เปิดเครือข่ายอาสา ช่วยฟื้นชุมชนน้ำท่วม “ปลาจะเพียร”
เลขามูลนิธิสืบฯ แนะหน่วยงานรัฐสร้างแหล่งความรู้ให้ปชช. ติดตาม ประเมินสถานการณ์เอง เลือกระดับความเสียหายได้ ด้าน “บก. a day” แจงโครงการ “ปลาจะเพียร” มุ่งฟื้นฟูชุมชนระยะยาว ช่วยพื้นที่น้ำท่วม-เหลื่อมล้ำทางสังคม
วันที่ 18 ธันวาคม สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ,a day ,ChangFusion ,TARAD.com ,TCDC ,Thaiga และเครือข่ายอาสาสมัคร เปิดตัวโครงการเพื่อสังคม “ปลาจะเพียร” ณ ลานอีเดน ชั้น 2 เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อช่วยเหลือชุมชนผู้ประสบภัย และสังคมที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้สามารถฟื้นฟุชุมชนและตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการออกแบบ พัฒนาและทำการตลาดกับผลิตภัณฑ์ของชุมชน
นายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร a day ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า โครงการปลาจะเพียรเริ่มต้นโดยมุ่งจะช่วยฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ด้วยการให้ชุมชนลุกขึ้นมาสู้ด้วยตนเอง ใช้ทักษะและคามถนัดที่มีผลิตสินค้าออกขาย ซึ่งปลาจะเพียรเข้าไปสนับสนุนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด ขณะนี้มีกลุ่มที่เข้าร่วม 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ชุมชนคลองลัดมะยม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 2.กลุ่ม Try Arm 3.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.)
“การที่ผู้ประสบภัยรอรับการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวในบางครั้งรู้สึกว่าไม่มีศักดิ์ศรี ไม่เกิดความภูมิใจหรือไม่ได้ช่วยเหลือตนเอง โครงการนี้จึงเกิดขึ้นโดยจะใช้รูปแบบเพื่อช่วยเพื่อน สร้างช่องทางให้ผู้ซื้อและผู้ขายเป็นเพื่อนกัน แม้น้ำจะลดสู่ภาวะปกติแล้ว รายได้ก็จะยังคงอยู่เช่นเดียวกับความเป็นเพื่อน จึงเป็นการช่วยเหลือแบบยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการยังเล็งเห็นไปถึงการแก้ปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ในแต่ละชุมชนหรือท้องที่ ให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน”
ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาฯ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวในเวทีเสวนาจากนักสู้น้ำท่วมว่า ความรู้อย่างหนึ่งที่ได้จากน้ำท่วมคราวนี้ คือ น้ำเดินทางจากอยุธยาถึงปทุมธานีใช้เวลาไม่ถึง 3 กิโลเมตรต่อวัน นั่นหมายความว่า เป็นภัยพิบัติที่มองเห็นได้ ติดตาม ประเมินได้และเลือกให้มันเสียหายได้ว่าจะให้กระทบกับเราแค่ไหน แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดมาบอกกับประชาชนว่า ควรจะติดตามสถานการณ์หรือหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อการตัดสินใจได้จากที่ไหน
“อย่างเว็บไซต์จิสด้า (GISTDA) มีการอัพเดตสถานการณ์น้ำทุกวัน แต่ในบ้านเมืองนี้ก็ไม่มีใครสักคนออกมาบอกกับประชาชนให้สามารถประเมินตนเองและพื้นที่ของตนเองได้ ผมคิดว่าน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่คนดำเนินการปล่อยน้ำผิดพลาด คนกั้นน้ำไม่อยู่ คนปล่อยให้น้ำเน่าหรือคนที่นำบิ๊กแบ็กมาลง แต่อยู่ที่ ไม่มีใครทำให้ประชาชนรู้เท่าทันว่าน้ำจะมาแค่ไหน อย่างไร แล้วให้ประชาชนตัดสินใจเอง”
นายศศิน กล่าวต่อว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ และนายกรัฐมนตรี น่าจะออกมาบอกกับประชาชนว่าปีนี้มีน้ำมาก อาจจะกั้นไม่อยู่ แต่เราจะพยายามกั้นอย่างดีที่สุด และน้ำจะค่อยๆ ท่วมเข้าพื้นที่ไหนและอย่างไร แล้วให้ประชาชนติดตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือตั้งเป็นศูนย์ความรู้วิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกันผ่านเครือข่ายหน่วยงานจังหวัด
“ผมว่าความรู้สำคัญ ซึ่งรัฐบาลหรือทุกหน่วยงาน น่าจะช่วยกันผลิตความรู้และแหล่งความรู้ต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องตระหนักตกใจกับภัยธรรมชาติ ได้รู้เท่าทันและเตรียมตัวทันรับมือกับน้ำที่เดินทางช้าที่สุดในโลก คือ 3 กิโลเมตรต่อวัน”
ด้านนายชวน ชูจันทร์ ตัวแทนจากชุมชนคลองลัดมะยม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมในโครงการปลาจะเพียร กล่าวว่า พื้นที่ของชุมชนคลองลัดมะยมเป็นแหล่งเกษตรกรรมเพาะปลูกเครื่องเทศแหล่งใหญ่ของประเทศไทย เช่น ขิง ข่า มะกรูด ตะไคร้ ขมิ้น ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะอุทกภัยแบบเต็มพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ เมื่อชุมชนคลองลัดมะยมเข้าร่วมกับโครงการปลาจะเพียรจึงมีแนวคิดที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์อาหารและให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องเทศแต่ละชนิด อีกทั้งนำเครื่องเทศมาขายในรูปแบบใหม่เพื่อให้สามารถเข้าถึงคนเมืองมากยิ่งขึ้น
ในพื้นที่ชุมชนคลองลัดมะยมถูกน้ำท่วมหนักจนกว่า 2 เมตร ทำให้เครื่องเทศต่างๆ และเมล็ดพันธุ์เสียหายทั้งหมด แต่ขณะนี้น้ำได้แห้งแล้ว จึงเร่งหาเมล็ดพันธุ์จากแหล่งต่างๆ มาปลูกต่อ เพราะเชื่อว่าการรักษาอาชีพดั้งเดิมที่ทำต่อเนื่องกันมา 20 ปี ย่อมดีกว่าขายที่ดินให้เปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรร ทางชุมชนเห็นตรงกันว่าจะสร้างพิพิธภัณฑ์อาหารและเครื่องเทศ เป็นแหล่งความรู้และเพื่อการท่องเที่ยวแบบใหม่ให้เสร็จทันภายในเดือนเมษายน และผลิตชุดเครื่องเทศขายเจาะตลาดคนเมือง ผ่านเครือข่ายปลาจะเพียร ที่จะสามารถลดปัญหาพ่อค้าคนกลางและราคาที่ตกลงมากจากภาวะน้ำท่วม เชื่อว่าจะสร้างรายได้เข้าชุมชนได้พอสมควร”
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.plajapian.org