แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
'แผนชีวิตชุมชน' ลายแทงกำหนดอนาคตของชุมชน
"พวกเราจะมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง และร่วมกันทำงานชุมชนด้วยจิตสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยยึดหลักการพึ่งตนเอง บนพื้นฐานของความพอเพียงและดีงาม จะร่วมกับองค์กรภาคีในการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรท้องถิ่น สร้างพลังชุมชนให้เป็นแกนหลัก ในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมจากฐานราก เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของชุมชนท้องถิ่นและสังคม"
คำประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค กระหึ่มดังทั่วอาคารวิทยทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในงาน "มหกรรมแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง สู่ความอยู่เย็นเป็นสุข ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2" ที่ผ่านมา
ความเป็นมาของเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค เกิดขึ้นจากแกนนำท้องถิ่นที่มีจิตสำนึกสาธารณะ มารวมพลังสร้างการเรียนรู้ของภาคประชาชนฐานราก และกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชน โดยใช้แผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา
“แผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง” เปรียบเสมือนลายแทง คือ สิ่งที่คนในชุมชนกำหนดร่วมกันในการดำเนินงานเพื่อให้ชุมชนเกิดการพัฒนาไปตามที่คนในชุมชนต้องการ และสามารถแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ร่วมกันได้
หัวใจหลักสำคัญของแผนฯ จะต้องเป็นของชุมชน จัดทำขึ้นโดยคนในชุมชน เป็นการรวมคน ร่วมแรง ร่วมใจ ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมรับผล และร่วมตรวจสอบ จากที่ผ่านมา การพัฒนาของชุมชนถูกกำหนดมาจากภายนอก รับมาจากแผนการพัฒนาของรัฐที่กำหนดมาจากส่วนกลาง แล้วเข้ามาดำเนินงานร่วมกับผู้นำบางส่วน
จนทำให้ชุมชนไม่รู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และไม่สามารถสนองต่อความต้องการที่แท้จริงได้
เป้าหมายอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
น้าแก้ว หรือนายแก้ว สังข์ชู ประธานผู้ประสานงานเครือข่ายแผนชุมชน 4 ภาค บอกว่า การขับเคลื่อนกระบวนการทำงาน แผนชุมชน ไม่ใช่เป้าหมายหลัก เป็นแค่เครื่องมือเพื่อเดินไปสู่การพัฒนา ซึ่งการทำงานร่วมกันเป้าหมาย ก็คือ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข
“ที่ผ่านมาเรามีความสุขแบบพิมพ์เขียว ทำให้ความสุขเหล่านั้น ไม่สามารถกลับไปเชื่อมร้อยกับวิถีชีวิตได้ ความสุขของคนภาคใต้ก็คนภาคใต้ ความสุขของคนภาคเหนือก็ภาคเหนือ ต้องยึดหลักเอาวิถีเป็นตัวตั้ง เอาองค์กรเป็นแกนหลักในการพัฒนา”น้าแก้ว คนทำงานในระดับชุมชน นำเสนอมุมมอง
และเห็นว่า วันนี้ที่ต้องมาทบทวนท่าทีที่ผ่านมา จนได้เห็นอะไรบางอย่าง ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ ต้องมีการยกระดับอีกขั้น ซึ่งก็คือการชักชวนหน่วยงานภาคีต่างๆ มาร่วมกันมาทำงาน จากเมื่อก่อนทำงานแบบแยกส่วนทางความคิด ชุมชนไม่สามารถต่อกรอะไรในระดับนโยบายได้ ถึงเวลาต้องมาทบทวนช่วยกันคิดว่า กระบวนการขับเคลื่อนจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ขณะที่ในระดับนโยบายก็ต้องช่วยคิดด้วยว่า จะทำกันอย่างไรเพื่อให้เกิดรูปธรรมที่เป็นจริงสามารถจับต้องได้
อีกเสียงของหน่วยงานภาคีที่ลงไปทำงานคลุกคลีใกล้ชิดกับชุมชน นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. ) เล่าถึงการขับเคลื่อนแผนชีวิตชุมชนว่า ท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยมีใจ แต่ไม่มีเทคนิควิธีในการทำงาน ซึ่งก็พบว่า ท้องถิ่นที่มีใจทดลองทำส่วนใหญ่ประสบผลสำเร็จ มีแกนนำระดับหมู่บ้านที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ ศักยภาพขีดความสามารถที่สูงขึ้น
ส่วนโจทย์สำคัญการขับเคลื่อนแผนชีวิตชุมชน นางสาวดวงพร เสนอว่า คนที่ทำงานระดับยุทธศาสตร์ต้องมีการคุยกันให้มากกว่านี้ อีกทั้งต้องทำเรื่องแม่ข่ายให้ชัดเจน และต้องไม่ลืมสร้างคน พัฒนาคน ด้วย
หมออำพลแนะกำหนดวิสัยทัศน์-ยุทธศาสตร์ร่วม
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการยกระดับการทำงาน ว่า ขณะที่พี่น้องประชาชนพยายามทำอะไรดีๆ เกิดขึ้นแล้วในชุมชน รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม พยายามสนับสนุน มีผู้คนทำมากมาย วิสาหกิจชุมชน ก็พยายามเดินหน้าไป สกว.ทำวิจัยชุมชน ในบทบาท สช. มีหน้าที่สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ แม้จะเป็นงานที่ซ้ำเสริมอยู่ในชุมชน แต่มีวิธีการรูปแบบต่างๆกัน
“ถึงยุคเปลี่ยนผ่าน องค์กร หน่วยงานที่อยู่ภายนอก ต้องจัดทัพเป็นกองหนุน กำหนดยุทธวิธีร่วม พอได้วิสัยทัศน์ร่วม เราต้องมาสร้างยุทธศาสตร์ร่วม เรื่องดีๆ ดอกไม้งามมีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่า เราจะขยายอย่างไร” นพ.อำพล ให้ความเห็น และมองว่า ยุทธวิธีอาจจะแตกต่างกัน แต่ต้องรู้ว่า ใครทำอย่างไร อันไหนทำร่วมกัน อันไหนทำร่วมกันไม่ได้ จะสนับสนุนกันอย่างไร ไม่เช่นนั้นรบไม่สำเร็จ
ส่วนการแบ่งบทบาทหน้าที่ นพ.อำพล บอกว่า ต้องมีกระบวนการคุยกันเป็นระยะๆ คิดว่า รัฐบาลหากจะสนับสนุนให้เกิดกลไกตรงนี้เกิดขึ้น แกนหลัก ควรจะเป็นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) (พอช.)
