อดีต คปร. เสนอ “ฟื้นสหกรณ์” สร้างอำนาจต่อรองเกษตรกร
ดร.เพิ่มศักดิ์-บัณฑร นำทีมวิชาการลงพื้นที่ต้นแบบ “บ้านลาด” หนุนข้อเสนอปฏิรูปเกษตร ระบุสหกรณ์ล้มเหลวเพราะรัฐไม่จริงจัง แนะเกษตรพันธะสัญญาในระบบสหกรณ์ พื้นที่ตัวอย่างตีแสกหน้าโครงการแก้หนี้-ประกันและจำนำข้าว
วันที่ 28 มิ.ย. 54 ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ดร.บัณฑร อ่อนดำ อดีตคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และ ดร.ไพสิฐ พาณิชย์กุล ลงพื้นที่ศึกษาดูงานสหกรณ์บ้านลาด จำกัด อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลประกอบข้อเสนอการปฏิรูประบบเกษตรกรรม
นายศิริชัย จันทร์มาก ผู้จัดการสหกรณ์บ้านลาด กล่าวว่าภาพรวมของปัญหาระบบสหกรณ์คือไม่เติบโต มีการรวมตัวจริงแต่สร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรไม่ได้ จุดนี้เองที่บ้านลาดนำมาเป็นหลักในการพัฒนา โดยดึงกลุ่มการเกษตรต่างๆ ที่มีจำนวนมากในระดับตำบลมารวมตัวกันจัดตั้ง วางกฎกติกา ระเบียบร่วมกัน ยึดหลักความพึงพอใจของสมาชิกทุกคนเป็นข้อชี้ขาดการดำเนินการ
“แรกเริ่มที่ทำกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามามีบทบาทมาก แทบมาทำให้ทุกอย่าง ตีกรอบให้หมด แล้วก็ทิ้งไป ทำงานให้งานสหกรณ์ไม่พัฒนา จริงๆ เราต้องการพี่เลี้ยงไม่ใช่ผู้แสดงนำ ทำให้สหกรณ์เป็นสหกรณ์แบบไทยๆ ที่เดินไปไม่ได้เหมือนกันหมด”
ผู้จัดการสหกรณ์บ้านลาด กล่าวต่อไปว่า ปัญหาจริงๆคือการดูแลเรื่องตลาด และการสร้างอำนาจการต่อรองให้สมาชิกซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยทั้งหมด ทำให้ต้องปรับระบบจัดการใหม่ไม่เน้นพึ่งพิงราชการมาก แต่หันมาสร้างความเชื่อมั่นทำให้สมาชิกศรัทธาและยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยเริ่มต้นจากการเป็นตัวกลางในการซื้อขายผลผลิตป้องกันการเอาเปรียบจากพ่อ ค้าคนกลาง การให้เครดิตเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถเพื่อการเกษตร ฯลฯ ปัจจุบันขยายเป็นธุรกิจอื่นควบคู่ เช่น ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขายในราคาถูก มีตลาดกลางให้สมาชิกนำผลผลิตมาจำหน่ายได้ เป็นต้น
“สมาชิกบางคนกู้แล้วไม่มีความสามารถใช้คืน สหกรณ์มีโครงการคลินิกคลายทุกข์ เข้ามาพูดคุยกันว่ามีความจำเป็นอะไร เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ 15 ปี พักหนี้ให้ เป็นวิธีการที่ทำให้เขาไม่เอาแต่หนี ซึ่งแตกต่างกับการรับซื้อหนี้ตามโครงการกองทุนฟื้นฟูของรัฐบาล ที่ทำให้รากหญ้าเสียวินัยทางการเงินอย่างร้ายแรง”
นายศิริชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีธุรกิจแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นโรงสีของสหกรณ์ และการรวมรวมข้าวเปลือก ซึ่งข้อนี้เป็นแนวทางที่ชัดเจนและแก้ปัญหาเกษตรกรได้จริงกว่าการจำนำหรือ ประกันซึ่งพรรคการเมืองใช้หาเสียงด้วยซ้ำ เนื่องจาก หลักการของสหกรณ์คือการซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกมารวมไว้ โดยให้ราคาอ้างอิงตามจริง มีสหกรณ์เป็นผู้จัดการขายต่อให้พ่อค้าคนกลาง อำนาจการต่อรองย่อมมีมากกว่า แต่หากไม่ซื้อก็มีโรงสีไว้รองรับขายเองในนามสหกรณ์
