แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
สวัสดิการชุมชน- เศรษฐศาสตร์ฐานรากของชาวบ้าน
ในอดีตระบบสวัสดิการของสังคมไทยมีลักษณะเป็นชุมชนสวัสดิการ บ้านและวัดมีบทบาทสำคัญในการดูแลเรื่องจัดสวัสดิการครอบคลุมปัจจัยสี่ของชุมชน ต่อมารัฐบาลกลางมีบทบาทในการจัดสวัสดิการ ช่วงแรกให้เฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์ ผู้ที่สามารถเข้าถึงเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง – รายได้สูง ส่วนคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ เกษตรกร คนยากจน หมดสิทธิเข้าสู่ระบบนี้
กระทั่งปี 2540 ไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ กระทบเป็นลูกโซ่ต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ปราชญ์ชาวบ้าน แกนนำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสรุปบทเรียนเกี่ยวกับระบบการคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ที่มีอยู่ก็พบว่าความเป็นเครือญาติ ทุนทางสังคมในชุมชน สามารถช่วยรองรับปัญหาจากภายนอกได้เป็นอย่างดี จนมีการรวมตัวจัดสวัสดิการชุมชนจากฐานทุนด้านต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น การจัดสวัสดิการจากฐานกลุ่มออมทรัพย์ องค์กรการเงิน วิสาหกิจชุมชน กิจกรรมทางศาสนา การจัดการทรัพยากร ฯลฯ
ต่อมาปี 2547 มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบลที่เน้นให้มีการสมทบงบประมาณจาก 3 ฝ่าย คือ ทุนที่มาจากการออมของสมาชิกในชุมชน ทั้งในรูปแบบออมทรัพย์เดิม หรือสัจจะลดรายจ่ายวันละบาท การสมทบจากรัฐโดยผ่านช่องทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และการสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นอย่างกว้างขวาง
ล่าสุดรัฐบาลสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน บนหลักการสมทบ 1:1:1 (ชุมชน : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : รัฐบาล) และมอบเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนก้อนแรกแล้ววงเงิน 112.48 ล้านบาท 375 กองทุน 66 จังหวัด
กลุ่มออมทรัพย์คลองเปียะเริ่มต้นด้วยทุนแค่ 2 พัน
หนึ่งในความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนของการจัดสวัสดิการชุมชนโดยชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ชุมชน ต.คลองเปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา มี “ลุงอัมพร ด้วงปาน” ทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษา ย้อนความหลังให้ฟังว่า กลุ่มออมทรัพย์คลองเปียะ ก่อตั้งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นมีสมาชิกแค่ 51 คน มีทุนเริ่มแรกเพียง 2,850 บาท
“จากความคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านสามารถมีเงินทุนทำกินได้ เห็นชาวบ้านไปกู้ธนาคารและไม่สามารถส่งเงินตามเงื่อนไขได้ จึงเป็นที่มาการรวมกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านกู้เงิน กำหนดให้ทุกวันที่ 1 ของเดือนเป็นวันส่งเงินออมของกลุ่ม และปล่อยกู้ตามความจำเป็นแล้วแต่กรณีให้ชาวบ้านนำเงินไปลงทุนทำกิน คิดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 1.20 บาทต่อเดือน เงื่อนไขชาวบ้านสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ได้โดยเสียค่าธรรมเนียม 15บาทต่อคน จะออมเดือนละเท่าไรก็ได้ แต่ต้องออมจำนวนเท่าๆ กันทุกเดือนในหนึ่งปี ระยะแรกจะได้ดอกเบี้ยเงินออม 11% ต่อปี”