สุดท้ายการจัดทำแผนชีวิตชุมชนที่มุ่งเน้นไปสู่การขยายผลการเรียนรู้สู่การปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เลขาธิการ สช. เห็นว่า อาจจะเกิดธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ ทำให้เกิดการเรียนทั้งแผ่นดิน ลบคำปรามาส ที่ว่า คนไทยเก่งเฉพาะตัวทำอะไรร่วมกันไม่ได้ ซึ่งเป็นความท้าทาย เปลี่ยนแปลงจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง ทำงานร่วมกัน ความงามจะเกิดทั้งแผ่นดิน
กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
เมื่อเฟ้นหากรณีศึกษา มีพื้นที่ตัวอย่าง หมู่บ้าน/ชุมชนแห่งการเรียนรู้ให้เห็นอยู่ทุกภาคของประเทศ เช่น กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ตำบลตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท มีการจัดทำแผนชุมชน ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 จากผลการสำรวจพบชาวบ้านในตำบลตลุกส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกันมาก
ข้อมูลดังกล่าวจุดประกายความคิดของนายสมพงษ์ วงศ์ก่อ 1 ใน 5 เสือของขบวนแผนชุมชน ที่ต้องการให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต จึงคิดทำปุ๋ยหมักควบคู่ไปกับการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ผลที่เกิดขึ้นตำบลตลุก มีการลดใช้ปุ๋ยเคมีสารเคมีลงได้ 40% สภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น สภาพน้ำมีสารเคมีน้อยลง มีกุ้ง หอย ปู ปลา กบ เพิ่มปริมาณมากขึ้น จากเดิมที่สูญหายไป อีกทั้งสุขภาพของผู้ใช้ดีขึ้น
บ้านศรีบุญเรือง จ.น่าน กระตุ้นชาวบ้านคิดถึงวัฒนธรรมดั่งเดิม
ส่วนที่บ้านศรีบุญเรือง ตำบลศรีษะเกษ อำเภอน้อย จังหวัดน่าน ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรมทางตะวันตกในปัจจุบันเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้การดำเนินชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไป ขาดความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งกันและกัน เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติชาวบ้านเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม
ผลกระทบที่ตามมาโดยยึดติดกับเงินทอง “เงินคือพระเจ้า” เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้ชุมชนได้หวนคิดถึง ชีวิตแบบดั่งเดิม ผู้ที่จุดประกายความคิด นำโดยกำนันเกษตร ยศบุญเรือง ให้แนวคิดว่า ถ้าหากชาวบ้านดำเนินชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้ขาดการวางแผนในการดำเนินชีวิต
และผลที่เกิดจากการทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง ที่บ้านศรีบุญเรือง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 –ปัจจุบัน เกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจนและเป็นรูปธรรม ชาวบ้านเกิดความรักท้องถิ่นมีความสามัคคี ร่วมไม้ร่วมมือในการพัฒนาหมู่บ้าน อย่างเป็นระบบและเข้มข้น มีการสื่อสารพูดคุยกันถึงวิถีชีวิตการทำมาหากินการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นห่วงเป็นใยในบรรยากาศของความเป็นญาติพี่น้อง นำมาสู่การช่วยเหลือแบ่งปัน พึ่งพากันในหมู่บ้าน
เกิดการกระจายงาน กระจายอำนาจ จากผู้นำหมู่บ้านให้แกนนำคนอื่น ๆ ที่ได้เข้ามามีบทบาทเพื่อหมู่บ้าน ทำให้มีผู้นำเพิ่มมากขึ้น เกิดศูนย์เรียนรู้ชุมชน ทั้งทางด้านการประกอบอาชีพ การจัดสวัสดิการร้านค้าศูนย์สาธิตการตลาด และเงินกองทุนชุมชน ที่มีหมู่บ้านจากพื้นที่อื่น ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลา