24 ก.พ. คนท่าศาลา เล็งจัดเวทีลงมติเอา-ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
จี้รัฐพูดความจริง หวั่นซ้ำรอยแม่เมาะ มาบตาพุด เตรียมส่งข้อมูลร้อง “กก.ชุดอานันท์” ให้รัฐทบทวนแผนเซาร์เทิร์นซีบอร์ด ด้าน “เพิ่มศักดิ์” รับลูกเตรียมเสนอเข้าชุดใหญ่ต้น มี.ค.นี้
เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิชาญ เชาวลิต อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะที่ปรึกษาเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา เปิด เผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาให้ข้อมูลแบบผิดๆ กับชาวบ้านหลายหมู่บ้านในตำบลท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจะเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าความร้อนร่วม 800 เมกกะวัตต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน อันเป็นไปตามแผนพัฒนาภาคใต้หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ด โดยเจ้าหน้าของรัฐระบุว่า เชื้อเพลิงที่จะใช้นี้ได้มาจากถ่านหินสะอาดและรัฐจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนภาคใต้มีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียง
“รัฐควรพูดความจริงกับประชาชน การใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าจะสะอาดได้อย่างไร เพราะไม่มีทางที่จะทำให้ถ่านหินสะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ โดยเห็นได้จากผลร้ายเกิดขึ้นแล้วที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ดังนั้น รัฐต้องบอกประชาชนด้วยว่า โรงไฟฟ้าจะสร้างขึ้นครั้งนี้เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น”
ที่ปรึกษาเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา กล่าวถึงการพัฒนาให้ภาคใต้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ว่า พวกเราไม่อยากประสบปัญหาเหมือนกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ขณะนี้ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งนี้จะได้มีการเสนอไปยังคณะกรรมการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เพื่อให้พิจารณาเสนอให้รัฐทบทวนเรื่องดังกล่าวแล้ว
“เราไม่ไว้ใจกระบวนการของรัฐ เพราะทราบว่าขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมการก่อสร้าง กลับไม่มีกระบวนการศึกษาผลกระทบจากโครงการที่ควรจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 66 และ 67 แต่เริ่มมีกระบวนการของผู้นำท้องถิ่นบางหมู่บ้านรวบรวมโฉนดของชาวบ้านเตรียม ขายให้กับนายหน้าเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่า รัฐกำลังหมกเม็ดกระบวนการโดยไม่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ทั้งที่มีข้อมูลว่ารัฐจะต้องก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ดังนั้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นี้ ทางเครือข่ายฯ จะจัดเวทีประชาคมเพื่อระดมคนทั่วศาลามาตัดสินใจร่วมกันว่า จะเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ คาดว่าคนจะมาร่วมเป็นหมื่นคน เพราะตอนนี้รัฐไม่มีเวทีให้ประชาชนตัดสินใจ แต่กลับใช้กระบวนการสร้างความแตกแยกในชุมชนและให้ข้อมูลแบบผิดๆ แทน”
ขณะที่ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อนุกรรมการที่ดิน ฐานทรัพยากรและแหล่งน้ำ ในคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า หลังจากที่เราได้ลงพื้นที่พบกับตัวแทนชาวบ้าน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราชแล้ว ได้รับเสียงสะท้อนว่า ชาวบ้านไม่มีโอกาสร่วมตัดสินใจในผลกระทบต่อชุมชน ต่อการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นที่กำลังจะเปลี่ยนไป แต่รัฐกลับรวมศูนย์การตัดสินใจโดยที่ไม่ถามคนในท้องถิ่น ดังนั้นต้นเดือนมีนาคมนี้คณะอนุกรรมการฯ จึงเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการปฏิรูปชุดใหญ่ถึงแนวทางการพัฒนาประเทศอย่าง ยั่งยืนที่จะแนวทางแก้วิกฤตประเทศที่ไม่ใช่แต่เพียงการแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน เท่านั้น ส่วนจะมีแนวทางอย่างไรนั้นเรื่องนี้จะเป็นการคิดร่วมกันภายในกรรมการชุดใหญ่ และจะเสนอต่อสังคมต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาท์เทิร์นซีบอร์ด โดยมีทั้งหมด 14 โครงการที่กำลังเตรียมการก่อสร้าง อาทิ โครงการสำรวจ ขุดเจาะ และผลิตปิโตรเลียมของบริษัทเชฟรอน โดยขณะนี้มีกระบวนการว่าจ้างให้บริษัทอีอาร์เอ็ม สยามจำกัด เป็นที่ปรึกษาและเตรียมการก่อสร้าง โดยจะใช้พื้นที่ในทะเลอ่าวไทยกว่า 36,000 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีโครงการสำรวจ ขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม ของกลุ่มบริษัทเพิร์ลออย ประเทศไทย ที่ตอนนี้ได้ว่าจ้าง บริษัทอีอาร์เอ็ม สยามจำกัด เป็นที่ปรึกษาและสำรวจพื้นที่ทะเลติดตั้งแท่นเจาะและอุปกรณ์การขุดเจาะ การก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรม โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 4,000 เมกกะวัตต์ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมขนาด 800 เมกกะวัตต์ เป็นต้น