อุปสรรรคช่วงปีแรกๆ ลุงอัมพร บอกว่า ชาวบ้านยังเกิดความไม่มั่นใจ และสงสัยกลุ่มออมทรัพย์จะเอาเงินไปทำอะไร จะกู้เงินได้จริงหรือ ไม่ รวมทั้งชาวบ้านไม่เชื่อวิธีนี้จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งข้อสงสัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ปลายปีแรกของการก่อตั้ง เหลือสมาชิกไม่ถึง 30 คน จนมาปีที่ 2 ได้มีการปรับรูปแบบให้สมาชิกสามารถกู้กลุ่มออมทรัพย์ได้โดยตรง ลดขั้นตอนต่างๆ ให้สะดวกขึ้น และเพิ่มการจัดสวัสดิการช่วยเหลือชาวบ้านนอกจากให้กู้และออมทรัพย์ เริ่มตั้งกองทุนฌาปนกิจ นำผลกำไรจากกลุ่มออมทรัพย์มาทำกองทุนสวัสดิการชุมชน ทำให้ชาวบ้านสนใจและเข้าร่วมกันมากขึ้น
“เมื่อชาวบ้านเห็นเจตนาชัดเจนว่าช่วยเหลือกันจริงๆ จึงเกิดเป็นพลังชุมชนขึ้นจนถึงทุกวันนี้ ทั้งจากแรงชาวบ้าน อบต.และ พอช.ร่วมกัน ยึดหลักการของกองทุนสวัสดิการชุมชน คือ เป็นรูปแบบกลุ่มออมทรัพย์ ออมเงินสะสมเพื่อให้ชาวบ้านมีกำไรและให้ชาวบ้านกู้เงินทำกิน จากนั้นนำผลกำไรกลุ่มออมทรัพย์ไปจัดสรรสวัสดิการชุมชนและสาธารณะประโยชน์ดูแลชาวบ้านตั้งแต่เกิดจนตาย”
ปล่อยเงินกู้หลักพันถึงหลักล้าน
ปัจจุบัน กลุ่มออมทรัพย์ชุมชน ต.คลองเปียะ มีสมาชิกร่วม 7,200 คน มีทุนสะสมกว่า 252 ล้านบาท 11 หมู่บ้านที่เข้าร่วม เป็นหมู่บ้านคลองเปียะ 9 หมู่บ้านและอีก 2 หมู่บ้านใกล้เคียง นับเป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ด้านองค์กรออมทรัพย์และสวัสดิการชุมชนระดับประเทศที่หลายฝ่ายยอมรับในความสำเร็จนี้
ลุงอัมพร บอกอย่างภาคภูมิใจว่า วันนี้สามารถปล่อยเงินกู้ให้ชาวบ้านได้วงเงินตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักล้าน มีการนำผลกำไรตลอด 30ปีไปพัฒนาส่วนต่างๆ ของชุมชน ต่อยอดเกิด 19 กองทุนสวัสดิการ ตั้งแต่กองทุนฌาปนกิจโดยจ่ายให้สมาชิกที่เสียชีวิตรายละ 9,500 บาท กองทุนค่ารักษาพยาบาลที่สมาชิกเบิกได้ 100% กรณีเข้าร.พ.รัฐ กองทุนสาธารณะภัย เด็กกำพร้า และผู้สูงอายุ กองทุนสุขภาพ กองทุนการศึกษา กองทุนเรียนรู้ชุมชนอบรมอาชีพ พัฒนากิจการสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน ดูแลศาลากลางหมู่บ้าน สะพานของหมู่บ้าน กองทุนบริหารธุรกิจชุมชนที่ทดลองทำแล้ว เช่น โรงน้ำปลาชุมชน โรงสีข้าวชุมชน กองทุนงานประเพณี กองทุนค่าน้ำ กองทุนครุภูมิปัญญาสำหรับครูในต.คลองเปียะ กองทุนปลูกต้นไม้หนึ่งหมื่นต้นในเวลา 10ปี ที่ปลูกครบแล้ว กองทุนกีฬาสำหรับเยาวชน และกองทุนต้อนรับผู้มาศึกษาดูงานต.คลองเปียะ
และตั้งแต่ปี 2552 ได้มีการปรับดอกเบี้ยเงินออมเหลือ 5% ต่อปี มีเงื่อนไขให้ออมได้ไม่เกิน 1,000 ต่อคนต่อเดือนเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนที่มีเงินแล้วนำเงินมาฝากกินกำไรกับคนไม่มีเงิน ให้มีความเสมอภาคกัน
