คสป.เปิดเวทีประชาธิปไตยชุมชน ฟังชาวบ้านตอบโจทย์ ปฏิรูปประเทศกันอย่างไร
ครูสน รูปสูง เผยปัญหาที่ถูกสะท้อนออกมามากสุด หนีไม่พ้นความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปที่ดิน การจัดทรัพยากรในท้องถิ่น ผลกระทบจากอุตสาหกรรม และปัญหาหนี้สิน ยันทั้งหมดเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ต้องแก้ไขที่ตรงจุด
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เปิดเวทีประชาธิปไตยชุมชน ณ โรงแรมสตาร์ โฮเต็ล จ.ระยอง เป็นเวทีในการเผยแพร่แนวคิดของการปฏิรูปประเทศไทยไปสู่ระดับชุมชนมากขึ้น และให้นำไปสานต่อในระดับหมู่บ้าน เพื่อสะท้อนปัญหาขึ้นมา ให้เกิดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) และกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ในฐานะรองประธานกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป กล่าวถึงเวทีประชาธิปไตยชุมชน ที่จังหวัดระยองนี้จัดขึ้นเป็นจังหวัดที่ 3 แล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ จัดขึ้นที่จังหวัดระนอง และอำนาจเจริญมาแล้ว ซึ่งเนื้อหาสาระเป็นการพูดคุยกันในหัวข้อ ‘วิกฤตประเทศไทยทำไมต้องปฏิรูป’ และกระบวนการประชาธิปไตยชุมชน รวมทั้งจะมีการอบรมเกี่ยวกับรายละเอียดการทำงาน และมีการลงนาม (MOU) ระหว่างส่วนองค์กรท้องถิ่น กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ว่าต่อไปเราจะใช้กระบวนการประชาธิปไตยชุมชนสู่การพัฒนาชุมชนหรือปฏิรูปจังหวัด และประเทศของเรา โดยมีผู้ใหญ่บ้าน ปลัดจังหวัดระยอง และองค์กรให้การสนับสนุนสภาพัฒนาการเมืองมาลงนามร่วมกัน
“นับว่าเป็นภาพที่ดีมาก การลงนามร่วมกันครั้งนี้ เป็นเหมือนการจุดประกายร่วมกันทุกภาคส่วนที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นความหมายของการปฏิรูปประเทศไทยนั่นเอง”
กรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า ประชาธิปไตยชุมชน เป็นกระบวนการเรียนรู้ปัญหาของชุมชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้านเป็นหลัก และการไปจัดเวทีระดับชุมชน เพื่อให้นายอำเภอ ให้ท้องถิ่น ได้เข้าใจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะต้องเร่งนำปัญหาไปแก้ไขโดยด่วน ปัญหาใดที่เกินจะรับมือ ก็จะต้องนำเสนอขึ้นไปสู่ระดับจังหวัด
“ กระบวนการประชาธิปไตยชุมชน ถือว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการปฏิรูป หากเราต้องการปฏิรูปประเทศ ต้องเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงความคิดคน ถ้าเปลี่ยนความคิดใครไม่สำเร็จก็ไม่มีหวังจะเปลี่ยนประเทศนี้ได้ น้ำหนักจึงอยู่ที่กระบวนการเรียนรู้แบบปฏิบัติจริง ไม่ใช่เรียนรู้แบบตำราท่องจำ เราต้องเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้าน และยึดชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง”
นายสน กล่าวอีกว่า เราตั้งคำถามในเวทีการประชุมทุกครั้งว่า ‘วิกฤตประเทศไทย ทำไมต้องปฏิรูป’ เพื่อชาวบ้านแต่ละจังหวัดได้ร่วมวิเคราะห์สังคมไทย และเรานำข้อมูลวิกฤตสังคมต่างๆ มานำเสนอชาวบ้าน เช่นข้อมูลจาก TDRI ทำให้ชาวบ้านได้มองเห็นภาพความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ-ทางทรัพย์สิน และการขาดโอกาสในหลายๆ ด้าน ทำให้ชาวบ้านก็ได้คำตอบว่า แท้จริงแล้วพวกเขาคือพลังสำคัญที่จะปฏิรูปประเทศ
สำหรับการจัดเวทีประชาธิปไตยชุมชนนั้น นายสน กล่าวว่า ทำให้ได้ทราบถึงปัญหาที่สะท้อนมาจากประชาชน เพื่อตอบโจทย์ที่ว่า เราจะปฏิรูปประเทศกันอย่างไร ซึ่งปัญหาที่ถูกสะท้อนออกมามากที่สุดหนีไม่พ้นปัญหาความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปที่ดิน การจัดทรัพยากรในท้องถิ่น ผลกระทบจากอุตสาหกรรม และปัญหาหนี้สิน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงต้องเกิดเวทีประชาธิปไตยชุมชนขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อต้องการรับรู้ปัญหาที่แท้จริงจากประชาชน และนำไปสู่การแก้ไขที่ตรงจุดที่สุด
นายสน กล่าวถึงการจัดโครงการนำร่องทั่วประเทศ เกี่ยวกับหลักการของประชาธิปไตยชุมชน ว่า ได้จัดโครงการนำร่องทั่วประเทศมา 2 ปีแล้ว เช่นในภาคอีสานจัดทำจังหวัดละ 6 ตำบล รวมทั้งสิ้น 11 ตำบล นับว่าเป็นเวทีที่ประชาชนให้ความสนใจ และเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก จากนี้จะจัดทำจังหวัดนำร่องทั้งหมด 5 จังหวัด ได้แก่ ระยอง อำนาจเจริญ สมุทรสงคราม เพชรบูรณ์ และระนอง เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบ ให้สามารถเดินหน้าทำงานได้เร็วขึ้น
สำหรับกระบวนการในเวทีประชาธิปไตยชุมชน จะมีวิทยากรอบรมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การปฏิรูป เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้านในทุกจังหวัด จากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ของการทำงาน และการตั้งแกนนำมาบริหารงานชุมชน เพื่อให้นำไปสานต่อกันเองในระดับหมู่บ้าน ซึ่งเวทีประชาธิปไตยชุมชน ในครั้งต่อไปจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์