ทั้งนี้ สหกรณ์บ้านลาด จำกัด เริ่มจัดตั้งในปี 2483 จากการรวมตัวของสหกรณ์หาทุน 28 แห่ง และในปี 2495 เพิ่มอีก 4 แห่ง ก่อนจดทะเบียนควบรวมกับสหกรณ์ที่ดินบ้านลาด ในปี 2518 ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 7,439 คน มีทุนดำเนินงานกว่า 874 ล้านบาท กำไรสุทธิ 16.8 ล้าน (ปิดรอบบัญชีเมื่อเดือน มี.ค. ทีผ่านมา) ล่าสุดได้ดำเนินธุรกิจโครงการปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารเคมีเพื่อการส่งออก โดยร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นดำเนินการตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป ตลอดจนการส่งออก
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า รูปธรรมจากบ้านลาดสะท้อนให้เห็นว่าทิศทางการพัฒนาเกษตรกรรมคือการรวมตัว ทำเกษตรครบวงจร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอเลี้ยงชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ยิ่งรวมตัวกันทำเป็นธุรกิจดึงภาคส่วนอื่นมาร่วมได้จะยิ่งสร้างมูลค่าพร้อมๆ กับการเรียนรู้ในทางปฏิบัติ ซึ่งส่วนตัวมองว่าสหกรณ์คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดการร่วมคิดร่วมทำ
“หัวใจสำคัญของสหกรณ์จริงๆ คือความร่วมมือไม่ใช่ระเบียบ ระบบแบบนี้จะทำให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากการขาดทุน การถูกเอารัดเอาเปรียบ ความล้มเหลวในการทำการเกษตร”
ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่ที่ผ่านมาดูเหมือนระบบสหกรณ์ในไทยจะไม่ค่อยเติบโต ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ที่ล้มเหลวเพราะรัฐไม่ได้ส่งเสริมจริง ปล่อยให้เป็นองค์กรที่บริหารเพื่อหวังผลประโยชน์เป็นตัวเงินที่เก็บจาก สมาชิกแล้วนำมาปล่อยกู้เท่านั้น ยกตัวอย่างเกษตรกรขายข้าวไม่ได้ ถูกกดราคาก็ไม่เข้าไปช่วย ทั้งที่การสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรทัดเทียมภาคการผลิตอื่นคือวิธีที่ สุดในหลักของสหกรณ์อยู่แล้ว
“หากถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ระบบสหกรณ์บ้านเราจะฟื้นฟูขึ้นมา เป็นไปได้เพียงแต่พื้นที่รูปธรรมต้องขยับไปช่วยที่อื่นที่ที่ไม่ประสบความ สำเร็จ ซึ่งมียังมีอีกมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำได้ไม่ยาก ขณะเดียวกันบทบาทของกรมสหกรณ์ที่ควบคุมก็ต้องเลิก มาเป็นเพียงพี่เลี้ยง วิจันพัฒนาเพื่อยกระดับพอ”
นายบัณฑร กล่าวว่า ระบบเกษตรของไทยหลีกเลี่ยงการเป็นเกษตรพันธะสัญญาไม่ได้ แม้หลายคนมองว่าเกษตรกรจะถูกเอาเปรียบเหมือนเป็นแค่ลูกจ้างการทางการผลิต แต่ใช่ว่าเกษตรลักษณะดังกล่าวจะไม่มีประโยชน์ เพราะอย่างน้อยชาวนาชาวไร่จะมีพี่เลี้ยงที่คอยส่งเสริมปัจจัยเทคโนโลยีการ ผลิตใหม่ๆ และไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด เพียงแต่การกุมฐานผลิตโดยนายทุนกำไรส่วนใหญ่จะตกในมือบริษัท เกษตรกรรายย่อยเสียเปรียบ จึงเห็นว่าหากปรับระบบเกษตรพันธะสัญญาให้ดำเนินการโดยสหกรณ์แทน นอกจากจะเกิดการรวมตัวที่เข้มแข็งแล้ว กำไรสุดท้ายจะตกถึงมือเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย