แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ธรรมศาสตร์ทำนา…. จากแปลงนาสู่บ้านดิน ต่อยอดความเข้าใจหัวอก ‘กรรมกร’
แม้ว่า ปู่และย่าของ “นุ่น - ผกาพรรณ แป้นแหลม” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอาชีพทำนา และตัวเธอเองก็มีความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตชาวนามาบ้างพอสมควร แต่สาวน้อยผู้นี้กลับไม่เคยมีโอกาสได้ลงไปเหยียบย่ำโคลน ปลูกข้าวกลางท้องทุ่งนาเลยสักครั้งเดียว
จนกระทั่งก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย..ได้ร่วมกิจกรรมวันธรรมศาสตร์ทำนา ณ แปลงนา ภายในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ก่อนจะลุยโคลน หยิบต้นกล้ามาปักดำจริง สิ่งที่เธอเล่าให้ฟังกลับเป็นเพียงเรื่องเล่าถ่ายทอดกันมาจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง “หนูได้ยินได้ฟังเรื่องราวความยากลำบากในการทำนาอยู่บ่อยครั้ง เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการดำนา จนกระทั่งเก็บเกี่ยว เรียกได้ว่า หนักหนาทีเดียว และซ้ำร้ายหากปีไหนราคาข้าวตกต่ำสถานการณ์ก็ยิ่งแย่ลงไปอีก”
บรรยากาศการเรียนรู้ที่เปลี่ยนจากการเรียนทุกอย่างในห้องสี่เหลี่ยม สู่การเรียนรู้ชีวิต พลิกตำราแบบเดิมๆ ที่การศึกษาให้เด็กเรียนเรื่องป่า โดยไม่เคยเข้าป่า เด็กเรียนเรื่องข้าว โดยไม่เคยเห็นทุ่งนา เห็นแต่ข้าวในจาน หรือเด็กเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ โดยไม่เคยไปเก็บข้อมูลขยะ แยกขยะ กำจัดขยะด้วยตนเองเลยนั้น
กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พื้นที่ทุ่งรังสิตกว่า 15 ไร่ ภายในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถูกออกแบบและนำมาพัฒนาพลิกฟื้นจนกลายเป็น ‘แปลงนา’ ให้เหล่านักศึกษาได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนา วิถีชีวิตของคนในสังคมไทย และรู้จักที่จะใช้ชีวิตแบบ ‘ติดดิน’
“แต่เดิมที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เคยเป็นพื้นที่นาทั้งหมด แต่เราได้เข้ามายึดครอง และสร้างเป็นมหาวิทยาลัยแทน ฉะนั้นการสร้างแปลงนาจึงเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อที่ดิน” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าย้อนความให้เห็นความหมายการทำนาในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ดร.สุเมธ ให้ความหมายต่ออีกว่า การสร้างแปลงนา ยังเป็นการระลึกว่า ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ซึ่งต้องยอมรับว่าการที่จะเข้าใจประชาชนได้ดีที่สุดคือเข้าใจความทุกข์ยาก ความลำบากของประชาชน ซึ่งจะทำให้รู้จักมนุษย์ดียิ่งขึ้น เพราะความรักเกิดขึ้นจากสำนึกและความรู้สึก
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสว่า ‘ธรรมะ’ ก็คือ ‘ธรรมชาติ’ วันนี้เราเอามือไปสัมผัสดิน สัมผัสกับพืช ที่เป็นอาหารให้เรารับประทาน สัมผัสกับความเหนื่อยยาก ได้เรียนรู้ว่า ข้าว ก่อนที่จะมาอยู่ในจาน ต้องผ่านความทุกข์ยากซักแค่ไหน และไม่ว่าใครจะอยู่ในฐานะใดล้วนต้องอาศัย ‘ชาวนา’ ทั้งสิ้น”
เช่นเดียวกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เชื่อว่า การเรียนแต่ในห้องสี่เหลี่ยม เรียนแต่ความรู้วิชาการ จะไม่เห็นชีวิตจริงของคนในสังคมไทย กิจกรรม “ธรรมศาสตร์ทำนา” เป็นการรวมพลังนักศึกษาธรรมศาสตร์ผู้มีจิตอาสา ทั้งจากศูนย์ท่าพระจันทร์และศูนย์รังสิตมาลงแขกร่วมกันปลูกข้าวที่นี่
ฤดูกาลทำนาจะยึดวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่เป็นหลัก โดยจะมีการดำนากันในช่วงต้นเทอม และเก็บเกี่ยวกันก่อนปิดเทอม จนได้ผลผลิตทันเวลาพอดิบพอดี ซึ่งข้าวที่ผลิตได้ตั้งแต่ปีที่ 3 ของโครงการ เราจะนำไปหุงเลี้ยงในวันปฐมนิเทศ เพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่
นับได้ว่า เป็นการต้อนรับชาวธรรมศาสตร์รุ่นใหม่....แบบติดดิน
งานนี้ หัวเรือใหญ่ อย่าง “อาจารย์ปริญญา” บอกว่า รสชาติของข้าวที่ได้จากแปลงนาทุ่งรังสิตแห่งนี้ ไม่เหมือนที่ไหน เพราะเป็นข้าวที่ปลูกจากใจของเรา ‘ชาวธรรมศาสตร์’ และเมื่อนักศึกษาน้องใหม่ได้กินข้าวจากแปลงนาแห่งนี้แล้ว ติดดิน นึกถึงประชาชน นึกถึงคนจน ไม่คิดเรียนหนังสือไปเพื่อตนเองอย่างเดียว
“การที่ทุกคนคิดว่า ฉันจะเรียนหนังสือให้เก่ง เรียนให้ได้เกรดเฉลี่ยดีๆ เพื่อจะไปสมัครงานที่ได้เงินเดือนสูงๆ ทำให้ต่างคนต่างทำในส่วนของตน คิดเช่นนี้ ประเทศไทยก็คงต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป เกิดระบบที่ไม่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ” อาจารย์ปริญญา เชื่อมั่นว่า อย่างน้อยๆ การเข้าร่วมกิจกรรมทำนาก็จะทำให้นักศึกษาได้สัมผัสชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม ดูว่า เขามีความเป็นอยู่อย่างไร
“นับเป็นจุดเริ่มที่ทำให้นักศึกษาเห็นตนเอง เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เห็นภาพรวมของคนในสังคม ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษานำความรู้ไปใช้พัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศ จะเปลี่ยนประเทศไทยให้ดีขึ้น ทำให้คนไทยไม่ยากจน”
เมื่อพูดถึง ข้าว อาหารหลักของคนไทย อาจารย์ปริญญายังคงสงสัย และไม่ลืมจะตั้งคำถามแบบให้แง่คิดไว้ว่า เราเคยคิดหรือไม่ว่า ใครปลูกข้าวให้เรากิน แล้วคนที่ปลูกข้าวให้เรากิน ค่าตอบแทนที่เขาได้นั้น เป็นธรรมแล้วหรือไม่…?
“การพัฒนาประเทศโดยใช้รูปแบบการกดค่าจ้างแรงงาน เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และให้สินค้าส่งออกมีราคาต่ำ เพื่อแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ ค่าแรงที่ต่ำไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพของคนใช้แรงงาน นั่นหมายความว่า ข้าวปลาอาหารจะต้องมีราคาต่ำตามไปด้วย ทำให้คนไทยทั้งประเทศยากจนกันหมด ในที่สุด คนไทยก็กลายเป็น ‘กรรมกรของชาวโลก’
ดังนั้น เราต้องคิดใหม่ว่าจะพัฒนาประเทศอย่างไรให้คนไทยมีความสุข และสังคมมีความเป็นธรรม เพราะหากคนยังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไปด้วยกัน และทั้งหมดนี้จะทำให้นักศึกษาเข้าใจคนจนในสังคมมากขึ้น”
ขณะเดียวกัน วิทยากรถ่ายทอดวิชา “ดำนา” จากครูสู่ศิษย์ อย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.บุญหงส์ จงคิด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อมั่นในกิจกรรมทำนาที่จะช่วยให้นักศึกษาที่ต่างคนต่างอยู่ ได้มารวมตัวกัน เพื่อรับรู้ถึงความยากลำบากในการปลูกข้าวหรือผลิตข้าว ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ชาวนาไทยกำลังเผชิญอยู่ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อนักศึกษาจบการศึกษาออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว จะได้นำความรู้นั้นไปช่วย “ชาวนาไทย ช่วยเหลือคนจน”
“ไม่เพียงเท่านี้ ธรรมศาสตร์ทำนา ยังจะช่วยกระตุ้นและโน้มน้าวจิตสำนึกให้นักศึกษาหันมามองคนอื่น เห็นใจคนอื่นมากขึ้นด้วย”รศ.ดร.บุญหงส์ ฝากความหวังทิ้งท้าย
ความพิเศษและใหม่เอี่ยม ที่เพิ่มขึ้นมาในปีนี้ คือ โครงการบ้านดินธรรมศาสตร์ กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ออกแบบ โดย ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง คณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แนวคิดสถาปัตยกรรมบ้านดินที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมข้าว และวิถีชีวิตสังคมเกษตรกรรม ดร.เขียนศักดิ์ บอกว่า ‘บ้านดิน’ ที่จะสร้างขึ้นนี้ ไม่ได้ใช้ดินเป็นวัสดุเพียงอย่างเดียว เพราะจะเป็นการทำลายกายภาพของดิน ดังนั้นจะใช้เหล็กในส่วนของโครงสร้าง ใช้ไม้ไผ่ในส่วนของหลังคา และผนังร่วม เนื่องจากเหล็กเป็นวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ ขณะที่ไม้ไผ่ก็เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้เร็ว นอกจากนี้ยังจะมีการใช้ขวดน้ำพลาสติก มาทำเป็นฐานล่างของโครงสร้างด้วย
“สิ่งต่างๆ เหล่านี้สร้างสรรค์ขึ้นมาจากพื้นฐานเดียวกัน คือแนวคิดการอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ ถือเป็นแนวคิดที่อยู่คู่กับคนไทยและคนเอเชียมาอย่างยาวนาน แม้ว่า จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่โครงการนี้ต้องการตอกย้ำให้เห็นว่า แนวคิดเดิมๆ นั้นยังใช้ได้ดีอยู่ การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ จากรากเหง้าที่เน้นการแบ่งปัน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”
แม้ “บ้านดิน ธรรมศาสตร์” จะยังเป็นเพียงแค่ภาพในแปลนกระดาษ แต่อาจารย์ปริญญา บอกเพิ่มเติมกับเราว่า เตรียมสร้างให้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงและเรียนรู้ชีวิตในสังคมไทยแบบยั่งยืน คาดอาคารดินหลังแรกในศูนย์รังสิตจะทำให้นักศึกษาเข้าใจความยากลำบาก ของ “กรรมกร” มากขึ้น เมื่อนักศึกษาเรียนจบจะได้ช่วยกันคิดหาทางแก้ให้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ น้อยลง
“เมื่อได้ทำนา ได้สร้างบ้านดิน ก็จะรู้ว่าชาวนาเหนื่อยยากแค่ไหน กรรมกรลำบากอย่างไร จะได้เห็นใจคนจน และช่วยกันหาทางออกว่า เพราะเหตุใดประเทศไทยถึงยากจน ทั้งที่แผ่นดินอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก นั่นอาจเป็นเพราะความเหลื่อมล้ำ การกระจายอย่างไม่ทั่วถึงและดีพอ รวมทั้งการอยู่แบบแยกส่วนจึงทำให้เราไม่เห็นภาพเหล่านี้ชัดเจน อย่างน้อยที่สุดการที่นักศึกษาได้ลงมือลงแรงในวันนี้ก็จะเข้าใจ และมองคนอื่นที่จนกว่า อย่างเป็นเพื่อนมนุษย์ที่เสมอภาค เห็นคนจนเท่าเทียมกับตัวเอง ไม่ดูถูกคนอื่น”
กิจกรรมจากแปลงนา สู่บ้านดิน ที่จัดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ของครึ่งวันบ่าย กลางแดดอันแรงกล้า ทำให้ “จูน – พิริยานันท์ ช่อคง” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เหงื่อ และได้พลิกความคิดที่ถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด
"ได้ดำนาลุยโคลนครั้งแรก แม้จะเหนื่อย แต่ก็สนุกที่ได้มาร่วมทำนากับเพื่อนๆ และยิ่งทำให้รู้สึกเห็นใจชาวนาขึ้นมาทันที เรามาทำนากับเพื่อนๆ แม้จะสนุก เราทำแค่ว่า เป็นโครงการปีละครั้ง แต่ชาวนาเขาทำนาตลอด ทำเป็นอาชีพ
การที่เราได้มาสัมผัสเพียงช่วงเวลาเล็กๆน้อยๆ ยังรู้สึกเหนื่อย ทำให้รู้สึกเห็นใจชาวนาอย่างมาก และอยากให้คนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของชาวนาเช่นกัน เพราะหากไม่มีชาวนาเราก็คงไม่มีข้าวกิน”