“เดิมเป้าหมายหลักคือจะทำอย่างไรที่จะลดช่องว่างระหว่างข้าราชการที่มีสวัสดิการพร้อม กับเกษตรกรคนจนที่ไม่มีสวัสดิการ วันนี้เราทำได้แล้วและจะต้องทำต่อไป ส่วนปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านกำลังเกิดแนวคิดตั้งกองทุนที่ดินเพื่อรับซื้อที่ดินจากชาวไร่ชาวนาที่ต้องการจะขายให้นายทุน โดยกองทุนจะซื้อไว้ในราคาที่เป็นธรรมเอาไว้เป็นที่ดินสาธารณะให้ชาวบ้านปลูกป่าชุมชน หรือไว้ทำกินร่วมกันในคลองเปียะ ซึ่งดีกว่าการขายให้นายทุน เชื่อว่า วิธีนี้จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง”
นอกจากความมุ่งมั่นพยายามพัฒนาการพึ่งตนเองให้มากที่สุดแล้ว วันนี้ ลุงอัมพร เห็นว่า รัฐสวัสดิการทำให้ชุมชนอ่อนแอ เพราะต้องคอยยื่นมือขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียว ต่างจาก สวัสดิการโดยชุมชนโดยสังคมร่วมกันสร้างขึ้น ที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างแท้จริง พร้อมวางเป้าหมายกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน ต.คลองเปียะ ในอนาคต จะเป็นกลุ่มออมทรัพย์พันล้านให้ได้ “วันนี้มี 252 ล้านบาทคาดว่าไม่น่าจะเกิน 20 ปี จะได้เห็นกลุ่มออมทรัพย์พันล้านซึ่งเป็นของชาวบ้านจริงๆ”
แม่สลองนอก เน้นออมคน ออมความคิด
แนวคิดกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งให้ความสำคัญกับสวัสดิการชาวบ้าน ตั้งแต่เกิดจนถึงตายนั้นยังกระจายขึ้นเขาไปถึงคนบนดอย ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายอีกด้วย นายภูมิพัฒน์ คงวารินทร์ ประธานฝ่ายแผนนโยบาย และยุทธศาสตร์กลุ่มกองทุนสวัสดิการของชุมชนแม่สลองนอก เล่าที่ไปที่มาว่า เริ่มต้นเมื่อปี 2540 มาจากแนวคิดกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ออมวันละบาทของครูชบ ยอดแก้ว แกนนำสวัสดิการชุมชน จ.สงขลา และพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดไผ่ล้อม อ.เมือง จ.ตราด ผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ โดยให้สมาชิกออมเงินแบบรายเดือนเดือนละ 10 บาท หรือรายปี ปีละ 365 บาท เน้นไปที่พี่น้องชนเผ่า ที่ไม่มีบัตรประชาชน และที่เป็นคนไทย ร่วมกันออมเงินสะสมเพื่อช่วยสร้างสวัสดิการช่วยเหลือกันในชุมชน เป็นลักษณะการออมแบบผูกพัน ถ้าเป็นสมาชิกปีเดียวจะเลือกใช้สวัสดิการได้เรื่องเดียว แต่ถ้าครบ 5 ปี จะใช้สวัสดิการได้ทุกประเภท และหากลาออกก็จะได้รับเงินออมคืน
ประธานกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนแม่สลองนอก บอกว่า มาทำจริงจัง เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2543 หลักการ คือ กรณีสมาชิกเจ็บป่วยสามารถเบิกได้ไม่เกิน 5 เท่าของเงินออม สำหรับสมาชิกผู้สูงอายุครบ 60 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปีละ 1,000 บาท กรณีสมาชิกเสียชีวิตต้องเป็นสมาชิกครบ 5 ปี มีเงินออมอย่างต่ำปีละ 365 บาทรวม 1,825 บาท จึงจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5 เท่าของเงินออม คือ 9,125 บาท ซึ่งกองทุนจะจัดบริหารจัดการทุน คือ 1.สร้างสวัสดิการบำนาญเพื่อสร้างหลักความมั่นคงให้กับสมาชิกใช้งบ 30% จัดสวัสดิการรูปแบบต่างๆ ดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย 2.งบบริหารจัดการกองทุน 20% 3.งบฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น และดูแลส่งเสริมอาชีพให้สมาชิก 20% 4.รับงบช่วยเหลือพัฒนาจากภาครัฐและส่วนต่างๆ อีก 10% และ5.ใช้งบสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจขยายต้นแบบกองทุนนี้ออกไปทั่วพื้นที่จ.เชียงรายอีก 20%
“กองทุนสวัสดิการชุมชนแม่สลองนอก ไม่เน้นที่ตัวจำนวนเงินออม แต่เน้นการออมคน ออมความคิด ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้ชาวบ้านพี่น้องชนเผ่าได้มีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการด้วยกัน รู้จักช่วยเหลือกัน ร่วมกันสร้างแนวคิด เสนอความคิดไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอความสนับสนุนช่วยเหลือ จากทุกภาคส่วน” นายภูมิพัฒน์ บอกว่า ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือทั้งจากอปท.พอช.และอีกหลายๆ ส่วน ซึ่งถือว่าเป็นการจัดสวัสดิการให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน และในอนาคตกำลังขยายเป็นศูนย์การเรียนการจัดสวัสดิการชุมชนของจ.เชียงราย
อ.มุกดากับกองทุนสวัสดิการชุมชนดอกคำใต้
อีกชุมชนที่น่าสนใจด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวบ้านในพื้นที่ มีทั้งคนไทยพื้นราบ ชนเผ่า ม้ง เย้า มูเซอ กองทุนสวัสดิการชุมชน ต.หนองหล่ม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ริเริ่มจากธนาคารหมู่บ้าน รวมเครือข่ายศูนย์รวมน้ำใจธนาคารหมู่บ้านขึ้นใน 4 ตำบล ได้แก่ ต.เวียง ต.บ้านปิน ต.หนองหล่ม และต.บ้านถ้ำ ก่อตั้งธนาคารหมู่บ้านขึ้นเมื่อปี 2535 มีอาจารย์มุกกดา อินต๊ะสาร เป็นแกนนำขับเคลื่อน คอยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเครือข่ายศูนย์รวมน้ำใจของธนาคารหมู่บ้าน นำดอกเบี้ยของธนาคารหมู่บ้านมาจัดสรรสร้างสวัสดิการชุมชน
อาจารย์มุกดา พบว่า วิธีนี้ทำให้การจัดสวัสดิการชุมชนไม่ทั่วถึง จึงพัฒนาฐานคิดร่วมกับผู้นำชุมชนท้องถิ่นและชาวบ้านสร้างสวัสดิการของแต่ละหมู่บ้านขึ้น โดยดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2550 สมาชิกแรกตั้ง 965 คน ทุน 193,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิก 2,500 คน ทุน 1,200,000 บาท โดยมีแหล่งที่มาเงินทุนจากสมาชิกสมทบคนละ 200 บาท ค่าสมัครคนละ 20 บาท เปิดรับสมาชิกตั้งแต่แรกเกิด ใช้วิธีสมทบเงินกองทุนด้วยเงินสดหรืออาจจะหักจากบัญชีออมธนาคารหมู่บ้าน รวมทั้งได้รับเงินสมทบจากพอช. อบต. และจากเครือข่ายศูนย์รวมน้ำใจธนาคารหมู่บ้าน
การจัดสวัสดิการที่ผ่านมาของกองทุนฯ ต.หนองหล่มนั้นมีชาวบ้านได้รับประโยชน์แล้ว เช่น กรณีรับขวัญเด็กแรกเกิดคนละ 500 บาท กรณีเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล เมื่อเป็นสมาชิกครบ 90 วันชาวบ้านจะได้ค่าชดเชยวันละ 100 บาทเบิกได้ไม่เกิน 2,000 บาทต่อปี และกรณีเสียชีวิต เป็นสมาชิกครบ 180 วันได้รับ 3,000 บาท ครบ 1 ปีรับ 5,000 บาท ครบ 2 ปีรับ 10,000 บาท ครบ 3 ปีรับ 15,000 บาท และครบ 4 ปีรับ 20,000 บาท เป็นต้น
ก้าวต่อไปของกองทุนสวัสดิการชุมชนของดอกคำใต้อาจารย์มุกดา มุ่งมั่นสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ของการจัดสวัสดิการชุมชนจ.พะเยา และขยายสู่อีก 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยจะรวมกันขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการของผู้สูงอายุ ฟื้นฟูวัฒนธรรมให้ประชาชนได้พึ่งพากัน สร้างพื้นที่ที่มีคุณภาพ ร่วมดูแล สร้างโอกาสเชื่อมโยงให้ประชาชนได้ลุกขึ้นมาแนะนำคนอื่นร่วมกันสร้างสวัสดิการชุมชนขึ้นต่อๆกันไป
เมื่อถามถึงเงินสมทบที่ได้รับจากรัฐในส่วนของจ.พะเยาที่ได้รับกว่า 5 ล้านบาทนั้น อาจารย์มุกดา บอกว่า มีความสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือชุมชน ทำให้ความสัมพันธ์ของชุมชนคนในท้องถิ่นมีความร่วมมือเชื่อมโยงเกื้อกูลดูแลกันมากขึ้น โดยเงินสมทบส่วนนี้จะนำไปช่วยชาวบ้านคนยากจนที่ด้อยโอกาส ลดภาระในยามที่เจ็บป่วยได้ ซึ่งกำลังการออมของชาวบ้านเองอาจจะไม่เพียงพอ
“ในเมื่อข้าราชการมีสิทธิได้รับสวัสดิการ เพราะฉะนั้นชาวบ้านซึ่งเสียภาษีเป็นคนไทยด้วยกันก็ควรได้รับสิทธินี้เช่นกัน เงินสมทบส่วนนี้เปรียบเสมือนน้ำที่จะช่วยรดรากของต้นไม้ให้เจริญเติบโตต่อไปได้ ”
กองทุนสวัสดิการชุมชน มิติใหม่ทำงานพัฒนาชุมชน
หนึ่งในหัวเรือของการผลักดันจัดสวัสดิการชุมชน นายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย มองว่า เงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน ถือเป็นประวัติศาสตร์เป็นมิติใหม่ของการทำงานพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นการเอาฐานความคิด ความต้องการ และความร่วมมือของชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่ราชการคิด ไม่ใช่ราชการสั่งการลงไป
วันนี้รัฐเปิดโอกาสนำเรื่องสวัสดิการชุมชนเป็นโครงการนำร่องซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นอื่นได้อีก ไม่ว่าเรื่องของเกษตร สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน รองปลัดกระทรวงมหาดไทย บอกว่า รัฐบาลจะคอยช่วยสนับสนุนตรงนี้ประมาณ 3 ปีเพื่อให้สวัสดิการชุมชนขับเคลื่อนไปได้ จากนั้นท้องถิ่นก็ต้องดูแลรับผิดชอบต่อ เพราะหลักการคือภาคประชาชนไม่ใช่รัฐเป็นคนนำ มีภาคประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อนซึ่งท้องถิ่นต้องช่วยกันสองแรงใหญ่
“หลายคนมองว่าโครงการนี้ต้องล้มแน่ๆ เป็นไปไม่ได้ที่คนใส่มาบาทเดียวจะได้สวัสดิการกลับไปเป็นพันเป็นหมื่น แต่ครูชบ ยอดแก้ว และพวกเราก็ยืนยันว่า ไม่ล้ม เพราะเรามีประสบการณ์มากกว่านักเศรษฐศาสตร์ระดับบน นี่คือ เรื่องของเศรษฐศาสตร์ฐานรากของชาวบ้าน ชาวบ้านคิด ชาวบ้านก็ต้องมีวิธีแก้ไขปัญหา”
บทพิสูจน์ที่ถือเป็นความท้าทายของภาคประชาชนต่อไปนี้ ทำอย่างไรให้สวัสดิการชุมชนขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้สังคมเห็นว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี้เกิดผลเป็นไปได้จริงๆ นอกจากจะมีความยั่งยืนแล้วยังสามารถพัฒนาสังคมฐานรากให้มีความเข้มแข็งได้อีกด้วย