่ จ.ภูเก็ต เป็นลูกจ้างตามร้านอาหารบ้าง หรือไม่ก็เข้ากรุงเทพไปทำงานโรงงาน
“พวกเราคนที่ยังอยู่เห็นว่าปล่อยเอาไว้อย่างนี้คงไม่ดีแน่ ก็เริ่มจับกลุ่มคุยกัน เราชวนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ที่เป็นคนในพื้นที่และรับรู้เรื่องนี้มาตลอด มาฟัง และเป็นที่ปรึกษา มีนักวิชาการ นักกฏหมาย ซึ่งเป็นลูกหลานในท้องถิ่นเรานั่นแหละ มาร่วมคุย แนะนำหาทางออกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเราจะทำอย่างไรกันดี เรานั่งคุยกันทุกอาทิตย์
เริ่มจากไปคุยกันที่บ้านนายกอบต.ที่หมู่บ้านที่มีปัญหา เมื่อรู้ปัญหามากขึ้น ก็ช่วยกันหาทางออก เริ่มจากการเฝ้าระวังกันเองจากชาวประมงที่ออกหากิน ใครพบเรือใหญ่ที่มีท่าทีไม่ชอบมาพากลก็ให้รีบแจ้ง นอกจากนี้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาช่วยเฝ้าระวังด้วย”
จนในที่สุดชาวบ้านสามารถตั้งเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ขึ้นมาได้ กระบวนการเฝ้าระวังที่ชาวบ้านช่วยกันดำเนินการอย่างจริงจัง สร้างความหวาดหวั่นให้เรือประมงพาณิชย์ที่เคยรุกรานพื้นที่อนุรักษ์ชายฝั่งไม่น้อย
นายอภินันท์ ชวลิต นายกอบต.ท่าศาลา บอกว่า สำคัญมากเรื่องการแก้ปัญหาระดับชุมชนในเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนประสบร่วมกันคือ ความสามัคคี และการพูดคุยร่วมกัน
“การได้ชื่อว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งนั้นจะทำไม่ได้เลยถ้าคนในชุมชนไม่คุยกันเองก่อน สำหรับที่ชุมชนท่าศาลานั้น ความสาสมัคคีของเราเกิดจากทุกคนมีปัญหาเหมือนกัน และคิดตรงกันว่า ถ้าไม่ช่วยกันแก้ปัญหาแล้วในอนาคตเราก็จะถูกรังแกแบบนี้เรื่อยไปจนในที่สุดชุมชนก็จะล่มสลายไปเอง และจากประสบการณ์ที่ทุกคนมีร่วมกันอีกเช่นกันคือ เรื่องการช่วยตัวเองก่อนที่จะไปเรียกร้องให้คนอื่นช่วย เราเลยมีแนวคิดการตั้งชาวบ้านเป็นยามฝั่ง คือ เอาพวกเราที่เป็นชาวบ้านที่ออกหาปลานั่นแหละ ช่วยกันสอดส่องว่ามีเรือลำใหญ่ลำไหนบ้างที่มันรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ ที่กฏหมายห้าม คือ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง เจอแล้วเราก็แจ้งพรรคพวกเราก่อน แล้วก็แจ้งราชการที่รับผิดชอบ วิธีการนี้ใช้ได้ผลดีในระดับหนึ่งครับ”นายก อบต.หนุ่ม อธิบาย
จากจุดเล็กๆจุดนี้ ชาวบ้านร่วมกับหน่วยงานราชการ นักการเมือง และนักวิชาการท้องถิ่นได้ช่วยกันผลักดันจนในที่สุดสามารถออกกติกาการใช้ทรัพยากรทางทะเลในรูปแบบ บทบัญญัติท้องถิ่นขึ้นมาได้
“จุดประสงค์หลักของบทบัญญัตินี้คือ เราจะช่วยกันรักษาทรัพยากรไว้ให้อยู่กับท้องถิ่นและลูกหลานของเรานานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถือเป็นบทบัญญัติท้องถิ่นฉบับแรกของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ บทบัญญัตินี้เราประชุมรับฟังความคิดเห็น หรือทำประชาคมกันหลายครั้งมาก แต่ละครั้งก็จะมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก หลักการของบทบัญญัติท้องถิ่นของเราก็คือ จะต้องไม่ขัดกับกฏหมายแม่ หรือกฏหมายหลักที่เราใช้กันอยู่ และเป็นกฏที่เราทุกคนยอมรับร่วมกันได้”อภินันท์ กล่าว
แล้วบทบัญญัติท้องถิ่นที่ว่า มีอะไรบ้าง ผู้ไปเยือนถาม
อภินันท์ บอกว่า เรือประมงพาณิชน์ที่เข้ามาหากินในพื้นที่ 1,500 เมตรจากชายฝั่งต้องถูกปรับ 1,000 บาท สำหรับบทบัญญัติท้องถิ่น และถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประมง พ.ศ.2490 อีกด้วย นอกจากนี้ จ.นครศรีธรรมราชยังมีประกาศจังหวัดที่ว่า เรือประมงพาณิชน์ที่เข้ามาหากินในพื้นที่ 4,500 เมตรจากชายฝั่งทะเลก็มีความผิดตามพ.ร.บ.ประมงด้วย และในบทบัญญัติท้องถิ่นก็จะต้องถูกโทษปรับอีก 1,000 บาทด้วย
ปัจจุบันนี้ชาวบ้านแทบจะไม่เห็นเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่อนุรักษ์อีกเลย
“บังโฉด” อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเข้มแข็งของชาวบ้านในพื้นที่ อ.ท่าศาลาว่า ลำพังเพียงแค่การปราบปราม อย่างเดียวคงเข้มแข็งไม่ได้แน่ แต่จะต้องมุ่งพัฒนาพื้นที่ไปด้วย
“เราได้ตั้งเป็นเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ.ท่าศาลาขึ้นมา มีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทะเล ตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ กิจกรรมแต่ละอย่างล้วนทำให้สมาชิกเกิดความคิด ความผูกพันกับท้องถิ่นที่อยู่ ขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาสร้างสรรค์งานในตัวเองด้วย เช่นกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เราจะมีกองทุนให้ชาวบ้านกู้ไปทำอาชีพเสริม หรือซ่อมเครื่องมือประมงที่เสียหาย โดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่จะเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการกู้แต่ละครั้ง ซึ่งไม่มากนัก ชาวบ้านที่นี่จึงไม่มีใครเป็นหนี้นอกระบบ หรือถ้าใครมีและมาปรึกษากับทางเครือข่ายเราก็จะช่วยกันหาทางออกร่วมกัน”
บังโฉดบอกอย่างภูมิใจเรื่องราวในท้องถิ่นของตนเอง